พระภิกษุกว่าสิบรูปเดินเรียงแถวรับบิณฑบาตจากชาวเมืองตองยี ในเวลาเช้าที่ร้านรวงส่วนใหญ่ยังไม่เปิดกิจการ ผมเดินไปตามถนนโบโจ๊ค อองซาน ตามลำพัง เพราะแท่งสมัครใจที่จะนอนรับสายลมเย็นภายในห้องพัก


ผมแวะเข้าไปทักทายชีวิตของผู้คนชาวตองยีภายในตลาดเช้า บรรยากาศนั้นคึกคักไม่แพ้ตลาดยามเย็น ผักสด ผลไม้สดหลากหลายชนิดมีให้เลือกซื้อหา ในบรรดาผักผลไม้ที่คุ้นตามีกล้วยชนิดหนึ่ง ที่ไม่ค่อยมีขายในเมืองไทย แต่ที่นี่มีขายค่อนข้างมาก ซึ่งผมเคยเห็นกล้วยชนิดนี้วางขายที่สังขละบุรี โดยคนมอญที่นั่นเรียกว่า กล้วยนาค เนื่องจากสีของมันเหมือนสีนาค กล่าวคือเปลือกเป็นสีแดง แต่หากยังไม่สุกจะเป็นสีม่วงอมเขียว สำหรับรสชาตินั้นเหมือนกล้วยหอม

ผมเดินชมอาหารของชาวตองยีไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ต่างจากตลาดเช้าบ้านเรานัก แล้วในระหว่างที่ผมเดินชมอาหารเพลินๆนั้น ชาวเขา 3 คนก็แต่งองค์ทรงเครื่องอย่างเต็มยศมาเดินจ่ายตลาด ทำเอาความสนใจของผมถูกดึงจากเหล่าอาหารพื้นเมือง มาเป็นการเฝ้ามองพวกเธอแทน

ออกจากตลาด ผมเลือกที่จะเดินขึ้นบันไดที่ทอดยาวไปยังเนินเขาเบื้องบน อันเป็นที่ตั้งของวัดกอนต้า (Konthar) เพื่อหวังไปชมทิวทัศน์ของเมืองตองยีจากมุมสูง ซึ่งนอกจากทิวทัศน์ของตัวเมืองในม่านหมอก ที่มีทิวเขาสูงใหญ่อยู่เบื้องหลังแล้ว ที่วัดกอนต้าแห่งนี้ยังมีเจดีย์ทอง ซึ่งตั้งอยู่บนฐาน 4 ชั้น แต่ละชั้นยังมีเจดีย์องค์เล็กๆตั้งเรียงรายโดยรอบ




ลงจากวัดกอนต้า แทนที่ผมจะเดินตรงดิ่งกลับสู่ถนนโบโจ๊ค อองซาน ผมกลับเลือกที่จะเดินไปตามถนนสายเล็กๆที่ลัดเลาะไปตามหมู่บ้านที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในอ้อมกอดของสายหมอก เพื่อไปยังวัดเย็ดตง โดยวัดแห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ เป็นที่ประดิษฐานของพระยืนองค์ใหญ่แห่งตองยี ทีแรกผมเข้าใจว่าเป็นพระยืนที่ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งเหมือนที่เชียงตุง แต่เมื่อเดินวนจนรอบวัดก็หาไม่พบ จึงเข้าไปสอบถามพระสงฆ์รูปหนึ่งที่เพิ่งกลับจากการบิณฑบาต ซึ่งช่วงแรกของการสนทนา ท่านก็สนทนาเป็นภาษาอังกฤษ แต่พอหลวงพี่รู้ว่าผมเป็นคนไทย ท่านก็เปลี่ยนเป็นพูดคุยกับผมเป็นภาษาไทยทันที

