เรากลับมาเจอกับพี่น้องทรงและคนขับแท็กซี่อีกครั้งในเวลาบ่าย 2 โมงเศษ เลยจากเวลาที่นัดไว้เล็กน้อย โดยเราเดินทางกันต่อสู่ซัคคาร่า (Saqqara) อันเป็นที่ตั้งของพีระมิดขั้นบันได ต้นแบบยุคแรกของการสร้างพีระมิดของชาวอียิปต์โบราณ

ไม่รู้ว่าควรชื่นชมในความสามารถหรือขุ่นเคืองในฝีมือการขับรถของคนขับดี เพราะนอกจากการเดินทางตามข้อตกลงในการว่าจ้างแล้ว เรายังได้ความรู้สึกเหมือนเล่นเครื่องเล่นสุดหวาดเสียวในสวนสนุกเป็นของแถม เพราะบนเส้นทางสู่ซัคคาร่านั้นเป็นถนนสายแคบๆที่ค่อนข้างจะชำรุด แต่คนขับเหยียบคันเร่งเหมือนขับอยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ แถมไม่ยอมเหยียบเบรคหรือชะลอความเร็วใดๆเลยเมื่อมีรถวิ่งสวนมา ซึ่งคิดว่าไม่เฉพาะคนขับรถแท็กซี่คนนี้ที่มีพฤกติกรรมเช่นนี้ แต่น่าจะเป็นพฤกติกรรมการขับรถที่มีในคนอียิปต์ส่วนใหญ่ เพราะจากที่สังเกตดู ด้านข้างของรถแต่ละคันล้วนมีร่องลอยการเฉียวชนให้เห็นทั้งนั้น

เมืองซัคคาร่าเมื่อ 2600 ปีก่อนคริสตกาล เป็นนครแห่งสุสานจึงเป็นแหล่งพีระมิดที่เก่าแก่ที่สุดในอียิปต์ ระหว่างทางที่รถวิ่งผ่านเมื่อมองไกลออกไปจึงพบเห็นพีระมิดอีกหลายองค์ แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่ามหาพีระมิดแห่งกีซ่า แต่ก็มีความสำคัญยิ่ง เพราะถือว่าพีระมิดเหล่านี้ล้วนเป็นพีระมิดต้นแบบก่อนที่ชาวอียิปต์โบราณจะพบว่ารูปทรงพีระมิดที่เหมาะสมนั้นเป็นเช่นไหร่ ในซัคคาร่าจึงมีทั้งพีระมิดขั้นบันได พีระมิดโค้ง และพีระมิดน้อยใหญ่กระจายไปทั่ว จึงยากที่นักเดินทางที่จำกัดทั้งเวลาและเงินทองเช่นเราจะเที่ยวชมให้ครบทุกแห่ง เราจึงเลือกพีระมิดขั้นบันได (Step pyramid) เพียงแห่งเดียวที่จะไปเยือน เพราะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างมหาพีระมิดแห่งกีซ่าในเวลาต่อมา

ดูเหมือนคนขับจะมาซัคคาร่าเป็นครั้งแรก เพราะจอดถามทางเป็นระยะว่าพีระมิดขั้นบันไดนั้นอยู่หนใด แต่ด้วยวิวัฒนาการที่มี GPS ในมือถือ ผมจึงสามารถช่วยบอกทางคนขับได้ แล้วสิ่งที่บอกทางได้ดีที่สุดก็คือภาพของพีระมิดขั้นบันไดที่ตั้งตระหง่านอยู่บนทะเลทราย ซึ่งเป็นการการันตีว่าเราถึงจุดหมายแน่นอน

