มิวมิวยืนส่งยิ้มอยู่หน้าโรงแรม เพื่อรับเราไปยัง 3 อดีตราชธานีที่รายรอบมัณฑะเลย์ โดยประกอบด้วย มณีปุระ รัตนปุระ และอมรปุระ ซึ่งล้วนเป็นอดีตราชธานีในสมัยราชวงศ์คองบองทั้งสิ้น ก่อนที่พระเจ้ามินดง (Mindon) จะทรงย้ายราชธานีมายังมัณฑะเลย์ ในปีพ.ศ.2400 ซึ่งถือเป็นราชธานีสุดท้ายของการปกครองในระบอบกษัตริย์ในประเทศพม่า

pkqe0sd9elzh

จากตัวเมืองมัณฑะเลย์ มิวมิวขับรถสองแถวคันเล็กไปตามเส้นทางลงใต้ เพื่อไปยังมณีปุระ (Munipura) หรือ สะกาย (Sagaing) เป็นที่แรก เนื่องจากต้องเดินขึ้นเขา ซึ่งการเดินยามเช้าที่มีแดดอ่อนๆ น่าจะดีกว่าการเดินตอนกลางวันที่แสงแดดกำลังร้อนแรง และในเวลาที่รถเริ่มเคลื่อนตัว ผมก็เริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ผมเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนเริ่มจะเป็นไข้ จนอยากกลับโรงแรม เพื่อไปเอายาลดไข้ที่นำมาด้วย แต่ผมก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น เพราะความเกรงใจที่ต้องให้มิวมิวขับรถย้อนกลับ บวกกับความอยากเที่ยวที่มีมากกว่าความใส่ใจในสุขภาพของตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิด

0sd0owr12tps

แม้จะเป็นรถสองแถวที่ค่อนข้างเก่า แต่ความเร็วที่มิวมิวใช้นั้นน่ากลัวมิใช่น้อย สำหรับการจราจรของเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของพม่า โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่ต่างคน ต่างใช้ความเร็ว จนต่างลืมว่าพื้นที่ถนนนั้น ไม่สามารถขยายได้ตามความต้องการของคนขับแต่ละคน

zhxr7oxytc2d

พ้นจากเขตตัวเมือง ความคับคั่งของรถราก็เปลี่ยนเป็นความร่มรื่นของแมกไม้สองข้างทาง พร้อมด้วยการปรากฏของสะพานขนาดใหญ่นามว่าสะพานอังวะ ที่ทอดตัวพาเราข้ามแม่น้ำอิรวดี โดยมีเนินเขาสะกายตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม

xgc7np4gccok

เหล่าเจดีย์ตั้งกระจายไปตามพื้นที่ของเนินเขาสะกายที่ขนานไปกับแม่น้ำอิรวดี แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า เนินเขาเตี้ยๆที่ไม่ได้ใหญ่โตแห่งนี้ จะมีวัดตั้งอยู่ถึง 600 แห่ง จนทำให้เมืองสะกายถือเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันของประเทศพม่า และด้วยความกว้างใหญ่ของแม่น้ำอิรวดี จึงทำให้สายตาของผม มีเวลามากพอที่จะค่อยๆเก็บภาพความอลังการของเนินเขาสะกายแห่งนี้ไว้ ก่อนที่รถจะพาข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของสายน้ำ

1yiex4pnljw7

ทันทีที่เราข้ามสู่อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำอิรวดี ก็เท่ากับว่า เราได้เดินทางออกนอกเขตมัณฑะเลย์ และเข้าสู่เขตสะกาย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีชื่อว่า มณีปุระ โดยเป็นเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของราชวงศ์คองบอง ต่อจากเมืองชเวโบ (Shwebo) หรือ รัตนสิงห์ (Ratana Singha) ที่พระเจ้าอลองพยา ทรงตั้งขึ้นเป็นราชธานีแห่งแรกของราชวงศ์