หลวงพี่บอกว่า ท่านเป็นชาวไทเขิน เดิมอาศัยอยู่ที่เชียงตุง มีชื่อเป็นภาษาไทเขินว่า ยอดทิพย์ ที่มาบวชพระและอยู่ที่ตองยี เพราะหนีภัยสงครามจากเมืองเชียงตุง หลวงพี่ยอดทิพย์ยังบอกอีกว่า ท่านรู้สึกดีใจมาก ที่ได้พบผม เพราะท่านไม่ได้สนทนาภาษาไทยกับใครมานานแล้ว เนื่องจากพระในวัดนี้ทุกรูปล้วนเป็นชาวพม่าทั้งหมด ผมจึงตอบท่านไปว่า ผมก็ดีใจเช่นกัน ที่ได้สนทนาภาษาไทยกับคนไทด้วยกัน

หลังจากการสนทนา หลวงพี่ยอดทิพย์ ก็ไขกุญแจวิหาร เพื่อพาผมเข้าไปนมัสการพระยืนองค์ใหญ่ ที่ประดิษฐานอยู่ภายใน โดยพระยืนนั้นสร้างด้วยศิลปะพม่า พระวรกายสีขาว นุ่งจีวรสีทอง แม้จะไม่สูงเท่าพระยืนที่เมืองเชียงตุง แต่ก็สูงจนผมต้องแหงนคอตั้งบ่าเพื่อมองพระพักตร์


จริงๆแล้วจุดหมายในวันนี้ของผมอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ตองยี ซึ่งผมต้องการชมภาพสำคัญภาพหนึ่ง แต่เมื่อผมเดินลงจากเนินเขามาหยุดที่หน้าพิพิธภัณฑ์ จึงพบว่าผมมาเร็วเกินไปกว่าชั่วโมง เพราะพิพิธภัณฑ์เปิดเวลา 9.30 น. แต่ขณะนี้เพิ่ง 8 โมงเศษ ครั้นจะให้นั่งรอที่หน้าพิพิธภัณฑ์ก็กลัวเวลาที่มากมายนี้จะทำให้คิดฟุ้งซ่าน อีกทั้งวันนี้ผมมีนัดกับคนไทเขิน ที่ร้านเขมรัฐ ผมจึงเดินย่ำเท้ากลับเกสท์เฮ้าส์ เพื่อชวนแท่งไปกินอาหารเช้าที่ร้านดังกล่าว ระหว่างทาง มีสาวชาวพม่าเข้ามาถามทางผม ด้วยเข้าใจผิดคิดว่าผมเป็นคนพม่า นี่อยู่พม่าแค่สัปดาห์เดียว ทำให้ชาวโยเดียอย่างผม หน้าดูเหมือนคนพม่าได้ขนาดนี้เชียวหรือ แต่บางทีเธออาจจะคิดว่าคนไทยอย่างผม เป็นชาวไทใหญ่ในประเทศพม่าก็เป็นได้

อาหารน่ากินที่คุ้นตากว่าสิบอย่างตั้งอยู่เบื้องหน้า ไม่ว่าจะเป็นไก่ผัดกระเทียม ไข่ลูกเขย ปลาผัดพริก ใช่แล้ว เรากำลังอยู่ในร้านเขมรัฐ ร้านของชาวไทเขิน ซึ่งพี่สาวชื่อว่าจุนเตาะ ทักทายเราด้วยภาษาไท อย่างชัดถ้อยชัดคำ เมื่อรู้ว่าเราเป็นคนไทย
เธอเล่าให้ฟังว่า เดิมนั้นเธอกับสามีอาศัยอยู่ที่เชียงตุง สาเหตุที่เธออพยพมาจากเชียงตุง ก็เป็นเหตุผลเดียวกับหลวงพี่ยอดทิพย์ นั่นคือเกิดความไม่สงบในเชียงตุง เธอกับสามีจึงตัดสินใจอพยพมาอยู่ที่ตองยี ซึ่งมีความสงบมากกว่า เพราะอังกฤษซึ่งปกครองพม่าในขณะนั้นตั้งให้เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของรัฐฉาน และเพราะความเป็นคนไทด้วยกัน มื้อนี้พี่จุนเตาะจึงตักกับข้าวที่รสชาติถูกปากให้เรามากเป็นพิเศษ


กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง
วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.14 น.