เวลา 2 วันในเมืองมัณฑะเลย์และเมืองบริวารใกล้หมดลง แต่ยังเหลือสถานที่สำคัญอีก 1 ที่ นั้นคือ พระราชวังมัณฑะเลย์ จากท่าเรือเราเลือกที่จะนั่งรถแทนการเดิน เพื่อประหยัดเวลาที่มีเหลืออยู่ไม่มากนัก

รถรับจ้างพาเราไปส่งหน้าประตูอะเรียวี (Ariawi) ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันตกของพระราชวัง เราหยิบบัตรเข้าชมพระราชวังซึ่งเป็นบัตรใบเดียวกับเมื่อวานที่เราซื้อจากอังวะ (บัตรมีอายุ 3 วัน) ยื่นให้ทหารยามที่ยืนเฝ้าประตู แต่ทหารยามกลับโบกมือพร้อมพูดภาษาพม่าใส่เรา ซึ่งฟังอย่างไรก็คงไม่เข้าใจ จนเขาใช้มือชี้วนไปทางด้านหลัง จึงถึงบางอ้อว่า ประตูด้านนี้ห้ามเข้า ให้ไปเข้าประตูซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง

ผมมองดูความยาวของคูน้ำที่ล้อมรอบแนวกำแพงพระราชวัง แล้วแทบถอดใจ เพราะกำแพงพระราชวังแต่ละด้านนั้นยาวถึง 2 กม. แล้วนี่เราต้องเดินไปเข้าทางประตูอูเทด (Oo Htate) ทางทิศตะวันออก ซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่ง นั่นหมายความว่าเราต้องเดินถึง 4 กม. ซึ่งระยะทางนี้ ไกลกว่าจากท่าเรือมาพระราชวังเสียอีก

เราก้มหน้าก้มตาเดินไปตามแนวคูน้ำที่ล้อมรอบกำแพงเมือง เดินไปก็โมโหคนขับรถไปที่มาส่งเราผิดประตู แต่โมโหไปก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น จึงตัดสินใจโยนอารมณ์ขุ่นมัวทิ้งในคูน้ำรอบกำแพงเมือง แล้วเปลี่ยนจากก้มหน้าก้มตาเดิน มาเป็นมองคูน้ำและทิวทัศน์สองข้างทางแทน จึงพบว่า คูน้ำที่กว้างกว่าสิบเมตรนี้ นอกจากทำหน้าที่ล้อมรอบแนวกำแพงเมืองแล้ว ความใสสะอาดของคูน้ำยังทำหน้าที่สะท้อนเงากำแพงและประตูพระราชวังที่หลังคาซ้อนกันสูงดุจยอดปราสาท ซึ่งสิ่งที่คูน้ำสะท้อนเงานี้ เป็นของเดิมที่ยังเหลืออยู่ตั้งแต่ครั้งสร้างพระราชวัง ในขณะที่ตัวพระราชวังซึ่งอยู่ภายในกำแพงนั้นเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แทนพระราชวังเดิมที่ถูกเผาวอดวายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ในเวลานี้ความขุ่นมัวได้จางหายไปจนหมด ซึ่งนอกจากทำให้ใจเต้นช้าลงแล้ว ยังส่งผลให้จังหวะการเดินของเราช้าลงตามไปด้วย และเมื่อเราเดินมาถึงแนวกำแพงเมืองฝั่งทิศตะวันออก ก็ปรากฏภาพเขามัณฑะเลย์ตั้งโดดเด่นอยู่เบื้องหน้า ซึ่งเขาแห่งนี่เอง ที่พระเจ้ามินดง (Mindon) ทรงนิมิตถึง โดยทรงเชื่อว่าเป็นดินแดนสุขวดีตามพุทธทำนาย จึงทรงให้ย้ายราชธานีจากเมืองอมรปุระมายังที่ราบลุ่มระหว่างเชิงเขามัณฑะเลย์กับแม่น้ำอิรวดี ในปีพ.ศ.2400 พร้อมสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์เสียใหญ่โต ซึ่งกินพื้นที่ถึง 4 ตารางกิโลเมตร แต่น่าเสียดายที่พระราชวังแห่งนี้ ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ 28 ปี เท่านั้น !

เวลาผ่านไปเกือบ 1 ชั่วโมง กับระยะทาง 4 กม. เราพาตัวเองมายืนอยู่หน้าประตูอูเทด ซึ่งเป็นประตูเดียว ที่สามารถเข้าไปยังพระราชวัง โดยทหารยามหน้าประตูให้เราผ่านเข้าไปโดยไม่มีปัญหา แต่...ตัวพระราชวังนั้นอยู่ลึกเข้าไปในตำแหน่งตรงกลางพื้นที่ ซึ่งนั่นหมายถึงเราต้องเดินอีก 1 กม. โอ้! การจะได้ชมพระราชวังมัณฑะเลย์นี่ช่างยากลำบากเสียจริง


เราเดินไปตามเส้นทางที่ตัดตรงจากประตูสู่พระราชวัง สองข้างทางเป็นพื้นที่โล่งสลับกับค่ายทหารและบ้านพัก โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นค่ายทหารญี่ปุ่น นั่นเองเป็นสาเหตุให้กองทหารอังกฤษในนามของฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดโจมตี ทำให้พระตำหนักต่างๆถูกระเบิดวอดวายจนไม่เหลือ แต่เพื่อการท่องเที่ยว รัฐบาลพม่าจึงสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์ขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.2538 แต่การสร้างขึ้นใหม่นี้ ไม่อาจสร้างให้ยิ่งใหญ่ได้เท่าของเดิม พระราชวังมัณฑะเลย์ในปัจจุบัน จึงเหมือนเป็นพระราชวังจำลอง ที่กินพื้นที่เพียงเศษเสี้ยว ของพื้นที่ที่กว้างใหญ่ถึง 4 ตารางกิโลเมตร ที่อดีตเคยหนาแน่นไปด้วยมวลหมู่พระตำหนัก