88mnmtzn28eg

แต่เมืองมณีปุระก็เป็นราชธานีอยู่แค่เพียง 4 ปี คือจากปีพ.ศ.2303 ถึง 2307 ในสมัยพระเจ้านองดอว์จี (Naungdawgyi) กษัตริย์องค์ต่อมาคือพระเจ้ามังระ ก็ทรงย้ายราชธานีมาที่กรุงรัตนปุระอังวะ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของสายน้ำ แต่หากจะสืบประวัติให้ลึกกว่านั้น จะพบว่าเมืองสะกายแห่งนี้มีประวัติยาวนานตั้งแต่ยุคอาณาจักรพุกาม โดยเคยเป็นราชธานีของรัฐฉาน ซึ่งในสมัยนั้นเป็นรัฐอิสระ แต่ไม่นานก็ตกอยู่ใต้การปกครองของอาณาจักรพุกาม ที่ขยายอาณาจักร จนกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในยุคนั้น

ostm6l2m616x

มิวมิวจอดรถสองแถวที่หน้าสิงโตตัวโต โดยมีความแปลกกว่าที่อื่นๆ เพราะธรรมดาชาวพม่านิยมสร้างไว้เป็นคู่ที่ทางเข้าวัด แต่ที่นี่กลับสร้างไว้เพียงตัวเดียว

มิวมิวบอกว่านี้เป็นทางขึ้นไปยังยอดเขาสะกาย โดยใช้เวลาเดินขึ้น ลง และชมวัดต่างๆอย่างสบายๆไม่น่าเกิน 3 ชั่วโมง ฟังแล้วเหมือนจะสบาย แต่เมื่อเราเดินผ่านสิงโตตัวโต เราก็แทบจะถอดใจ เพราะสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้า คือขั้นบันไดที่ทอดตัวขึ้นเขา โดยมองไม่เห็นปลายทาง

ozvfyqaxh945

ธรรมดาการเดินขึ้นเขา ผมมักจะเป็นฝ่ายเดินรอแท่ง แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะอาการไข้ของผมเริ่มก่อตัวชัดมากขึ้น ทำให้เรี่ยวแรงไม่รู้หายไปไหนหมด ในครั้งนี้จึงไม่มีใครนำใคร ไม่มีใครตามใคร เพราะเราต่างเดินแบบเหนื่อยๆไปตามขั้นบันไดที่ยังคงมองไม่เห็นปลายทาง

7zt3088u3eew

เราเดินไป พักไปตามชานพัก ระหว่างทางนั้นมีวัดเล็ก วัดน้อยหลายแห่ง แต่ละแห่งมีทางเดินเชื่อมถึงกันหมด แต่ส่วนใหญ่ต้องเดินแยกออกไปค่อนข้างไกล ในที่สุดเราก็ตัดสินใจแวะพักที่วัดเล็กๆแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีทางแยกไม่ไกลเกินไปนัก นอกจากจะได้นมัสการการพระประธาน ซึ่งมีลักษณะคล้ายพระมหามัยมุนี แต่มีสีขาว และได้ทำบุญแล้ว เรายังถือโอกาสพักเหนื่อยไปในตัว

26j3oe9h2f52

hm96vlhntvyj

คิดแล้วก็เหมือนเป็นเคราะห์กรรมที่มาเป็นไข้ในระหว่างเดินทาง แถมยังเป็นในวันที่ต้องเดินขึ้นเขาอีก แต่ในเมื่อขั้นบันไดยังทอดยาว ปลายทางยังไม่ปรากฏ ผมจึงพักแค่เพียงหายเหนื่อย แล้วชวนแท่งมุ่งหน้าก้าวเดินกันต่อไป แต่ไม่นานก็หยุดแวะที่วัดอีกแห่งหนึ่ง ที่เจดีย์สีทองกำลังต้องแสงตะวัน จนชวนให้เดินเข้าไปชมความงาม 

