เขาพนมเบญจา เทือกเขาสูงสุดของจังหวัดกระบี่ ชื่อนี้ฝังอยู่ในหัวผมมานาน สนใจอยากสัมผัสธรรมชาติพิชิตความสูงสักครั้ง แต่อุทยานฯ ปิดเส้นทางเดินป่าระยะไกลมาสักพักใหญ่ ผมเองติดตามข่าวเรื่อยมาจนกระทั่งปี 64 พอแว่วว่ามีการเปิดเป็นระบบระเบียบแล้วนะ จึงรีบโทรไปสอบถามอุทยานฯ และได้รับคำตอบอันน่าชื่นใจว่า นักท่องเที่ยวสนใจจองทริปวันไหนคะ

ปกติฤดูร้อนเหมาะกับการเดินป่าภาคใต้ เพราะหมดช่วงมรสุม แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องฝุ่น ไฟป่า ภัยร้อนแล้งเหมือนพื้นที่ภาคอื่น ดังนั้นพอเขาพนมเบญจาเปิดให้เที่ยวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ นักแบกเป้ทั้งหลายเลยเฮโลไปกันทุกสัปดาห์ ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ แน่นทุกวีคตั้งแต่ปีใหม่เรื่อยมา

เพื่อความสะดวกสไตล์คนทำงานอิสระ ผมเลยรวบรวมพรรคพวกไปวันธรรมซะเลย จันทร์ อังคาร พุธ ปลายเดือนมีนาคม เป็นกลุ่มเดียวที่ขึ้นเขาวันดังกล่าวสบายมาก

พูดกันถึงที่นี่ก่อน… พนมเบญจาคงเป็นเพียงเทือกเขาขนาดเล็กหากเทียบกับขุนเขาอื่นของภาคใต้อย่าง เขาหลวงนคร เขาบรรทัด หนำซ้ำยังเป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งมีขนาดเล็กอันดับต้นๆ ของประเทศ เนื้อที่แค่ 50 ตารางกิโลเมตร แต่ถึงอย่างนั้นก็จัดว่าเล็กดีรสโต

เทือกเขาแห่งนี้หากมองจากทางอำเภอเขาพนมจะเห็นรูปร่างซ้อนกันคล้ายผู้หญิงนอนหงาย มีหน้าตา จมูก คอ หน้าอก ชาวบ้านเก่าก่อนเรียกว่าเขานม (น่าจะสื่อถึงดูเหมือนนมสาว) แล้วทีนี้เมื่อมองมาบนเขานับไปนับมามียอดสูงๆ ห้ายอด เลยกลายเป็นพนมเบญจาฃ

ที่มาของชื่อพนมเบญจาอีกแบบคือการผูกโยงตำนานไทยๆ รายละเอียดอาจต่างกันตามแหล่งที่มาของผู้เล่า แต่สรุปใกล้เคียงกันว่าเขาแห่งนี้่คือร่างของนางเบญจา หญิงสาวผู้ชอกช้ำในความรักที่สุดท้ายมาทอดร่างนอนหงายกลายเขาหินลูกใหญ่ พนมเบญจาก็คือภูเขานางเบญจานั่นไง

จุดสูงสุดของเขาพนมเบญจาคือยอดนมสาว 1,397 เมตร ปัจจุบันไม่อนุญาตให้ขึ้นไปสุดยอด เพราะอุทยานฯ สำรวจพบว่าเป็นที่อยู่ของเลียงผา ดังนั้นเส้นเทรลที่กำหนดให้เที่ยวตอนนี้มีเส้นเดียวคือ เริ่มจากจุดสตาร์ตถึงแคมป์แรกเชิงคอนางนอน วันต่อมาขึ้นสู่แคมป์สองที่คอนางนอน (ใครเดินวันเดียวมาถึงนี่เลยก็ได้) จากนั้นจะเดินตัวเปล่าไปชมวิวที่หน้าผากนาง และวันสุดท้ายลงทางต้นน้ำตกต้นหาร ซึ่งเป็นเทรลเก่าดั้งเดิมแต่เลิกใช้ไปแล้วเพราะโหดเกิน


(1)

