แล้วสายลมและละลอกคลื่นก็พาเรามาถึงวัดผ่องต่ออู (Phaung Daw Oo) วัดสำคัญและมีชื่อเสียงที่สุดในทะเลสาบอินเล วัดแห่งนี้สร้างขึ้นจากแรงศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวอินทา และชาวไทใหญ่ ที่ต่างช่วยกันถมดินริมทะเลสาบ เพื่อใช้เป็นพื้นที่ก่อสร้าง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2343 ซึ่งเวลาที่ผ่านไปกว่าสองร้อยปี แรงศรัทธาได้ก่อให้เกิดผลปรากฏชัดต่อพระพุทธรูป 5 องค์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวิหารขนาดใหญ่ที่ตั้งอย่างโดดเด่นริมฝั่งน้ำ
เราเดินขึ้นจากเรือ ไปยังวิหารหลังใหญ่ ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 5 องค์ ซึ่งแกะจากไม้แก่นจันทร์ โดยเรียกรวมกันว่าพระบัวเข็ม เนื่องจากพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้ง 5 องค์นี้ ต่างมีหมุดหรือเข็มปักที่ไหล่และหัวเข่า โดยตำนานกล่าวไว้ว่า พระบัวเข็มทั้ง 5 องค์นี้ สร้างตั้งแต่สมัยพระเจ้าอลองซีตู แห่งพุกาม ทำให้พระทั้ง 5 องค์นี้มีอายุเก่าแก่ร่วมพันปี โดยเมื่อแรกสร้างมีความสูงเพียง 5 เซนติเมตร แต่แรงศรัทธาที่สั่งสมตามกาลเวลา พระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้ง 5 องค์นี้จึงถูกปิดทองจนกลมดิ๊ก จนไม่มีโอกาสได้เห็นพระพุทธรูปองค์จริงว่ารูปร่างหน้าตาเป็นเช่นใด ซึ่งนั่นทำให้ชาวตะวันตก ตั้งชื่อให้พระพุทธรูป 5 องค์นี้ว่า Five golden balls หรือ ลูกบอลทองคำทั้ง 5 แล้วเราก็ไม่รอช้าที่จะไปซื้อทองคำเปลวมาติดบนลูกบอลทองคำทั้ง 5 ให้กลมดิ๊กขึ้นไปอีก
เราเดินออกจากวิหาร เพื่อไปชมเรือการเวกลำใหญ่ซึ่งจอดอยู่ใกล้ๆ (การเวก คือ นกในป่าหิมพานต์ ที่มีเสียงร้องอันไพเราะ) ซึ่งเรือการเวกลำนี้ใช้ในการแห่อัญเชิญพระบัวเข็มไปตามวัดสำคัญทั้ง 15 แห่งรอบทะเลสาบอินเล เป็นเวลา 15 วัน 15 คืน ในช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือที่ชาวพม่าเรียกว่า ตะดิงยุท์ (Thadingyut) แต่จะอัญเชิญพระบัวเข็มไปแค่ 4 องค์เท่านั้น ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดเรือคว่ำในระหว่างอัญเชิญ โดยสามารถงมพบเพียง 4 องค์ แต่องค์ที่ 5 ที่งมหาไม่พบนั้น ได้กลับมาประดิษฐานเองในพระวิหารอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก นับแต่นั้นมาจึงไม่มีการอัญเชิญพระองค์ที่ 5 ลงเรือการเวกอีก ฟังๆแล้วเหมือนเรื่องเล่าของพระพุทธรูปบางองค์ในเมืองไทยยิ่งนัก หรืออาจเป็นเพราะ ศรัทธาที่เหมือนกัน ปาฏิหาริย์ทางความเชื่อจึงไม่ต่างกัน
จากวัดผ่องต่ออู เต็งเนาพาไปไหว้พระที่ไม่ต้องเดารูปร่าง เพราะเห็นองค์เต็มๆ โดยไม่ได้ถูกปิดทองเสียจนเป็นลูกบอล ที่วัดไป่ซู ซึ่งมากไปด้วยพระพุทธรูป ทั้งแบบนูนต่ำ ที่อยู่ตามผนัง และแบบเต็มองค์ โดยประดิษฐานอยู่ที่ทิศทั้งสี่ของวิหาร ซึ่งแต่ละองค์มีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยบางองค์มากไปด้วยเครื่องประดับ อีกทั้งยังสวมมงกุฎ ดูแล้วไม่เหมือนศิลปะพม่า จึงน่าจะเป็นศิลปะของชาวอินทาหรือชาวไทใหญ่ ผู้เป็นประชากรส่วนใหญ่ของพื้นที่ นอกจากนั้นรอบวิหารยังมีพระพุทธรูปปางแปลกๆที่ไม่มีในเมืองไทยอีกหลายองค์
