จากเจดีย์แรกของวันนี้ คือชเวสิกอง ที่สร้างโดยพระเจ้าอโนรธา กษัตริย์พระองค์แรกของพุกาม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ของอาณาจักร การเดินทางโดยรถม้าของเรา พาเราค่อยๆซึมซับกับเหล่าเจดีย์ วิหาร ที่สร้างโดยกษัตริย์องค์ต่อๆมา ไม่ว่าจะเป็น อนันดาพยา ตะบินยูพยา ติโลมินโล ซึ่งเวลาที่ผ่านมา ความเจริญของอาณาจักรพุกามได้เพิ่มมากขึ้น พร้อมๆกับความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ค่อยๆฝั่งรากลึกในจิตวิญญาณของผู้คนก็เพิ่มมากขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป จึงก่อให้เกิดบรรดาเจดีย์และวิหารที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ทุกสิ่งในโลกนี้ มีเกิดย่อมมีดับ มีความเจริญย่อมมีความเสื่อม และแล้วความเสื่อมของอาณาจักรพุกามก็เดินทางมาถึง เช่นเดียวกับเวลาในการท่องอาณาจักรพุกามของเราก็ใกล้สิ้นสุดลง

ในเวลานี้เรามายืนอยู่เบื้องหน้าของมิงกะลาเจดีย์ (Mingalazedi) เจดีย์ที่สร้างในสมัยพระเจ้านรสีหปติ (Narathihapate) กษัตริย์องค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์พุกาม โดยสร้างเลียนแบบชเวสิกอง เจดีย์องค์แรกแห่งอาณาจักรพุกาม เพื่อหวังให้พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ทัดเทียมพระเจ้าอโนรธา แต่ไม่เป็นตามที่พระองค์หวัง เพราะมิงกะลาเจดีย์ซึ่งมีความหมายว่า เจดีย์แห่งสิริมงคลนั้นกลับเป็นเจดีย์องค์สุดท้ายก่อนถึงกาลล่มสลายของอาณาจักรพุกาม จากการบุกเข้าตีของกองทัพกุไบลข่านแห่งมองโกล ในปีพ.ศ.1826


ระยะเวลา 243 ปีอันยิ่งใหญ่ของอาณาจักรพุกามได้ยุติลง ในเวลานี้ผมแหงนหน้ามองมิงกาลาเจดีย์ ซึ่งแม้รูปทรงจะไม่ต่างจากชเวสิกอง แต่ความงดงามนั้นต่างกันจนเทียบกันไม่ได้ ซึ่งนั่นคือความต่างกันระหว่างคำว่า “การเริ่มต้น” กับ “การสิ้นสุด” แต่แม้ทั้งสองคำนี้จะมีความหมายที่ต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองต่างมีเหมือนกัน นั่นคือ การเริ่มต้น กับ การสิ้นสุดย่อมเกิดขึ้นกับทุกสิ่งที่ยืนอยู่ในมิติของเวลา


พระอาทิตย์จวนลับขอบฟ้าแล้ว โกเล็งบอกเราว่าจะพาไปชมพระอาทิตย์ตกท่ามกลางทะเลเจดีย์ แต่จุดที่จะพาเราไปนั้นไม่ใช่ชเวซานดอว์ เจดีย์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการขึ้นไปชมพระอาทิตย์ตก จนแทบไม่เหลือที่ยืนบนเจดีย์ แต่เป็นวิหารเก่าที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก อีกทั้งยังไม่ปรากฏชื่อบนแผนที่เมืองพุกาม


ซันดาวิ่งส่งเสียงกุบกับผ่านมวลหมู่เจดีย์ในเขตเมืองเก่าพุกาม ที่ยังคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยว ผ่านประตูธาราบา และอนันดาพยา แล้วเลี้ยวขวาผ่านเจดีย์และวิหารน้อยใหญ่อีกมากมาย สู่เส้นทางที่โอบล้อมด้วยทุ่งหญ้า แล้วเสียงกุบกับของซันดาก็ดังช้าลง ช้าลง จนหยุดนิ่ง


โกเล็งบอกให้เราลงจากรถม้า และพาเดินผ่านทุ่งหญ้า ไปยังวิหารแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอย่างโดดเดี่ยว นั้นคือ โอช่องจี จุดชมพระอาทิตย์ตกกลางทะเลเจดีย์ที่โกเล็งบอกว่าดีที่สุดและเงียบสงบที่สุดในพุกาม

เราเดินเข้าไปในวิหาร สู่ช่องบันไดที่แสงส่องไม่ถึง ในเวลานี้มีเพียงความระมัดระวังเท่านั้น ที่จะพาเราก้าวไปตามขั้นบันได ที่วนรอบวิหาร เพื่อไปยังจุดสูงสุดเบื้องบนได้อย่างปลอดภัย ซึ่งในเวลานี้ บนวิหารโอช่องจีมีชายชาวตะวันตกเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่กำลังนั่งบันทึกเรื่องราวการเดินทางลงในสมุดบันทึก ก่อนที่แสงสุดท้ายของวันจะสิ้นสุดลง

ผมกวาดสายตามองมวลหมู่เจดีย์ที่รายล้อม เหล่าเจดีย์กำลังถูกอาบด้วยแสงสีส้มของพระอาทิตย์ที่กำลังลาลับจากขอบฟ้า หากหนึ่งเจดีย์แทนหนึ่งแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนา อาณาจักรพุกามในอดีตคงเอ่อล้นไปด้วยแรงศรัทธาจนเกินกว่าจะนับได้


อะไรกันนะที่เป็นแรงผลักดันให้ชาวพุกาม สร้างเจดีย์นับพัน นับหมื่นองค์ จนเต็มทุ่งกว้าง และกลายเป็นทะเลเจดีย์ ที่คนทั่วโลกใฝ่ฝันจะมาเห็น

แม้ในวันนี้ อาณาจักรพุกามจะเดินทางข้ามพ้นคำว่า “การสิ้นสุด” มากว่า 7 ร้อยปี หากแต่ตัวแทนแห่งแรงศรัทธานั้นยังคงอยู่ และแม้ในวันนี้ผมจะได้สัมผัสและรู้จักกับเจดีย์เกินกว่าที่คิดไว้ แต่นั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของเจดีย์ที่เคยมีกว่า 4 พันองค์ หรือบางทีอาจจะร่วมหมื่นองค์ที่เคยเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้...เมื่อเกือบพันปีที่แล้ว

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 10.28 น.

ความคิดเห็น