แล้วก็ถึงเวลาที่เราจะได้ผ่านประตูเมืองเพื่อเข้าสู่เขตพระราชวังแห่งรัตนะปุระอังวะเสียที กรุงอังวะเคยเป็นราชธานีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดราชธานีหนึ่งของอาณาจักรพม่า แต่เมื่อพระเจ้าปดุงทรงย้ายราชธานีไปยังเมืองอมรปุระ ก็ทรงสั่งให้รื้อไม้สักแห่งพระราชวังกรุงอังวะ มาสร้างสะพานอูเบ็ง เป็นเหมือนการรื้อความยิ่งใหญ่ของกรุงอังวะ ซึ่งใช้เวลาสั้นกว่าการปล่อยกรุงอังวะให้รกร้างและผุพังตามกาลเวลา ในวันนี้พื้นที่ที่กว้างใหญ่ของพระราชวังจึงมีเพียงทุ่งหญ้ากับต้นตาล

แต่นั่น เราเห็นอะไรบางอย่างอยู่ไกลๆ และเมื่อรถม้าพาเราลึกเข้าไปในพื้นที่ที่เคยเป็นพระราชวัง ก็ปรากฏหอคอยโบราณตั้งเอียงๆอย่างโดดเด่นอยู่กลางทุ่งหญ้ากว้างนั้น

เราลงจากรถม้าแล้วเดินสู่หอคอยโบราณ เพราะโครงสร้างของหอคอยนี้สร้างด้วยปูน จึงเป็นสิ่งก่อสร้างเพียงสิ่งเดียวในเขตพระราชวังที่ยังหลงเหลืออยู่จนปัจจุบัน ส่วนสาเหตุที่ทำให้หอคอยเอียงเช่นนี้ เนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวในปีพ.ศ.2381 ซึ่งดูจากสภาพภายนอกแล้ว ชักไม่แน่ใจในความปลอดภัย ผมจึงสอบถามเนียรี่ให้แน่ใจอีกครั้ง ว่าหอคอยที่ตั้งเอียงเหมือนหอเอนเมืองปีซ่านั้นปลอดภัยเพียงพอสำหรับการขึ้นไปด้านบน แต่แม้จะไม่มีคำตอบใดๆจากเนียรี่ เราก็สมัครใจเดินขึ้นไปตามบันไดไม้ชันๆภายในหอคอย สู่เบื้องบนที่มีความสูง 27 เมตร เบื้องบนนี้สามารถมองไปได้ไกลถึงสะพานอังวะที่ทอดตัวข้ามแม่น้ำอิรวดีสู่เนินเขาสะกาย ที่มีมวลหมู่เจดีย์ตั้งกระจายอยู่จนเต็มเนินเขา


และเมื่อเรากลับลงมาเบื้องล่าง เราก็ได้พบภาพหอคอยเอียงๆอีกภาพ หากแต่ภาพที่เห็นนั้น ไม่ใช่ภาพจริงที่เราเพิ่งจากมา แต่เป็นภาพวาดจากฝีมือนักเดินทางหญิงชาวตะวันตกคนหนึ่ง ที่กำลังนั่งวาดภาพอย่างสบายอารมณ์บนทุ่งหญ้ากว้างหน้าหอคอย ในเวลานั้น ผมบอกได้ทันทีว่า ภาพวาดของเธอนั้นไม่เหมือนภาพจริงที่อยู่เบื้องหน้า เพราะภาพวาดนั้นถูกถ่ายทอดออกมาจากความรู้สึกของผู้วาด ... ใช่ เธอกำลังวาดภาพด้วยรอยยิ้มและความรู้สึกอันงดงาม ทำให้ภาพที่เธอกำลังวาดนั้น ดูงามกว่าภาพจริงของหอคอยที่อยู่เบื้องหน้ามากนัก


แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 2 ร้อยปี แต่บทเรียนที่เต็มไปด้วยความรักชาติในวัยประถม ก็ทำให้ผมหวนนึกถึงเหตุการณ์ที่กรุงศรีอยุธยาถูกเผาวอดวายในคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 โดยกองทัพของพระเจ้ามังระ แห่งกรุงอังวะ แต่เพลิงที่ลุกโชนนั้นไม่อาจเผาอิฐเก่าๆของเหล่าวัดวาอารามจำนวนมากได้ ซึ่งแม้ในวันนี้วัดเหล่านั้นจะกลายเป็นวัดร้าง แต่ก็ยังคงอยู่ในสภาพที่งดงาม จนได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในขณะที่กรุงอังวะของกษัตริย์ผู้เผากรุงศรีอยุธยา กลับเหลือเพียงหอคอยโบราณที่ตั้งเอียงๆเพียงหอคอยเดียวกลางทุ่งหญ้ากว้าง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชวังอันยิ่งใหญ่