จากท้องทะเลสาบที่กว้างใหญ่ เต็งเนาเบนหัวเรือเข้าสู่ลำคลอง เพื่อพาเราไปกินอาหารเที่ยงที่ร้าน Shwe Hintha ระหว่างที่เรานั่งรออาหารที่สั่ง ก็นั่งชมวิวของลำคลอง ที่ชาวอินทาแจวเรือลำน้อยผ่านไปมา โดยฝั่งตรงข้ามของลำคลองเป็นบ้านหลังน้อย กลางทุ่งหญ้า ที่ดอกหญ้ากำลังโบกไหวไปมาตามกระแสลมที่พัดผ่าน
ไหนๆก็เข้ามาในลำคลองแล้ว เต็งเนาจึงพาลัดเลาะไปตามลำคลองสายเล็กสายน้อย ที่เชื่อมต่อกันดุจใยแมงมุม โดยมีชาวอินทาใช้ขาพายเรือผ่านไปมา เราจึงได้เพลิดเพลินกับลีลาการพายเรือด้วยขาของชาวอินทาอีกครั้ง ซึ่งการเปลี่ยนมาอยู่ในลำคลองสายเล็กสายน้อยเช่นนี้ ทำให้เราได้สัมผัสบ้านเรือและวิถีชีวิตของชาวอินทาอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
หนึ่งในวิถีชีวิตของชาวอินทา คือ การทำแปลงผักลอยน้ำ โดยลำคลองสายน้อยที่เรากำลังผ่านนี้ มีแปลงผักลอยน้ำอยู่หลายแปลง แปลงผักลอยน้ำเหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญหาอีกอย่างหนึ่งของชาวอินทา ที่คิดเอาเหล่าวัชพืชบนผืนทะเลสาบ มามัดรวมกันเป็นแพ แล้วนำดินอันอุดมสมบูรณ์จากใต้ทะเลสาบมาวางไว้ด้านบน แค่นี้ก็ได้แปลงปลูกผักชั้นเยี่ยม ที่ผลิตผักสดๆ และเหล่าดอกไม้ มาตอบสนองศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวอินทาที่มากล้นเกินปริมาณน้ำในทะเลสาบ
จริงๆแล้ว ท้องทะเลสาบอินเล ยังมีวัดและสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดชเวอินตัน วัดที่มากไปด้วยเจดีย์โบราณ หรือจะเป็นหมู่บ้านตีเหล็ก หมู่บ้านผลิตกระดาษสา และรวมถึงแหล่งผลิตบุหรี่ขี้โย สินค้าขึ้นชื่อของที่นี่ แต่เนื่องจากเราต้องการกลับก่อนบ่าย 3 เพื่อป้องกันการพลาดรถสองแถวที่จะไปตองยี ทำให้เต็งเนาเลือกพาเราไปวัดงาเพชุง (Nga Phe Chaung) เป็นที่สุดท้าย แต่หากเป็นที่สุดท้ายที่งดงามและน่าจดจำยิ่งนัก
เริ่มตั้งแต่ตัววัดนั้นเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ.2393 อีกทั้งบรรดาเสาภายในเรือนไม้หลังใหญ่นี้ล้วนเป็นไม้สัก โดยมีมากถึง 654 ต้น และเมื่อเราเดินเข้าไปภายในเรือนไม้ เราก็ต้องตะลึงกับเหล่าพระพุทธรูปนับสิบๆองค์ ซึ่งล้วนงดงามทุกองค์ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าพระพุทธรูปหยกขาวศิลปะมัณฑะเลย์ ที่ประดิษฐานอยู่บนบัลลังก์ทองอันงามสง่า และเหล่าพระพุทธรูปสำริด ที่แต่งองค์ทรงเครื่องดุจกษัตริย์ อันเป็นศิลปะที่มีเฉพาะบริเวณทะเลสาบอินเลแห่งนี้เท่านั้น
ผืนน้ำใส ขุนเขาที่สูงใหญ่ สายลมเย็นที่พัดผ่าน ยังคงเป็นสิ่งที่ผ่านเข้ามาให้สายตาได้สัมผัส ให้หัวใจได้รู้สึก ซึ่งในเวลานี้ผมได้แต่ถามตัวเองว่า ในชีวิตที่เหลือหลังจากนี้ ผมจะมีโอกาสอีกสักครั้งไหม ที่เส้นทางจะพาให้ชีวิตกลับมาสัมผัสความงดงามของทะเลสาบแห่งนี้อีกสักครั้ง
นกนกนวลฝูงใหญ่โผบินผ่านมา เหมือนกับว่าเหล่านกนั้นบินมาเพื่อส่งเรา ในขณะที่เรือลำน้อยกำลังพาเราลาจากทะเลสาบแสนงาม นามว่า...อินเล
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 13.20 น.