เรากลับมายืนอยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอีกครั้ง หยิบแผนที่จากมือถือขึ้นมาดู พบว่าสุดถนนเลียบชายทะเลทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกนั้นมีสถานที่สำคัญตั้งอยู่ทั้งคู่ ในเมื่อเราเดินค่อนมาทางตะวันออกแล้ว จึงขอไปให้สุดขอบตะวันออกที่พระราชวังมนทาซา (Montaza Palace) เราเลือกที่จะใช้บริการรถตู้ประจำทางอีกครั้ง ด้วยระยะทางที่ไกลขึ้นค่าโดยสารต่อคนจึงเพิ่มขึ้นเป็น 4 ปอนด์ แต่นั้นก็สุดแสนถูกกับระยะทางที่ค่อนข้างไกล ซึ่งหากเดินคงใช้เวลาร่วมชั่วโมง

จากปากทางเข้าสู่ตัวพระราชวังนั้นมีระยะทางที่ค่อนข้างไกล แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเดินนั้นดูน่าเบื่อแต่อย่างไร เพราะสองข้างทางขนาบไปด้วยสวนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะต้นอินทผาลัมจำนวนมากที่มีให้เห็นไปตลอดทาง เมื่อสิ้นสุดเขตสวนเราจึงได้เห็นตัวพระราชวังขนาดใหญ่ ความสูง 3 ชั้นที่สร้างไว้อย่างอลังการ 

ประวัติการสร้างพระราชวังแห่งนี้เดิมเป็นเพียงที่พำนักสำหรับการล่าสัตว์ของ Khedive Abbas II กษัตริย์ปกครองอียิปต์ในราชวงศ์มูฮัมหมัดอารี เมื่อปีค.ศ.1892 ต่อมาในปีค.ศ.1932 กษัตริย์ Fuad I จึงมีการสร้างพระราชวังมนทาซาขึ้นเพื่อใช้เป็นพระราชวังฤดูร้อน ในรูปแบบสถาปัตยกรรมออตโตมันผสมกับฟลอเรนซ์ พร้อมสร้างหอสูงแบบอิตาเลียน เรียกว่าเป็นศิลปผสมจาก 3 ชนชาติอย่างลงตัว

เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของพระราชวังมนทาซาตั้งอยู่บนที่เนินเขาที่ยื่นออกไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นอกจากความสวยงามของพระราชวังพร้อมสวนสวยแล้ว เราจึงได้ชื่นชมความงดงามของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ทอดตัวโอบกอดเราจนเกือบ 360 องศา

แล้วก็ได้เวลานั่งรถโดยสารกันอีกครั้ง ครั้งนี้เรานั่งจากตะวันออกสุดไปยังสุดขอบตะวันตกของถนนเลียบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สู่ปลายทางที่ป้อมไคต์เบย์ (Citadel of Qaibay) โบราณสถานที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในอเล็กซานเดรีย อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของ 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ นั่นคือ ประภาคารฟารอส (Pharos Lighthouse) เพื่อใช้ควบคุมการสัญจรทางน้ำในสมัยฟาโรห์ปโตเลมีที่ 1 ซึ่งได้พังทลายลงจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปีค.ศ.1326 

จนปีค.ศ.1477 สุลต่านแอล แอชราฟ ไคต์เบย์ (Al-Ashraf Qaitbay) จึงได้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันการรุกรานจากจักรวรรดิออตโตมัน บนตำแหน่งที่ตั้งของประภาคารฟารอสเดิม โดยหินบางส่วนที่ใช้สร้างได้นำมาจากซากปรักหักพังของประภาคารฟารอส จึงถือได้ว่าป้อมไคต์บายแห่งนี้เป็นเหมือนตัวแทนของประภาคารฟารอส 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณที่หลงเหลือบางเศษเสี้ยวให้คนยุคปัจจุบันได้เห็น

ทางเดินสู่ป้อมไคต์เบย์นั้นเรียงรายไปด้วยร้านขายของที่ระลึก โดยเฉพาะจากท้องทะเล ทั้งหอยและปะการัง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพียงแห่งเดียวในเมืองอเล็กซานเดรียที่มีร้านขายของที่ระลึก นั่นจึงสะท้อนให้เห็นว่าป้อมไคต์เบย์แห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของอเล็กซานเดรีย 

