เป้ใบใหญ่ของเราถูกใช้ในการจับจองที่นั่งบนรถสองแถวสายยองชุย – ตองยี ก่อนที่ไม่นานที่นั่งบนรถจะเต็มจนต้องเสริมที่นั่งแถวกลาง จนสุดท้ายผู้โดยสารที่ขึ้นระหว่างทางต้องขึ้นไปนั่งบนหลังคารถ
ด้วยเหตุที่มีการเสริมที่นั่งตรงกลางรถ ทำให้ผมต้องนั่งชันเข่า เพื่อไม่ให้ขายาวๆของผมไปเกยกับคนที่นั่งแถวกลาง ในขณะที่แท่งต้องทำตัวให้ลีบลงกว่าปกติ อีกทั้งที่นั่งบนรถสองแถวนั้นเป็นเพียงแผ่นไม้กระดานที่ไม่มีเบาะนุ่มๆหุ้ม ผู้โดยสารจึงต้องนั่งก้นกระแทกไปตลอดทางลูกรัง จนถึงถนนใหญ่ที่ชุยยอง เส้นทางจึงราบรื่นขึ้นเนื่องจากเปลี่ยนเป็นถนนลาดยาง แต่ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของฝุ่นที่ฟุ้งตลอดทาง
จากทางตรง เส้นทางเปลี่ยนเป็นทางลัดเลี้ยวไปตามแนวเขา และค่อยๆไต่ระดับความสูงมากขึ้น จนในที่สุดก่อนที่จะขึ้นสู่ตัวเมืองตองยี ระดับองศาของเส้นทางก็เปลี่ยนอย่างชัดเจน โดยเปลี่ยนเป็นทางชันเกือบ 45 องศา ทำให้เครื่องยนต์รถส่งเสียงดังมากยิ่งขึ้น จนชักไม่แน่ใจว่า รถสองแถวเก่าๆคันนี้ จะพาผู้โดยสารที่นั่งเต็มคันรถจนล้นไปถึงหลังคา ขึ้นไปยังตัวเมืองตองยีที่ตั้งอยู่ ณ เขาเบื้องบนไหวไหม แต่สุดท้ายหลังผ่านความงดงามของทิวทัศน์และแนวป่าไม้ข้างทาง เส้นทางก็เริ่มเปลี่ยนจากความลาดชันมาเป็นทางปกติ พร้อมภาพตัวเมืองและผู้คนที่ค่อนข้างพลุกพล่านก็ปรากฏให้เห็น
ด้วยเหตุที่เมืองตองยี (Taunggyi) ตั้งอยู่บนเขาที่มีความสูงถึง 1800 เมตร จึงเป็นเรื่องน่าแปลกที่บนเขาสูงจะมีที่ราบที่กว้างใหญ่ขนาดนี้ ซึ่งนั่นทำให้เมืองแห่งนี้มีชัยภูมิที่ดีเยี่ยม อีกทั้งอากาศยังเย็นสบายตลอดทั้งปี จึงเป็นเหตุให้อังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมในสมัยนั้นเลือกเมืองตองยี ให้เป็นเมืองหลวงของรัฐฉาน อันเป็นรัฐของชาวไท ซึ่งมีมากมายราว 30 เผ่า ไม่ว่าจะเป็น ไทเขิน ไทมาว ไทยอง โดยมีชาวไทใหญ่เป็นพลเมืองมากที่สุด แต่คำว่า ตองยี (หรือ ตองจี) กลับไม่ใช่ภาษาไทใหญ่ หากแต่เป็นภาษาพม่า ที่แปลว่า ภูเขาใหญ่ ในขณะที่ชาวไทใหญ่เอง เรียกเมืองนี้ว่า เมืองต้นปี้ ตามชื่อต้นหมากปี้ที่มีอยู่เต็มเมือง (ต้นไม้ชนิดหนึ่ง ลูกคล้ายลำไย แต่เนื้อเป็นสีแดง รสเปรี้ยว)
เราลงรถที่บริเวณสี่แยกกลางเมือง ใกล้ๆกันเป็นหอนาฬิกา ที่มีผู้คนพลุกพล่านมากกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากเป็นตลาด โดยตลาดแห่งนี้เป็นตลาดใหญ่ที่น่าเดินยิ่งนัก แต่สิ่งแรกที่เราต้องจัดการก่อน คือการหาตั๋วรถสำหรับการเดินทางในวันพรุ่งนี้ เพื่อไปหงสาวดีหรือที่ชาวพม่าเรียกว่าพะโค โดยเรายังคงฝากความไว้วางใจกับบริษัท ESE ไม่ใช่เพราะความประทับใจในบริการ แต่เป็นเพราะเป็นบริษัทเดียวที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ จึงน่าจะสะดวกในการติดต่อมากกว่า และแม้เมืองพะโคจะถึงก่อนย่างกุ้งถึง 80 กม. แต่เราก็ต้องซื้อตั๋วในราคาเต็มเท่ากับการไปลงที่ย่างกุ้ง ในราคา 15,000 จ๊าต