แม้จะเป็นการสร้างขึ้นใหม่ แต่ก็สร้างเหมือนต้นแบบ ที่ยังคงเอกลักษณ์งานไม้ศิลปะมัณฑะเลย์ไว้ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะมหาปราสาทที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้าเรานี้ ดูประดุจดังปราสาททองคำที่หลังคาซ้อนกันสูงถึง 7 ชั้น อันหมายสวรรค์ชั้น 7

มหาปราสาทซึ่งเป็นที่ประทับของกษัตริย์พม่านี้เชื่อมต่อไปยังท้องพระโรง ภายในนอกจากจัดแสดงเครื่องราชูปโภคแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของสีหาสนบัลลังก์ ที่แม้จะสร้างขึ้นใหม่ แต่ก็งดงามไปด้วยลวดลายจำหลักสีทอง โดยเหนือสีหาสนบัลลังก์ มีรูปปั้นของพระเจ้ามินดง และอัครมเหสี เหมือนในอดีตที่พระองค์ทรงออกมหาสมาคม ณ สีหาสนบัลลังก์แห่งนี้


และแม้ในวันนี้พม่าจะไม่ได้ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ แต่ ณ ภมราสนบัลลังก์ ที่อยู่ลึกเข้าไปในท้องพระโรง ยังคงปรากฏรูปปั้นพระเจ้าธีปอ (Thibaw) กษัตริย์องค์สุดท้ายประทับเคียงคู่กับพระนางศุภยลัต พระมเหสี ซึ่งพระเจ้าธีปอ เป็นกษัตริย์พม่าเพียงพระองค์เดียว ที่ไม่ได้สวรรคตบนแผ่นดินที่ทรงปกครอง เพราะหลังจากอังกฤษเข้ายึดพม่าได้สำเร็จ พระองค์ก็ถูกเนรเทศไปยังอินเดีย ในวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2428 นับจากวันนั้น พระองค์ก็ไม่มีโอกาสเสด็จกลับมายังพม่าอีกเลย


ซึ่งในวันนั้น คือวันแห่งความเศร้าโศกเสียใจ ที่ชาวพม่าต้องยอมรับถึงการเสียเมืองอย่างสมบูรณ์ พร้อมกับเห็นกษัตริย์ของตนเองถูกเนรเทศออกจากแผ่นดินที่ทรงเคยปกครอง และวันนั้น คือ วันสุดท้ายแห่งการปกครองระบอบกษัตริย์บนแผ่นดินพม่า ซึ่งกินเวลายาวนานถึง 841 ปี นับจากพระเจ้าอโนรธา ทรงก่อตั้งอาณาจักรพุกาม

ผมออกจากท้องพระโรง แล้วเดินขึ้นสู่หอคอยสีแดงที่มีบันไดวนจนถึงยอดเบื้องบน หอคอยนี้คนไทยเรียกว่าหอพระนางศุภยลัต เนื่องจากก่อนที่กรุงมัณฑะเลย์จะถูกอังกฤษเข้ายึดครอง พระนางทรงขึ้นมายังหอคอยแห่งนี้ และทอดพระเนตรเห็นกองทัพเรืออังกฤษเคลื่อนพลมาประชิดเมือง จนเต็มน่านน้ำอิรวดี แม้พงศาวดารจะระบุถึงความเหี้ยมโหดของพระนาง แต่ภาพที่เห็นอยู่เบื้องหน้าก็ทำให้พระนางศุภยลัตตื่นตกใจจนแทบไม่สามารถควบคุมสติได้ และท้ายที่สุด กรุงมัณฑะเลย์หรือพม่าทางตอนเหนือ ก็ถูกอังกฤษเข้ายึดครอง หลังจากที่สามารถยึดครองพม่าทางตอนใต้ได้ก่อนหน้านี้แล้ว

จากยอดหอคอยที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ ผมมองไปยังมวลหมู่พระตำหนักที่ดาดาษจนแน่นเต็มพื้นที่ นี่ขนาดเป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ โดยมีขนาดเล็กกว่าของเดิมยังให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ได้ขนาดนี้ หากมวลหมู่พระตำหนักเดิมแห่งพระราชวังมัณฑะเลย์ยังคงอยู่ จะยิ่งใหญ่มากขนาดไหน คิดแล้วก็น่าเสียดายที่เปลวเพลิงแห่งสงครามโลกครั้งที่สอง ได้เผาพระราชวังจนมอดไหม้ แต่เปลวเพลิงนั้นก็ถูกดับลงด้วยสายน้ำ หากแต่สายน้ำนี้คือหยาดน้ำตาจากประชาชนชาวพม่า ที่เฝ้าอาลัยพระราชวังของตนถูกไหม้ไปต่อหน้าต่อตา


ในวันนั้น คนพม่าคงเข้าใจหัวอกคนอยุธยา ในคราวเสียกรุง และในทางกลับกัน คนไทยในวันนี้ก็ควรเข้าใจหัวอกคนพม่า และมองคนพม่าอย่างเพื่อนที่ใกล้ชิด แทนอดีตศัตรูผู้เผากรุง เพราะหากขึ้นชื่อว่าสงครามแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้แพ้ หรือ ผู้ชนะ ย่อมรู้ซึ้งถึงการสูญเสีย แต่ก็น่าแปลก ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ไม่ว่ามนุษย์จะเรียนรู้การสูญเสียสักกี่ครั้ง สงครามก็ยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น และดูเหมือนจะไม่มีวันหายไปจากสังคมของสิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่า มนุษย์

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 20.48 น.

ความคิดเห็น