ทริปนี้พวกเราสมาชิก 10 คน เดินทางด้วยการจ้างรถตู้ กทม. ไปกระบี่แบบรวดเดียว ออกจากจตุจักรตอนหนึ่งทุ่ม ยิงยาวถึงกระบี่ก่อนหกโมงเช้า จัดการหาของกินให้เรียบร้อย พอสักเจ็ดโมงก็ถึงที่ทำการอุทยานฯ (น้ำตกห้วยโต้) แล้วครับ

มาถึงแล้วเตรียมตัวเองให้พร้อม รวมถึงลงทะเบียน จ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้วค่อยขึ้นรถกระบะเจ้าหน้าที่จากที่ทำการฯ อำเภอเมือง วนอ้อมไปอีกฝั่งเขาพนมเบญจา ที่บ้านต้นหาร อำเภอเขาพนม ระยะทางไม่เท่าไหร่แค่ราวๆ 65 กิโลเมตร !!! ใช้เวลานิดๆ แค่ 1.30 ชั่วโมง !!!

หายสงสัยเลยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ย้ำหนักหนาว่าให้พวกเรามาถึงที่ทำการฯ ก่อนแปดโมงเช้า (ฮา…)

เราขึ้นเป้ออกสตาร์ตใกล้สิบโมง เดินขึ้นแหลกลาญแบบไม่ต้องวอร์มขากันเลย ทางที่นี่ถือว่าชันเอาการ แถมวันที่เราไปอากาศค่อนข้างอบอ้าว เดินในป่าใต้ร่มไม้ก็จริงแต่ไม่ได้สัมผัสถึงความเย็นใดๆ เหงื่อไหลท่วมตัวเปียกปอน

เดินไปพักไปตามจังหวะความเหนื่อย ตลอดทางเห็นต้นไม้ใหญ่ให้ร้องโอ้พอสมควร และเพราะเป็นป่าช่วงหน้าแล้งจึงมีข้อดีคือเดินง่าย ตามร่องทางเรื่อยๆ เทรลชัดเจน ตั้งแต่เปิดเขามาไม่กี่เดือน มีนักพิชิตเขามากันให้ควั่กทุกสุดสัปดาห์

ผ่านมาห้าชั่วโมงนิดๆ พวกเราถึงจุดตั้งแคมป์แรก ทำเวลาได้ไม่เลว หากจะต่อไปแคมป์สองคอนางเลยก็ได้ แต่เราตัดสินใจพักกันตรงนี้แหละ สองคืนสองแคมป์จะได้บรรยากาศไม่เหมือนกัน

แคมป์แรกอยู่ในป่าพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ผูกเปลได้ กางเต็นท์ได้ แต่ที่เรียบๆ เหมาะกับการกางเต็นท์ไม่เยอะเท่าไหร่ สี่ห้าหลังก็แน่นแล้ว

ส่วนน้ำกินน้ำใช้ไม่มีปัญหาเพราะมีแอ่งน้ำซับใสแจ๋ว พกเครื่องกรอกน้ำมาด้วยกรองกินสบายหายห่วง

เวลามีมากมายสำหรับกิจกรรมชาวแคมป์วันนี้ พวกเราหุงหาอาหาร ทำกับข้าวเฮฮาตามระเบียบ


(2)

วันที่สองไม่เร่งรีบ ตื่นเจ็ดโมง กินข้าว เก็บแคมป์ ราวเก้าโมงกว่าค่อยเริ่มเดิน เจ้าหน้าที่บอกว่าวันนี้ระยะทางแค่ 2 กิโลเมตร เดินลำบากกว่าเมื่อวาน ชันกว่า อุปสรรคมากกว่า แต่ใช้เวลาเพียงไม่นาน

ชั่วโมงเดียวเท่านั้นพวกเรามาถึงแนวหน้าผาเห็นวิวกว้างเป็นครั้งแรกของทริป อากาศขมุกขมัว เที่ยวป่าหน้าร้อนได้บรรยากาศหน้าฝนอีกแล้วผม (ฮา…) ซึ่งเป็นปกติของการเดินป่า สูงมากเท่าไหร่ ชื้นมากเท่าไหร่ อากาศก็แปรปรวนแบบนี้แหละ