ผมหันไปมองหอคอยอีกครั้ง แล้วถามตัวเองว่า ในฐานะคนไทย ลูกหลานชาวอยุธยาที่พม่าทำให้เสียกรุงถึง 2 ครั้ง ผมกำลังมองหอคอยแห่งนี้ด้วยความรู้สึกเช่นไร ?


แล้วเนียรี่ก็ควบม้าลากเกวียนพาเราไปยังวัดมหาองมะยีบอนซาน (Maha Aung Mye Bon Zon) ซึ่งเป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมือง แต่วิหารที่ปรากฏต่อหน้าเรานี้ เป็นวิหารที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ แทนวิหารเดิมที่สร้าง ในปีพ.ศ.2365 ในสมัยพระเจ้าบาจีดอว์ กษัตริย์องค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์คองบอง (ในสมัยนี้อังวะกลับมาเป็นราชธานีอีกครั้ง แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ) เนื่องจากวิหารเดิมที่สร้างด้วยไม้นั้นถูกไฟไหม้ แถมยังโดนแผ่นดินไหวซ้ำอีก การสร้างขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2416 จึงเปลี่ยนเป็นการสร้างด้วยอิฐฉาบปูนแทน ทำให้ชาวบ้านในละแวกนี้เรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดอิฐ


หลังจากขึ้นไปนมัสการพระพุทธรูปซึ่งเป็นพระสมัยใหม่ที่ชั้น 2 และเดินชมวิหารซึ่งมีขนาดใหญ่มากโดยรอบแล้ว ผมก็ตั้งท่าว่าจะกลับ แต่เห็นฝรั่งคนหนึ่งมุดเข้าไปในช่องที่ฐานชั้นล่างของวิหาร จึงลองมุมเข้าไปบ้าง จึงพบว่าเสาวิหารที่เรียงเป็นแถวเหล่านั้น ได้สร้างความรู้สึกให้ดูลึกลับ เสมือนหนึ่งกำลังเข้าไปหาขุมทรัพย์อะไรสักอย่าง

แต่ผมเดินเข้าไปได้ไม่นาน ก็รู้สึกเมื่อยที่ต้องเดินก้มตัวนานๆ จึงเลือกที่จะทะลุออกฝั่งตรงข้าม ซึ่งบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของเจดีย์สีขาว นามว่า โมนาจี แม้องค์เจดีย์จะไม่สูงนัก แต่ก็ตั้งอยู่บนเนิน ทำให้สามารถเห็นได้แต่ไกล

เนียรี่บอกว่าหมดสถานที่เที่ยวในเมืองอังวะแล้ว จากนั้นจึงควบรถม้าพาเราออกจากประตูเมืองเพื่อกลับไปยังท่าเรือ แม้ช่วงเวลาในการเที่ยวชมอดีตราชธานีรัตนปุระอังวะของเราจะใช้เวลาเพียงสั้นๆ แต่ก็ทำให้ผมได้สัมผัสอดีตราชธานีที่ตำราเรียนวิชาสังคมศึกษาในสมัยประถมระบุว่า หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ชาวอยุธยาจำนวนมาก รวมถึงเจ้าฟ้าอุทุมพร ทรงถูกจับมาเป็นเชลยที่กรุงรัตนะปุระอังวะแห่งนี้ ซึ่ง ณ มุมไหนสักแห่งบนแผ่นดินผืนนี้ คงเป็นที่อยู่ ที่จองจำของคนไทยเหล่านั้น


จนถึงเวลานี้ ผมก็ยังตอบตัวเองไม่ได้อย่างเต็มปาก ว่าผมควรรู้สึกดีต่อคนพม่า ตามความรู้สึกที่ผมได้สัมผัส หรือ ผมควรรู้สึกเกลียดชัง เหมือนที่ตำราเรียนได้สอนไว้

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 09.55 น.

ความคิดเห็น