เราแบกเป้ออกจากเกสท์เฮ้าส์ มุ่งตรงสู่บริษัท ESE หลังจากฝากเป้ไว้ที่เคาเตอร์ขายตั๋วแล้ว แท่งเลือกที่จะเดินเล่นบริเวณตลาด ส่วนผมเดินตรงดิ่งสู่พิพิธภัณฑ์ตองยี หลังจากเสียเงินค่าเข้าราคา 2 เหรียญสหรัฐ ผมก็มาหยุดยืนอยู่ที่แผนที่ขนาดใหญ่ของรัฐฉาน ซึ่งเป็นรัฐที่มีพื้นที่มากที่สุดในพม่า โดยมีแม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่ากลางพื้นที่ ต่างจากแผ่นดินพม่าตอนกลางที่สายน้ำสายสำคัญคือแม่น้ำอิรวดี สายน้ำที่ต่างกัน วิถีชีวิตของผู้คนจึงย่อมต่างกัน

ภายใต้ความต่างกันบนพื้นที่ที่กว้างใหญ่แห่งรัฐฉานนี้ มากไปด้วยชาวไทและชนเผ่าต่างๆที่กระจัดกระจายจนเต็มพื้นที่ ดูจากแผนที่แผ่นใหญ่นี้แล้ว พบว่าแต่ละชนเผ่านั้นล้วนแต่งกายด้วยชุดที่ต่างกัน ซึ่งห้องจัดแสดงทั้ง 2 ฝั่งของพิพิธภัณฑ์ชั้นล่างจัดแสดงชุดแต่งกายที่สวยงามของแต่ละชนเผ่า นอกจากนี้ยังมีชุดสำหรับรำนกยูง อันเป็นศิลปะของชาวไทใหญ่ และโนนียา สัตว์ในเทพนิยาย ที่ขนปุยทั้งตัว ส่วนหัวนั้นมีลักษณะคล้ายหัวกวาง

ผมเดินขึ้นสู่ชั้น 2 ภายในห้องจัดแสดงมีภาพวาดมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพที่แสดงประเพณี และสถานที่สำคัญภายในรัฐฉาน ไม่ว่าจะเป็นการแห่เรือการเวกที่ทะเลสาบอินเล ภาพพระพุทธรูปนับสิบนับร้อยองค์ภายในถ้ำปินดายา

แต่ก็ไม่มีภาพวาดใดจะสำคัญเท่าภาพที่ถูกติดตั้งบนผนังกลางห้อง ภายในภาพมีผู้ชาย 22 คนกำลังนั่งลงนาม และเป็นสักขีพยานสำหรับข้อตกลงสำคัญบางอย่าง ดูแล้วสัญญาที่กำลังลงนามกันอยู่นี้ น่าจะมีความสำคัญ และเป็นสัญญาแห่งความจริงใจที่ผู้ลงนามมีร่วมกัน แต่ความเป็นจริงที่อยู่เบื้องหลังสัญญากลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มกราคม 2490 อังกฤษลงนามในสัญญาคืนเอกราชให้แก่พม่า และบรรดารัฐของชนเผ่าต่างๆ

12 กุมภาพันธ์ 2490 ณ เวียงปางโหลง ในรัฐฉาน เจ้าฟ้าฉ่ายไต้ พร้อมด้วยเจ้าฟ้าของชนเผ่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไทใหญ่ ชิน กะฉิ่น ร่วมลงนามในสัญญาการรวมเป็นหนึ่งเดียวกับพม่าเป็นเวลา 10 ปี เพื่อความมั่นคงและการพัฒนาประเทศ หลังจากนั้นแต่ละชนเผ่าจะแยกตัวเป็นรัฐอิสระ มีอำนาจในการปกครองตนเอง ซึ่งในการลงนามในสัญญาครั้งนี้มีประมุขของแต่ละชนเผ่า และนายพลอองซาน วีรบุรุษของประชาชนพม่านั่งเป็นสักขีพยาน

19 กรกฎาคม 2490 นายพลอองซาน ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ถูกลอบสังหาร จนถึงแก่อสัญกรรม

4 มกราคม 2491 อังกฤษมอบเอกราชให้พม่าอย่างเป็นทางการ และประเทศพม่าก็เข้าสู่การปกครองของรัฐบาลทหารอย่างเป็นทางการเช่นกัน

10 ปีให้หลัง สัญญาที่ทำกันไว้ ณ เวียงปางโหลง ถูกนายอูนุ นายกรัฐมนตรีพม่า (ในสมัยนั้น) ฉีกทิ้งด้วยการปฏิเสธสัญญาที่จะให้ชนเผ่าต่างๆแยกตัวเป็นอิสระ และนั้นนำมาซึ่งสงครามแบ่งแยกดินแดนและความไม่สงบที่ยืดเยื้อในเวลาต่อมา