ngio3dl07t8g

ณ ตำแหน่งนี้ นอกจากเหล่าเจดีย์ ที่กระจายจนทั่วเนินเขาสะกายแล้ว ยังสามารถเห็นราชมณีสุเล (Rajamanisula) ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองสะกาย โดยมีลักษณะเป็นรูปโดม ที่มีความสูงถึง 46 เมตร

ts76kdzmps72

grufnj496i2c

แล้วขั้นบันไดก็สิ้นสุดลงเมื่อเราเดินทางมาถึง วัดซูนอูพอนยาชิน (Soon Oo Pon Nya Shin) เราเดินเข้าไปในวิหารหลังใหญ่ ซึ่งนอกจากพระประธานแล้ว ภายในวิหารยังมีตู้รับบริจาคจำนวนหลายตู้ สงสัยจะคล้ายๆกับบ้านเราคือ ตู้นี้บริจาคค่าไฟฟ้า ตู้นี้ค่าน้ำ ตู้นี้เป็นทุนการศึกษาสำหรับนักเรียน ตู้นี้ชำระหนี้สงฆ์ แต่ที่น่าสังเกตคือ เงินที่บริจาคในแต่ละตู้นั้น ส่วนใหญ่เป็นธนบัตรมูลค่า 10 จ๊าตบ้าง 20 จ๊าตบ้าง ซึ่งเมื่อเทียบมูลค่าเป็นเงินไทยแล้ว ธนบัตรแต่ละใบนั้นมีค่าไม่ถึง 1 บาท แต่มูลค่าทางการเงินนั้น ไม่สามารถเทียบมูลค่าทางศรัทธาได้ เพราะแม้มูลค่าเงินจะน้อย แต่ตู้บริจาคแต่ละตู้ก็ล้วนอัดแน่นไปด้วยเงินบริจาคจนเต็มทุกตู้

vihdvfuxo0e5

gi8ljonxzo78


เนื่องจากที่ตำแหน่งที่ตั้งของวัดซูนอูพอนยาชิน ตั้งอยู่บนยอดเขางาพา (Nga pha) โดยเป็น 1 ใน 37 ยอดเขาแห่งแนวเทือกเขาสะกาย จึงทำให้มองเห็นเจดีย์น้อยใหญ่ได้โดยรอบ อีกทั้งยังเป็นวัดโบราณตั้งแต่ยุคที่เมืองสะกายยังเป็นราชธานีของรัฐฉาน ในปีพ.ศ. 1855 ล่วงสู่ปัจจุบันวัดแห่งนี้จึงมีอายุร่วม 700 ปี เวลาที่ผ่านมา ศรัทธาจึงสั่งสมมากขึ้น จนในวันนี้ ภายในวัดจึงมากไปด้วยพุทธศาสนิกชน จนทำให้เราแปลกใจว่า ในเมื่อภายในวัดมีพุทธศาสนิกชนมากขนาดนี้ แต่ทำไมตลอดเส้นทางที่เราเดินขึ้นมานั้น เราจึงไม่ได้สวนทางกับใครสักคน ยกเว้นพระสงฆ์เพียงไม่กี่รูป แล้วในที่สุด เราก็ได้พบคำตอบว่า ด้านหลังวัดมีถนนและมีรถจอดอยู่เต็ม !