ตรงหน้าผาแห่งนี้เองที่น้องในทีมคนหนึ่งรู้สึกถึงอาการคันยิบๆ บริเวณขา ไม่ผิดคาดเลยเพราะเปิดมาดูปุ๊บก็เห็นเลือดแดงๆ ปั๊บ ผลงานของทากนั่นเอง ป่าพนมเบญจาเหมือนป่าใต้ทั่วไปคือมีทากตลอดปี เพียงแค่ไม่เยอะมาก ประกอบกับตอนนี้เป็นหน้าแล้งเลยเจอแค่ประปราย แต่น่ากลัวกว่าทากคือเห็บลมซึ่งที่นี่มีเยอะมาก และบางทีกว่าจะรู้ว่าโดนกัดก็ผ่านไปหลายวัน พวกเราสิบชีวิตสรุปหลังจบทริปกลับบ้านสำรวจร่างกายพบว่าเจอเห็บลมครบทุกคนครับ

เอาล่ะมาว่าถึงเส้นทางกันต่อ… จากจุดชมวิวแรก เดินเลาะเข้าป่าอีกนิดเดียวก็โผล่ถึงแนวหน้าผาคอนางนอน แคมป์ของเราในคืนนี้ บางกลุ่มอาจเดินรวดวันเดียวมานอนนี่เลยแล้วแต่ความพอใจ

บริเวณนี้เป็นช่องเขา พื้นส่วนใหญ่เป็นหินทราย กว้างขวางจริงอยู่ แต่สำหรับเต็นท์จะพบปัญหาเรื่องการลงสมอบก และต่อให้ปักลงได้ก็ไม่สุดอยู่ดี ต้องแก้ปัญหาด้วยการผูกกับก้อนหินบ้าง มัดดึงเชือกกันเองบ้าง

เราถึงจุดนี้ตั้งแต่สิบเอ็ดโมงครึ่ง แคมป์อยู่ข้างธารน้ำ ตักอาบน้ำสบาย แต่น้ำอาจไม่ใสกริ๊งเหมือนน้ำซับเมื่อวาน

ผมมัวแต่ถ่ายรูปเล่น ทำเลโอเคสำหรับการเต็นท์ริมผาเลยโดนเพื่อนจองหมด ขอขยับมาปลีกวิเวกแถวนี้แล้วกัน มองจากร่องรอยก็เป็นจุดกางเต็นท์ยามสุดสัปดาห์ที่นักท่องเที่ยวขึ้นมาพร้อมกันหลายกลุ่มแหละนะ ด้านหลังที่เห็นเมฆหมอกคลุมมิดจริงๆ คือยอดนมสาว ซึ่งปัจจุบันไม่อนุญาตให้ขึ้นไปล่ะครับ

ฟ้าเปิดๆ ปิดๆ ลมพัดหมอกลอยมาที พัดหมอกหายไปที เราใช้เวลาพักผ่อนตามอัธยาศัย ช่างเป็นทริปเข้าป่าที่ชิลเหลือเกิน

บ่ายสามโมงตรงเจ้าหน้าที่ตรงค่อยเรียกรวมพลเพื่อเดินไปชมวิวชมพระอาทิตย์ตกที่หน้าผากนาง ระยะทางกิโลเมตรเดียว ทางเดินขึ้นเขายากกว่าทุกช่วงที่เราผ่านมา แต่เพราะเป็นการเดินตัวเปล่าทำให้เบาแรงลงเยอะ

ความสูงมากขึ้น ป่าจึงเริ่มเขียวฉ่ำขึ้น พื้นที่ป่าโบราณที่พนมเบญจาอาจไม่เยอะและกว้างเหมือนป่าทางใต้หลายแห่ง แต่ก็พอมีให้ชื่นใจแหละน่า

ไฮไลท์ของเขาพนมเบญจาว่ากันว่าอยู่ที่ดอกไม้ป่าหายากอย่าง รองเท้านารีคางกบ และสิงโตพัดเหลือง ค่อนข้างโชคดีว่าเราไปถูกช่วงเวลา เลยพบเห็นเจ้าดอกไม้สวยๆ แบบนี้กับเขาเหมือนกัน

บ่ายสามโมงครึ่งขึ้นมาถึงหน้าผากนาง เป็นลานหินกว้างทีเดียว บรรยากาศขาวไปหน่อย แต่ขึ้นชื่อว่าธรรมชาติอะไรก็ดีทั้งนั้นสำหรับผม แนวภูเขาที่นี่สวยไม่ใช่เล่น