ได้ตั๋วรถไปพะโคเรียบร้อยแล้ว สิ่งต่อไปที่ต้องทำคือการหาที่พัก ฝั่งตรงข้ามบริษัท ESE เป็นโรงแรม Sweet dream แต่ราคาที่พักค่อนข้างสูง เราจึงเลือกที่จะหาที่พักที่ราคาถูกลง แล้วเราก็พบปัญหาเดียวกับที่เมืองแปร เพราะแม้ที่พักในตองยีจะมีหลายแห่ง แต่เกือบทุกแห่งปฏิเสธไม่ให้เราเข้าพัก ด้วยเหตุผลว่าเราเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งชาวต่างชาติสามารถพักได้เฉพาะโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น เราจึงต้องแบกเป้แล้วเดินๆๆ จนรู้สึกคุ้นเคยกับตัวเมืองตองยี ทั้งๆที่ยังไม่อยากคุ้นเคยในตอนนี้ให้มากนัก แต่ก่อนที่ความหนักของเป้จะทำร้ายกระดูกสันหลังไปมากกว่านี้ เราก็ได้ที่พักที่ Saung Cherry Hotel แม้ป้ายด้านหน้าจะเขียนว่าโรงแรม แต่ขอเรียกว่าเกสท์เฮ้าส์น่าจะดูเหมาะสมกว่า เพราะเป็นห้องแถว ที่แบ่งพื้นที่ชั้นบนเป็นห้องพัก ส่วนชั้นล่างเป็นร้านขายของชำ สำหรับค่าห้องนั้นสูงเอาเรื่องคือ ห้องละ 13 เหรียญสหรัฐ
หลังจากเอาเป้ทิ้งไว้ในห้องพัก เราก็ออกเดินท่องเมืองตองยีทันที แต่เวลานี้เข้าสู่เวลาพลบค่ำแล้ว เราจึงเลือกเดินบนถนนโบโจ๊ค อองซาน (Bogyoke Aung San) ซึ่งเป็นถนนสายหลักของเมือง เนื่องจากยังคงมีแสงไฟจากร้านค้า ทำให้ทางเดินไม่ดูเงียบเหงาเกินไปนัก โดยถนนสายนี้เป็นถนนที่กว้างใหญ่ มีทางเท้าให้เดินได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังดูสะอาดและปราศจากฝุ่น ต่างจากถนนทั่วๆไปในพม่า
ในขณะนี้นอกจากอาการไข้แล้ว ผมยังถูกซ้ำเติมด้วยอาการเจ็บคอ ที่เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนแทบจะดื่มน้ำไม่ได้ เมื่อเห็นร้านขายยา ผมจึงตรงเข้าไปเพื่อซื้อยาอมแก้เจ็บคอ เจ้าของร้านซึ่งเป็นคนจีนหยิบยาพม่าให้ แต่ผมไม่แน่ใจนักว่าสรรพคุณเป็นเช่นใด จึงเลือกซื้อยาอมของฝรั่งยี่ห้อดังที่คุ้นเคยแทน แต่ยาอมยี่ห้อดังนี้ออกฤทธิ์เพียงทำให้ชุ่มคอเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยทำให้อาการเจ็บคอของผมดีขึ้นเลย
แล้วเสียงสวดมนต์ทำวัดเย็นก็แว่วเข้ามาให้เราได้ยิน เราเดินไปตามเสียงนั้นสู่วัดเมียวเยธรรมยง ซึ่งศาลาวัดอยู่ติดกับถนนโบโจ๊ค อองซาน เพียงแค่เดินจากฟุตบาท ก็เข้าสู่ศาลาวัดได้ทันที ภายในศาลาขนาดใหญ่นี้เนืองแน่นไปด้วยพุทธศาสนิกชนทั้งชาวพม่าและชาวไทใหญ่ ที่กำลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นกับเจ้าอาวาส
ในเวลาที่เรามาถึง เจ้าอาวาสกำลังอาราธนาศีล 5 เราจึงไม่รอช้าที่จะไปรับศีล โดยสามารถว่าตามได้อย่างคล่องปาก เพราะเป็นภาษาบาลี เล่นเอามรรคทายกทำหน้างงๆ ว่าเจ้าสองคนนี้ใช่คนพม่าหรือเปล่า
รับศีลเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลารับประทานอาหาร (ซึ่งเราแน่ใจว่ารับศีล 5 ไม่ใช่รับศีล 8 มิเช่นนั้น มื้อเย็นนี้อดกินแน่) เรามุ่งตรงไปยังตลาดที่มีร้านค้ารถเข็นมากมายตั้งอยู่รอบบริเวณหอนาฬิกา สิ่งแรกที่ตกถึงท้องเราคือ ขนมหน้าตาแปลกๆที่ไม่มีในเมืองไทย โดยนำแป้งซึ่งมีไส้มะพร้าวอยู่ด้านในไปนึ่งในถ้วยกระเบื้อง จากนั้นจึงโรยมะพร้าวด้านบนอีกที ลองกินดูแล้วรสชาติคล้ายขนมใส่ไส้ อร่อยดี ราคา 3 ชิ้น 200 จ๊าต แต่น่าเสียดายที่คุยกับคนขายไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ว่าชาวพม่าเรียกขนมนี้ว่าอะไร
ในเวลาค่ำเช่นนี้ ร้านค้าขายเสื้อผ้าและเครื่องอุปโภคบริโภคในตลาด Myoma ซึ่งสร้างในลักษณะห้างสรรพสินค้าเริ่มปิดร้าน เหมือนกับบรรดาร้านค้ารถเข็นรอบหอนาฬิกา ก็ดูบางตากว่าช่วงเย็นที่เราเพิ่งมาถึง แต่ก็ยังมีร้านค้าอีกหลายร้านให้เราได้เลือก ซึ่งเรารู้สึกตื่นตาตื่นใจกับบรรดาอาหารของแต่ละร้าน เพราะล้วนเป็นอาหารที่คุ้นหน้าคุ้นตา แบบที่มีในเมืองไทย
ไม่ว่าจะเป็นร้านขนมครก ที่กระทะสำหรับทำขนมครกนั้นใหญ่มาก ประมาณคร่าวๆ กระทะหนึ่งน่าจะทำขนมครกได้เกือบร้อยอัน อีกทั้งบรรดาร้านข้าวราดแกง ก็มีกับข้าวให้เลือกมากมาย ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเดินอยู่ในตลาดโต้รุ่งของเมืองไทย จนแท่งอุทานออกมาด้วยความดีใจว่า “มื้อนี้รอดตายแล้ว” แต่สุดท้าย เราก็เลือกอาหารพื้นๆอย่างบะหมี่หมูแดง เนื่องจากกินอาหารที่เพิ่งปรุงเสร็จใหม่ๆ น่าจะลดความเสี่ยงเรื่องท้องเสียได้มากกว่า โดยบะหมี่หมูแดงของที่นี่เสริฟพร้อมน้ำซุปและผักดอง ซึ่งเส้นบะหมี่นั้น เป็นเส้นบะหมี่แบบพม่า ที่มีลักษณะกลมๆ ไม่ใช่เส้นแบนๆแบบเมืองไทย
เราเดินออกจากตลาดด้วยข้อสงสัยที่มีอยู่เต็มหัว ว่าเหตุใดในตลาดเมืองตองยีจึงไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยกับชาวเมืองได้สักคน ทั้งๆที่เมืองแห่งนี้เป็นเมืองหลวงของรัฐฉาน ซึ่งเป็นรัฐของชาวไท
เมื่อกลับถึงเกสท์เฮ้าส์จึงเข้าไปสอบถามเจ้าของที่พักว่าในเมืองตองยีนี้มีคนที่สามารถพูดภาษาไทยได้หรือไม่ เจ้าของเกสท์เฮ้าส์ตอบว่ามี ก็ร้านอาหารที่อยู่ตรงข้ามเกสท์เฮ้าส์ไง เขาเป็นคนไท ผมจึงเดินออกไปที่หน้าเกสท์เฮ้าส์เห็นร้านอาหารร้านหนึ่ง มีป้ายชื่อเป็นภาษาอังกฤษ แต่เมื่อลองอ่านดู จึงพบว่า ร้านนี้มีชื่อว่า เขมรัฐ อันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อเต็มเมืองเชียงตุง ซึ่งมีชื่อเต็มว่า เขมรัฐตุงคบุรี ผมจึงค่อนข้างมั่นใจว่าเจ้าของร้านนี้น่าจะเป็นชาวไทเขิน แห่งเชียงตุง แต่น่าเสียดายที่เวลานี้ร้านเขมรัฐได้ปิดร้านแล้ว แต่ไม่เป็นไร เพราะพรุ่งนี้ผมยังมีเวลาที่ตองยีจนถึงเที่ยง ผมจึงกลับเข้าห้องพัก โดยบอกกับตัวเองว่า พรุ่งนี้ผมมีนัดกับคนไทเขิน
กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันพฤหัสที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.01 น.