35qtg2d79vma


so9ro522ytb2

แม้จะรู้แล้วว่า รถสามารถขึ้นยอดเขาสะกายได้ และแม้อาการไข้จะหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่ในเมื่อทางเดินยังคงทอดยาวไปยังเหล่าเจดีย์ที่อยู่ไกลออกไป ผมจึงชวนแท่งเดินต่อ โดยแท่งไม่ลืมที่จะทักเตือนว่า ไปไหวแน่นะ

hmpakynbnve6

4mbpm53lx4uy

แล้วเราก็เดินทางมาถึง วัดอูมินโทนเส (Ou Min Thonese) ซึ่งแม้ทางเดินจะค่อนข้างไกล แต่ก็ไม่ได้เหนื่อยมากนักเนื่องจากอยู่ในระดับความสูงที่ใกล้เคียงกับวัดซูนอูพอนยาชิน แต่อยู่คนละยอดเขากัน โดยคุณลุงผู้เฝ้าวิหาร ชวนให้ผมลองเอาสองตามองผ่านรูเล็กๆที่อยู่บนฝาผนัง สิ่งที่พบคือ พระพุทธรูปองค์จิ๋ว ที่ชวนให้สงสัยเหมือนกันว่าพระพุทธรูปองค์จิ๋วเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไร จึงต้องไปแอบซุกซ่อนอยู่ในกล่องเช่นนี้ แต่สุดท้ายภาษาก็เป็นอุปสรรค ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับคุณลุงได้เกินกว่าการส่งยิ้ม

zknalj8nwzo7

9rmflrbpxuh8

69zjjx9dum94

เราเดินลงตามขั้นบันไดสู่ตีนเขา ซึ่งบนเส้นทางนี้เราสวนกับชาวพม่าอีกหลายคนที่เลือกเดินขึ้นยอดเขาสะกายแทนการนั่งรถยนต์ ในเวลานั้นผมจึงได้รู้ว่า แม้ทั้งสองวิธีจะขึ้นถึงยอดเขาเหมือนกัน แต่ช่องทางการรับรู้นั้นต่างกัน ความทรงจำและความประทับใจจึงย่อมไม่เหมือนกัน

7hxgcytsy317

มิวมิวจอดรถรอเราที่ตีนเขา โดยก่อนขึ้นรถผมขอให้มิวมิวจอดรถบนสะพานอังวะ เพื่อถ่ายรูปเนินเขาสะกายอย่างชัดๆ แต่มิวมิวบอกว่าไม่สามารถจอดกลางสะพานได้ โดยจอดให้ผมลงที่เชิงสะพานแทน ผมจึงต้องเดินตากแดดสู่กลางสะพานที่ทอดข้ามแม่น้ำอิรวดี ซึ่งสะพานแห่งนี้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ ที่กองทัพอังกฤษทิ้งระเบิดทำลายในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อสงครามได้สิ้นสุดลง และพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ สะพานแห่งนี้จึงถูกสร้างขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2497 โดยมีชื่อว่าสะพานอังวะ (Inwa Bridge) ตามชื่ออดีตราชธานีอีกแห่งหนึ่งที่เราจะเดินทางไปหลังจากนี้

yshzzurgj6zf

oellroe14a14

142dbuhv44u9

และ ณ ตำแห่งกลางสะพานอังวะ เหนือแม่น้ำอิรวดี ผมได้เห็นบรรดาวัดและเหล่าเจดีย์กระจายทั่วพื้นที่ตั้งแต่ไหล่เขาจนถึงยอด เนินเขาสะกายจึงน่าจะได้รับสมญานามว่า เนินเขาแห่งเจดีย์ เคียงคู่กับอาณาจักรพุกาม ที่ได้รับสมญานามว่าดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์

i3cvu0qpr8ny

c2me05p4bds0

แม้กาลเวลาจะเดินทางมาสู่ยุคปัจจุบัน ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างล้วนแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาที่ผ่านเลย แต่สำหรับชาวพม่าแล้ว กาลเวลาไม่ได้ทำให้ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาลดน้อยลงเลย เพราะชาวพม่ายุคปัจจุบันยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างวัด สร้างเจดีย์ ด้วยเชื่อว่า เป็นมหากุศลที่จะพาพวกเขาไปสู่สรวงสวรรค์ เฉกเช่นบรรพชนของพวกเขา เมื่อเกือบพันปีที่ผ่านมา

xjhk5nd0nhs0

ความคิดเห็น