เราสอบถามเส้นทางไปพระราชวังกัมโพชธานีจากร้านค้าหน้าทางเข้าชเวมอดอว์ ซึ่งแต่ละร้านล้วนจำหน่ายนกฮูก อันเป็นสัตว์มงคลของคนพม่า

จากเส้นทางที่ได้จากการสอบถาม เราเดินลัดเลาะไปตามทางสายเล็กที่เป็นบ้านเรือนของชาวบ้าน จนถึงทางเข้าพระราชวัง ซึ่งต้องเสียค่าเข้าที่แพงถึง 10 เหรียญสหรัฐในการเข้าชม แต่สำหรับคนพม่านั้นเสียค่าเข้าเพียงแค่ 200 จ๊าตเท่านั้น เจ้าหน้าที่เห็นเราลังเลว่าจะเข้าดีหรือไม่ จึงเสนอโปรโมชั่นแก่เราว่า บัตรเข้าชมนี้สามารถนำไปใช้ในการเข้าชมชเวมอดอว์ และชเวตาเลียวได้ด้วยนะ แต่โปรโมชั่นที่เสนอนี้ แทนที่จะทำให้เราซื้อบัตรเข้าชม กลับทำให้เราตัดสินใจไม่เข้า เพราะ 2 สถานที่หลังนี้ เราเพิ่งไปมาโดยไม่ต้องเสียเงินค่าเข้าสักจ๊าต

อีกเหตุผลหนึ่งที่มีน้ำหนัก และฟังดูดีกว่าการเสียดายเงิน นั้นคือพระราชวังกัมโพชธานี (Kanbawzathadi) ของพระเจ้าบุเรงนองแห่งนี้เป็นพระราชวังที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด แทนพระราชวังเดิมที่ถูกชาวยะไข่เผาวอดวายในรัชสมัยพระเจ้านันทบุเรง พระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งนั้นเป็นการสิ้นสุดการครองกรุงหงสาวดีของกษัตริย์พม่า ที่สืบราชบังลังก์ต่อเนื่องกันเพียง 3 รัชกาลเท่านั้น (พระเจ้าตะเบงชเวตี้ พระเจ้าบุเรงนอง และพระเจ้านันทบุเรง)

ผมเดินเลียบไปตามแนวกำแพงเมืองโบราณ ที่ยังคงปรากฏฐานกำแพงขนาดใหญ่ ลึกเข้าไปในพื้นที่หลังกำแพงนี้ คือพระราชวังกัมโพชธานีที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ โดยเป็นการสร้างตามแบบพระราชวังมัณฑะเลย์ ผสมกับจินตนาการ เพราะยุคสมัยของพระเจ้าบุเรงนองนั้นเก่าแก่เกินกว่าที่จะมีภาพวาดพระราชวังหลงเหลือจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ พระราชวังกัมโพชธานีที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้ สร้างทับพระราชวังเดิม ที่ยังไม่มีการขุดค้นเพื่อทำการศึกษาอย่างจริงจังโดยนักโบราณคดี จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของมหาราชพม่านามว่าบุเรงนอง ถูกปิดทับด้วยสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นมาเพียงเพื่อหวังเงินจากนักท่องเที่ยว

เรานั่งรถสามล้อประจำทางกลับสู่โรงแรม โดยรถสามล้อวนเข้าไปในตลาด แล้วจอดเรียกผู้โดยสาร ซึ่งเด็กรถตะโกนว่า โกแล้ว โกแล้ว โดยน่าจะหมายถึงสถานีขนส่ง ซึ่งเป็นปลายทาง แต่ด้วยเหตุที่รถสามล้อจอดเรียกผู้โดยสารนานมาก เราจึงได้แต่บ่นว่า ไหนบอกว่า โกแล้ว โกแล้ว แต่ไม่เห็น GO เสียที

เมื่อกลับถึงโรงแรม และทักทายผู้จัดการพอเป็นพิธี เราก็แบกเป้มุ่งตรงสู่สถานีรถไฟ แต่แทนที่เราจะได้ซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วแบบที่ชาวพม่ากำลังต่อแถว เรากลับถูกพาเข้าไปในห้องซึ่งจัดไว้สำหรับจำหน่ายให้ชาวต่างชาติเป็นการเฉพาะ ซึ่งนั่นหมายถึง โปรดเตรียมใจและเตรียมเงินไว้ได้เลย สำหรับการที่ต้องซื้อตั๋วแพงกว่าที่คนพม่าซื้อ แล้วเราก็จ่ายค่าตั๋วรถไฟไปย่างกุ้งให้กับเจ้าหน้าที่ 2 เหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงกว่าคนพม่าถึง 8 เท่า เพราะสำหรับชาวพม่าด้วยกันเอง เสียค่าโดยสารเพียง 250 จ๊าต หรือ 9 บาทเท่านั้น

รถไฟจากพะโคสู่ย่างกุ้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นขบวนรถที่วิ่งมาจากมัณฑะเลย์ โดยมีเกือบทุกชั่วโมง ตั้งแต่ตี 4 จนถึง 1 ทุ่ม ซึ่งใช้เวลาเดินทางเพียง 2 ชั่วโมง จึงถือว่าเป็นการเดินทางที่สะดวกทีเดียว อีกทั้งการนั่งรถไฟ มีข้อดีกว่าการนั่งรถโดยสารตรงที่ สถานีรถไฟของกรุงย่างกุ้งตั้งอยู่ใจกลางเมือง ในขณะที่สถานีขนส่งตั้งอยู่นอกเมือง จึงต้องเสียเงิน เสียเวลาเพื่อต่อรถเข้าไปในเมืองอีกที

แล้วรถไฟเที่ยว 12.52 น. ก็เข้าเทียบชานชลา เราขึ้นไปนั่งตามหมายเลขที่ระบุไว้บนตั๋ว รถไฟของพม่ามีสภาพอยู่ในเกณฑ์ดี การเดินทาง 2 ชั่วโมงจึงเป็นการเดินทางที่น่าประทับใจ ระหว่างทาง นอกจากบ้านเรือนที่สร้างอย่างเรียบง่าย ตามวิถีชีวิตของชนบทแล้ว ยังมีเหล่าเจดีย์และสถูปรูปทรงแปลกตา ผ่านเข้ามาสร้างสีสันให้กับเส้นทาง

แล้วจากผืนนาและทุ่งหญ้า ในเวลานี้สองข้างทางของรางเหล็กคู่ขนานได้เปลี่ยนเป็นภาพบ้านเรือนและเหล่าอาคารที่ขึ้นอย่างหนาแน่น ใช่แล้ว นี่คือกรุงย่างกุ้ง เมืองศูนย์กลางธุรกิจของประเทศพม่า และเมืองอันเป็นที่ตั้งของมหาเจดีย์ นามว่า ชเวดากอง

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.44 น.

ความคิดเห็น