เราเพิ่งทราบจากคนขับรถแท็กซี่ว่าโบราณสถานในอียิปต์นั้นปิดเวลา 4 โมงเย็น แล้วนี่ก็บ่าย 3 โมงเศษแล้ว เราเพิ่งถึงประตูทางเข้าพีระมิดขั้นบันได และยังเหลือเมมฟิสอีกที่ต้องไป เพื่อทำเวลาเราคิดว่าเดินตัดตรงไปยังพีระมิดขั้นบันไดเลย แต่ก็ทำได้แค่คิด เพราะถึงพีระมิดขั้นบันไดจะอยู่ตรงหน้า แต่เจ้าหน้าที่ยังคงเข้มงวดให้เราเดินไปตามทางที่กำหนด นั้นคือต้องเดินผ่านเข้าไปในวิหาร แล้วทะลุออกไปอีกฝั่ง จากนั้นจึงเดินไปยังพีระมิดขั้นบันได

การวางผังในการสร้างพีระมิดทั้งที่กีซ่ากับซัคคาร่านั้นไม่ต่างกัน เพราะจริงๆแล้วพีระมิดนั้นไม่ได้ถูกสร้างให้ตั้งอยู่อย่างโดดเดียวกลางทะเลทราย หากแต่โดยรอบนั้นมีวิหารอีกหลายหลัง เพียงแต่ว่าวิหารเหล่านั้น ส่วนใหญ่ได้พังทลายไปตามกาลเวลา จึงทำให้ดูเหมือนพีระมิดถูกสร้างและตั้งอยู่อย่างโดดเดียว แต่สำหรับที่พีระมิดขั้นบันไดนี้ วิหารยังคงหลงเหลือโครงสร้างให้ได้เห็น ทั้งกำแพงและเสาหินที่ตั้งเรียงราย ให้ผู้มาเยือนได้คิดจินตนาการไปว่า ในอดีตเมื่อครั้นที่วิหารยังคงสภาพที่สมบูรณ์จะงดงามอลังการเพียงใด

แล้วในเวลานี้เราก็ยืนเผชิญหน้ากับพีระมิดขั้นบันได ซึ่งเป็นสุสานของฟาโรห์ดโจเซอร์ (Djoser) นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าพีระมิดนี้เองที่เป็นต้นแบบของการสร้างพีระมิดองค์ต่อๆมา โดยแต่เดิมเป็นเพียงสุสานที่ก่อด้วยหินชั้นเดียว สูงแค่ 8 เมตร ภายหลังได้มีการก่อให้สูงขึ้นไปทีละชั้น โดยสถาปนิกนามว่า อิมโฮเทป พร้อมเพิ่มความกว้างของฐานให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสามารถรับน้ำหนักของชั้นต่างๆที่สูงขึ้นไป จนมีความสูงรวม 60 เมตร แบ่งเป็น 6 ชั้นอย่างที่ปรากฏ

ในเวลานี้เราแต่ละคนเริ่มกระจัดกระจายกันอีกครั้ง เพื่อสำรวจพีระมิดขั้นบันไดในมุมที่ตัวเองสนใจ เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ๆ หินที่ก่อเป็นพีระมิดขั้นบันไดนี้มีขนาดเล็กกว่าหินที่ใช้ก่อมหาพีระมิดอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนั้นแสดงให้เห็นถึงวิศวกรรมการก่อสร้างของชาวอียิปต์โบราณที่ไม่เคยที่จะหยุดการพัฒนา

ดูจากเวลาแล้ว เราคงไม่สามารถโอ้เอ้ชมพีระมิดขั้นบันไดได้นานนัก ในเวลานี้แต่ละคนจึงกลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่รถแท็กซี่ เพราะเหลืออีกแค่ 10 นาทีก็จะ 4 โมงเย็น ดูแล้วเฉียดฉิวมากที่จะสามารถไปยังเมมฟิศได้ทัน แต่คนขับยังดูสบายอารมณ์โดยบอกว่าจากนี้อีกไม่เกิน 5 นาทีก็ถึงเมมฟิสแล้ว

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เวลา 10.24 น.

ความคิดเห็น