พระธาตุอินทร์แขวน หรือที่ชาวพม่ารามัญเรียกว่า ไจก์ทิโย (Kyaiktiyo) คือเจดีย์สีทองขนาดเล็ก สร้างไว้บนก้อนหินขนาดใหญ่ที่ตั้งหมิ่นเหม่ริมหน้าผา จนดูเหมือนจะกลิ้งตกลงไป ซึ่งด้วยความน่าอัศจรรย์ของหินก้อนยักษ์ที่สามารถตั้งอยู่ริมหน้าผานี้เอง คนพม่ารามัญ รวมถึงชาวล้านนาของไทยจึงเชื่อกันว่าเป็นเพราะพระอินทร์ทรงเนรมิตให้แขวนไว้ จนเป็นที่มาของชื่อพระธาตุอินทร์แขวน ที่ชาวล้านนาเรียกกัน อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีจอ

ในขณะที่ ไจก์ทิโย ในภาษามอญแปลว่า หินรูปหัวฤๅษี เนื่องด้วยมีการผูกตำนานการสร้างพระธาตุไว้ที่ฤๅษีผู้หนึ่งได้นำพระเกศาของสมเด็จพระพุทธเจ้า เก็บไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายศีรษะของตนเอง

ไม่ใช่เพียงก้อนหินก้อนยักษ์อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุอินทร์แขวนเท่านั้น หากแต่ตลอดทางเรายังพบเห็นก้อนหินรูปทรงประหลาดหลายก้อน ซึ่งบางก้อนก็สูงชะรูด ในขณะที่บางก้อนก็มีรูปร่างคล้ายก้อนที่ตั้งพระธาตุอินทร์แขวน อีกทั้งยังมีการสร้างเจดีย์สีทองอยู่เบื้องบน จนทำให้คนต่างถิ่นอย่างพวกเราหลงเข้าใจว่านี่คือพระธาตุอินทร์แขวน ที่ดั้งด้นเดินทางมานมัสการ แล้วหินก้อนยักษ์ที่ถูกทาสีทองจนเต็มก้อนของจริง ก็ปรากฏอยู่ริมหน้าผาเบื้องหน้าเรา

บนลานกว้างด้านใต้พระธาตุ ซึ่งเป็นจุดที่อนุญาตให้สตรีได้เข้าใกล้พระธาตุได้มากที่สุด สามารถมองเห็นหินสีทองก้อนยักษ์ตั้งหมิ่นเหม่อยู่ริมหน้าผา ที่ดูอย่างไงก็ชวนให้คิดว่า หินยักษ์ก้อนนี้น่าจะกลิ้งตกหน้าผา มากกว่าการที่ยังสามารถตั้งท้าแดดท้าลมมาได้จนถึงทุกวันนี้ ในแง่ของวิทยาศาสตร์แล้ว เหตุที่หินยักษ์ก้อนนี้ยังตั้งได้อย่างมั่นคงริมหน้าผา เป็นเพราะจุดศูนย์ถ่วงอยู่ในตำแหน่งที่มีหน้าผารองรับ

เราเดินขึ้นไปยังริมหน้าผา อันเป็นที่ตั้งของพระธาตุ ชายชาวพม่านับสิบคน ร่วมทั้งเราสองคนกำลังนำทองคำเปลวติดลงบนผิวสีทองของก้อนหินยักษ์ ซึ่งแม้ในทุกวันนี้ เหตุผลของวิทยาศาสตร์จะเป็นที่รับรู้และเข้าใจของประชาชนชาวพม่ารามัญ แต่เหตุและผลทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่สามารถทำมาปะปน หรือหักล้างความเชื่อและศรัทธาที่พวกเขามีต่อพระธาตุอินทร์แขวน ที่ตั้งอยู่ริมหน้าผาดุจพระอินทร์ทรงแขวนไว้ได้ และนี่คือ มหาบูชาสถาน สูงสุด 1 ใน 3 ที่ชาวพม่าแต่ละคนสู้เก็บเงินเพื่อจะได้มานมัสการสักครั้งในชีวิต

และในระหว่างที่เรากำลังเดินลงจากพระธาตุ เราก็พบชายพิการกำลังใช้มือค้ำไม้เท้าฝั่งละข้าง เดินทางขึ้นมานมัสการพระธาตุอินทร์แขวน หนทางไกลและความยากลำบาก จึงไม่เป็นปัญหาสำหรับศรัทธาที่แรงกล้าเลยจริงๆ

แน่นอนว่าขากลับ เราเลือกที่จะนั่งรถบรรทุกลงสู่เบื้องล่าง โดยเราต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1200 จ๊าต รวมเป็น 3000 จ๊าต สำหรับการนั่งลงมาถึงคิมปุน และที่คิมปุน เราก็ได้รถบัสกลับสู่พะโค ในเวลาบ่าย 2 การทำงานแข่งกับเวลาของเราในครั้งนี้ จึงจบลงด้วยดี

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 20.04 น.

ความคิดเห็น