ฝั่งนี้มองเห็นอ่างเก็บน้ำคลองแห้งอยู่ไม่ไกล หากมองจากตรงนั้นมาทางนี้จะเห็นรูปลักษณ์ของเขาพนมเบญจาว่าเหมือนหญิงสาวนอนหงายอยู่ค่อนข้างชัด

เราเพลินถ่ายรูปสนุกสนานกันตามสภาพอากาศเอื้ออำนวย แต่ความหวังฟ้าจะเปิดก่อนพระอาทิตย์ตกวูบหายเมื่อลมหอบเอามวลหมอกกลุ่มใหญ่ฟุ้งจนปิดภูเขาทั้งลูกก่อนห้าโมงเย็น เราจึงตัดสินใจว่าคงได้เวลาเดินลง อยู่ไปก็ไม่เห็นอะไรแล้ว (ฮา…)

ตลอดเย็นจนค่ำหมอกยังปกคลุมขาวโพลน พวกเรานั่งอาบหมอกตากลมเย็นจนได้เวลาสมควรค่อยมุดเต็นท์ใครเต็นท์มัน ซุกถุงนอนอุ่นๆ ฟังเสียงลมโหมกระทบเต็นท์เหมือนเพลงกล่อมเข้านอน

ผมนอนอยู่ไกลไม่รู้เรื่องหรอกว่าพอกลางคืนตีหนึ่งตีสอง เพื่อนๆ ลองตื่นมาดูทางช้างเผือก และมีจังหวะโชคดีถ่ายได้สองสามภาพก่อนฟ้าจะกลับมาปิดอีกรอบ ก็ขอหยิบยืมภาพของเพื่อนมาลงให้ชมแล้วกัน


(3)

ปกติวิวจากแคมป์คอนางเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น แต่ด้วยสภาพอากาศไม่เป็นใจ พวกเราจึงตื่นมาพร้อมกับความขาวโอโม่เจิดจ้าเสียนี่กะไร ทัศนวิสัยการมองเห็นประมาณ 20 เมตร จนกระทั่งเราเก็บแคมป์ ขึ้นเป้ พร้อมเดินลง มวลหมอกยังหนาตาอยู่แบบนั้น

ขาลงคนละทางกับขาขึ้น ใช้เส้นทางแยกไปลงตรงต้นน้ำตกต้นหาร แล้วค่อยวนจนบรรจบกับจุดที่เราเริ่มสตาร์ตตอนแรก หมายถึงทริปนี้เราเดินเป็นวงกลม

ทางลงนี้เป็นเทรลดั้งเดิมของเขาพนมเบญจา (หากหาอ่านรีวิวสัก 3-4 ปีก่อนจะพบว่าเดินขึ้นกันทางนี้) เจ้าหน้าที่บอกว่าเปลี่ยนทางใหม่เพราะเส้นนี้โหดเกิน ซึ่งพอเดินลงมาเรื่อยๆ แล้วเราถึงกับกลืนน้ำลาย ขนาดลงยังทิ้งดิ่งเล่นเอาเข่าแทบพัง หากต้องขึ้นทางนี้มีหวังเดี้ยงกันไปข้าง (ฮา…)

ลงมาเรื่อยๆ จนถึงน้ำตก เจ้าหน้าที่บอกว่าแต่เดิมเป็นลำห้วยไม่ใหญ่มาก แต่เกิดเหตุน้ำป่าดินโคลนถล่มซ้ำไปซ้ำมาหลายรอบ โดยเฉพาะครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 (เสิร์ชหาข่าวในกูเกิ้ลดูได้ครับ) ทำให้สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงจนกลายเป็นร่องใหญ่และน้ำตกเหมือนที่เห็นในปัจจุบัน

ที่ผมชอบคือชั้นหินบริเวณนี้สวยแปลกตามาก แถมวิวโดยรวมยังดีอีกต่างหาก

เราออกจากแคมป์ 9.40 น. กลุ่มแรกถึงข้างล่างจุดเริ่มต้นเดินประมาณ 12.30 น. ส่วนกลุ่มสุดท้ายช้ากว่านั้นราว 30 นาที เฉลี่ยตีว่าเดินลงสามชั่วโมงเท่านั้นเอง