แต่แล้วเราก็ซื้อตั๋วผิด แทนที่จะเข้าป้อมไคต์เบย์ เราดันซื้อตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างป้อม ซึ่งทีแรกก็งงๆเหมือนกัน เพราะจากข้อมูลที่หามา ปัจจุบันป้อมแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ทางอาวุธ แต่ทำไมภายในจึงมีแต่ซากและกระดูกของปลาโบราณ เราจึงชักชวนกันออก ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆเลย ไม่ใช่เพราะการเข้าชมเป็นทางวันเวย์ ที่ทางเข้ากับทางออกอยู่ไกลกัน แต่เป็นเพราะเรามาในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม เกือบทุกกิจกรรมจึงหยุด รวมถึงโรงเรียนก็เช่นกัน เด็กนักเรียนจึงถูกโรงเรียนพามาทัศนศึกษาจำนวนมาก และเด็กเหล่านั้นก็เข้ามาลุมเพื่อ Say Hello กับเรา โดยไม่ยอมให้เราไปไหนง่ายๆ ต่างล้อมหน้าล้อมหลัง ถามแต่ประโยคว่า What is your name? พร้อมขอถ่ายรูปด้วยราวกับเราเป็นซุปตาร์ จึงได้รู้ว่าเด็กชาวอียิปต์นั้นไม่ใช่ชอบคนแปลกหน้า หากแต่คงชอบคนหน้าแปลกแบบพวกเรา

แล้วเราก็หลุดจากวงล้อมจากเด็กๆเพื่อเข้าสู่ป้อมไคต์เบย์กันจริงๆเสียที ลักษณะโดยรวมของป้อมไคต์บายเป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐสีขาว มีความสูง 3 ชั้น เชื่อมต่อกับแนวกำแพงที่ทอดยาวไปตามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ภายในเป็นช่องทางเดินที่ค่อนข้างแคบ โอบขนานด้วยโครงสร้างที่แข็งแกร่ง นอกจากเป็นที่เก็บและที่ตั้งของอาวุธสำหรับการป้องกันศัตรูทางทะเลแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของมัสยิด ซึ่งมีความเก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของอเล็กซานเดรีย

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินที่มีลักษณะเป็นแหลมที่ยื่นเข้าไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมื่อเดินขึ้นไป ณ ตำแหน่งสูงสุดของป้อมจึงสามารถมองเห็นท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนได้กว้างไกลสุดสายตา ในเวลานี้คลื่นลมสงบ มองออกไปบนท้องทะเลมีทั้งเรือประมง และสปีดโบ๊ทจอดนิ่งอยู่นับสิบๆลำ ดูแล้วเป็นภาพที่สวยงามยิ่งนัก

แล้วผมก็เจอกับกลุ่มเด็กนักเรียนอีกหน เหตุการณ์เดิมๆเมื่อครู่ย้อนกลับมาอีกครั้ง ผมถูกรุมล้อม พร้อมกับคำถามว่า What is your name? และขอถ่ายรูปด้วย จนผมพลัดหลงจากกลุ่มเพื่อนๆ จึงรีบแซกตัวออกจากกลุ่มเด็กๆ และทำตัวเป็นผู้ใหญ่ใจร้ายไปยอมตอบคำถามและให้ถ่ายรูปอีกต่อไป เพราะคงไม่สนุกแน่ที่หากหลงกับเพื่อนๆตั้งแต่วันแรกที่มาถึง จนมาเจอเพื่อนๆอีกทีที่แนวกำแพงด้านตะวันออกของป้อม เราจึงได้ถ่ายรูปกับท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยกันเป็นการบอกลา

ในที่สุดน้องเนก็อดรนทนไม่ไหวที่จะหักห้ามใจไม่แบกปะการังกลับเมืองไทยตั้งแต่วันแรกของการเดินทาง เธอจึงเดินตรงไปต่อรองราคาปะการังที่ร้านขายของที่ระลึก จนได้ปะการังสีแดงที่เพิ่มความหนักและต้องดูแลอย่างทนุทนอมไม่ให้แตกหักไปตลอดการเดินทาง

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เวลา 14.04 น.

ความคิดเห็น