ภาพการลงนามในสัญญาเวียงปางโหลงจึงเป็นภาพประวัติศาสตร์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความไม่สงบที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานในแผ่นดินแห่งนี้ น่าแปลกที่รัฐบาลทหารพม่ายอมให้มีภาพนี้จัดแสดง เพราะแสดงถึงความไม่จริงใจในการักษาสัญญา หรือบางทีรัฐบาลทหารพม่าอาจจะไม่ได้ใส่ใจในสิ่งนั้น แต่ในทางตรงกันข้าม อาจคิดจะย้ำเตือนชาวไทและบรรดาชนเผ่าต่างๆว่า ไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาทำไม่ได้ แม้แต่การหักหลังเพื่อนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมา 10 ปี

ภาพที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าผมนี้ จึงดูเหมือนเต็มไปด้วยความจริงใจ แต่ข้างหลังภาพกลับซ้อนไว้ด้วยความหลอกลวง

ผมกลับมาที่บริษัท ESE โดยแท่งนั่งรออยู่แล้ว แต่ยังไม่เห็นรถบัส ทีแรกเราก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดตั๋วรถโดยสารจึงแยกเป็นค่าโดยสารกับค่าแท็กซี่ แต่เมื่อถึงเวลาที่ระบุไว้ในตั๋ว เราจึงรู้เหตุผล โดยแทนที่จะต้องขึ้นรถบัส พนักงานบริษัท ESE กลับให้เราขึ้นรถสองแถวที่มาจอดหน้าบริษัท โดยบอกเราว่า รถสองแถวคันนี้ จะไปส่งเราที่สถานีขนส่งด้านล่าง เพราะความสูงชันของเส้นทางที่ขึ้นสู่เมืองตองยี นั้นอันตรายเกินไปสำหรับรถบัสขนาดใหญ่

รถสองแถวก็พาเราตะลอนไปจนรอบเมืองตองยี เพื่อรับผู้โดยสารรายอื่นที่ระบุให้รถไปรับถึงหน้าบ้าน รวมถึงที่หน้าเกสท์เฮ้าส์ที่เราพักด้วย โธ่...รู้อย่างนี้รออยู่ที่หน้าเกสท์เฮ้าส์ก็ได้ ไม่น่าแบกเป้ใบโตเดินมาถึงบริษัทขนส่งเลย

กว่ารถสองแถวจะตะเวนรับผู้โดยสารจนครบก็กินเวลากว่าครึ่งชั่วโมง ทำให้เมื่อขับลงเขาสู่สถานีขนส่งด้านล่างก็เกือบถึงเวลาเที่ยงครึ่งที่รถบัสกำลังจะเคลื่อนตัวออกพอดี

สภาพรถบัสบริษัท ESE นั้นค่อนข้างใหม่ แต่เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นรถปรับอากาศ เพราะครั้งที่นั่งมาจากมัณฑะเลย์ คนขายตั๋วก็บอกเราว่าเป็นรถปรับอากาศ แต่เอาเข้าจริงๆคนขับก็ไม่ยอมเปิดแอร์ ผู้โดยสารจึงต้องเปิดกระจกรับลมและฝุ่นไปตลอดทาง แต่ครั้งนี้ เมื่อขึ้นไปบนรถ แอร์เย็นฉ่ำก็มาสัมผัสกายเรา จึงเป็นครั้งแรกในการเดินทางในพม่า ที่เราไม่ต้องนั่งสูดฝุ่นไปตลอดทาง

รถบัสเคลื่อนตัวไปได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มาถึงชุมชนขนาดใหญ่ของเมืองปินดายา (Pinyada) ใช่แล้ว เมืองนี้มีสถานที่น่าสนใจคือ ถ้ำปินดายา ที่ภายในมากไปด้วยพระพุทธรูป แต่ด้วยข้อจำกัดของเวลา เราจึงไม่มีโอกาสได้เข้าไปชม

ระหว่างที่ผู้โดยสารกำลังเพลิดเพลินกับเพลงพม่าที่เปิดเสียงดังมาก แน่นอนว่ายังคงมีผู้โดยสารชาวพม่าร้องเพลงคลออยู่หลายคน ผมก็ทำความรู้จักกับคุณลุงที่มีเชื้อสายแขก เพื่อให้คุณลุงคอยบอกเราเมื่อถึงเมืองพะโค เพราะเราน่าจะถึงพะโคกลางดึก หากนั่งเลยมีหวังต้องนั่งรถย้อนกลับจากย่างกุ้ง ซึ่งคุณลุงนั้นก็แสนใจดี คอยบอกเส้นทางเราตลอด ว่าในขณะนี้รถแล่นมาถึงเมืองไหนแล้ว ซึ่งบางทีผมกำลังเคลิ้มหลับ คุณลุงก็ยังสะกิดเพื่อบอกชื่อเมืองที่รถกำลังผ่าน แต่มีเรื่องหนึ่งที่คุณลุงไม่ยอมบอก ทั้งๆที่ผมพยายามคะยั้นคะยอถาม นั่นคือราคาตั๋วรถโดยสาร สำหรับการเดินทางจากตองยีสู่ย่างกุ้ง ที่ชาวพม่าซื้อกัน

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 15.00 น.

ความคิดเห็น