คนครบก็ขึ้นรถกระบะเจ้าหน้าที่ไปหาข้าวกินในหมู่บ้าน ก่อนนั่งยาวๆ กลับที่ทำการอุทยานฯ เพื่อจัดแจงสัมภาระ อาบน้ำอาบท่า (ห้องอาบน้ำที่นี่เป็นแบบตักอาบรวมเหมือนค่ายลูกเสือนะ แต่แยกห้องชาย-หญิง) จึงเป็นอันจบทริปพิชิตเขาพนมเบญจา

ในที่สุดก็ได้มาเยือน ได้เห็นในสิ่งที่อยากเห็น ได้รู้จักกับอีกหนึ่งสถานที่ที่ผมอยากทำความรู้จัก ถึงแม้เรื่องสภาพอากาศวิวทิวทัศน์จะไม่โชคดีนัก ไม่ได้เห็นแสงสวยๆ หรือทะเลหมอกเป๊ะปัง แต่ไม่มีอะไรให้ผิดหวัง

นี่คือกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ ซึ่งธรรมชาติสอนให้เรารู้อยู่เสมอว่าไม่เคยมีอะไรคาดเดาได้ในชีวิต เพียงแค่เข้าใจและยอมรับมัน ก็ไม่มีอะไรให้ต้องเป็นทุกข์แล้วล่ะ


ข้อมูลสักนิดหากอยากพิชิตพนมเบญจา

  • อช.เขาพนมเบญจา ที่ทำการฯ อยู่เขตอำเภอเมือง ส่วนทางขึ้นยอดเขาอยู่อำเภอเขาพนม ห่างกันประมาณ 70 กิโลเมตร
  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะไกล เปิดให้เที่ยวตั้งแต่ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงพฤษภาคม (เปลี่ยนแปลงตามประกาศอุทยานฯ) โดยต้องจองคิวล่วงหน้าก่อนขึ้นเขา ติดต่ออุทยานฯ โทร 075855216
  • ค่าใช้จ่ายกับอุทยานฯ นอกเหนือค่าธรรมเนียมเข้าและค้างแรมปกติ มีค่าเจ้าหน้าที่นำทาง 1,500 บาทต่อคน ต่อวัน (ใช้สองคนต่อหนึ่งกลุ่มไม่เกินสิบคน รวมค่าเจ้าหน้าที่ 6,000 บาท) ค่ารถรับส่ง ที่ทำการฯ – จุดเดิน 1,000 บาท (ต่อนักท่องเที่ยวไม่เกินสิบคนเช่นกัน)
  • ที่นี่ไม่มีลูกหาบให้บริการ หากไม่ไหวจริงๆ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเรื่องสัมภาระในราคา 1,500 บาท ต่อคน ต่อวัน โดยเจ้าหน้าที่จะช่วยแบกเฉพาะอาหารอย่างเดียวเท่านั้น และน้ำหนักไม่เกิน 15 กิโลกรัม
  • ระยะเวลาท่องเที่ยวที่อุทยานฯ กำหนดคือ 3 วัน 2 คืน เดินรวมทั้งหมดไม่เกิน 15 กิโลเมตร
  • มีสัญญาณโทรศัพท์ของ AIS และ ทรู บางช่วงบริเวณแคมป์สองและจุดชมวิวหน้าผากนาง แต่สัญญาณไม่เสถียรและไม่ดีมาก อย่าคาดหวังอะไรนัก
  • ทั้งสองแคมป์ผูกเปลได้ กางเต็นท์ได้ แต่แนะนำเปลจะสะดวกสบายกว่า
  • มีแหล่งน้ำใกล้กับทั้งสองแคมป์ มีเครื่องกรองน้ำสักเครื่องก็สบายใจหายห่วง
  • มีทากบ้าง แต่แมลงตัวร้ายต้องระวังคือเห็บลม แนะนำใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด
  • อุทยานฯ เพิ่งกลับมาเปิดเป็นระบบระเบียบ และติดขัดด้านปัญหาโรคโควิด อนาคตอาจปรับเปลี่ยน
  • ระเบียบต่างๆ ไม่เหมือนข้างต้น ติดตามข้อมูลโดยตรงกับทางอุทยานฯ


ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
https://www.facebook.com/alifeatraveller

นายสองสามก้าว / A Life, A Traveller

 วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 11.59 น.

ความคิดเห็น