อย่างที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ว่า ก่อนที่อียิปต์จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวนั้น เดิมมี 2 อาณาจักรคือ อียิปต์บนกับอียิปต์ล่าง โดยใช้การไหลของแม่น้ำไนล์เป็นตัวกำหนด แต่เมื่อราว 3300 ปีก่อนคริสตกาล ฟาโรห์แห่งอียิปต์บนมีชัยเหนืออียิปต์ล่าง จึงได้รวมอาณาจักรอียิปต์ให้เป็นหนึ่งเดียว พร้อมสร้างเมืองเมมฟิส (Memphis) ให้เป็นเมืองหลวง จึงถือได้ว่าเมืองเมมฟิสที่เรากำลังจะไปนี้เป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอาณาจักรอียิปต์ ด้วยความเก่าแก่นี้เอง ทำให้บรรดาโบราณสถานเกือบทั้งหมดได้ถูกกาลเวลาทำลายลงไป แต่อย่างไรก็ตามก็ยังหลงเหลือโบราณวัตถุอีกหลายอย่างที่เก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง หนึ่งในโบราณวัตถุชิ้นสำคัญนั้นคือ รูปสลักหินขนาดใหญ่ของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ฟาโรห์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์

ระหว่างที่นั่งรถผมเกิดความสงสัยในเรื่องตำแหน่งที่ตั้งของเมืองเมมฟิส เพราะชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อว่า ทิศตะวันออกเป็นทิศของคนเป็น ในขณะที่ทิศตะวันตกเป็นทิศของคนตาย เมืองกีซ่าซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำไนล์จึงเป็นสถานที่สร้างพีระมิดอันเป็นสุสานของเหล่าฟาโรห์ หรือในยุคหลังของอาณาจักรอียิปต์โบราณแม้จะเลิกสร้างพีระมิดแล้ว แต่ก็ยังคงฝั่งพระศพของฟาโรห์ไว้ในหุบเขาแห่งกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ในขณะที่เมืองไคโร หรือเมืองธีบส์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอียิปต์โบราณต่อจากเมืองเมมฟิส ก็ล้วนตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำไนล์ทั้งสิ้น แต่เหตุใดเมืองเมมฟิศซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งแรกนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ข้อสงสัยนี้คงไม่มีคำตอบอะไร เพราะหากอยากจะได้คำตอบจริงๆคงต้องย้อนเวลาไปถามฟาโรห์เมเนส (Menes) ซึ่งนักประวัติศาสตร์สัณนิฐานว่าพระองค์คือผู้รวบรวมอียิปต์บนกับอียิปต์ล่างให้เป็นอาณาจักรเดียว และตั้งเมืองเมมฟิสให้เป็นเมืองหลวง

คนขับรถแท็กซี่ใช้เวลา 5 นาทีจริงๆในการมาถึงพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเมมฟิส ซึ่งนั่นหมายความว่าเหลืออีก 5 นาทีก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะหยุดจำหน่ายบัตรเข้าชมในเวลา 4 โมงเย็น ทีแรกผมคิดเข้าข้างตัวเองว่า กำหนดเวลาของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งแห่งนี้น่าจะเหมือนพิพิธภัณฑ์ทั่วๆไป นั่นคือจะหยุดจำหน่ายบัตรก่อนเวลาปิดอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ผู้ซื้อบัตรเข้าชมสามารถเดินชมโบราณวัตถุได้ แต่ที่คิดนั้นผิด เพราะนอกจากพิพิธภัณฑ์และเหล่าโบราณสถานในอียิปต์จะปิดค่อนข้างเร็วคือแค่ 4 โมงเย็นแล้ว เวลาปิดการจำหน่ายบัตรกับเวลาปิดการเข้าชมยังเป็นเวลาเดียวกัน ซึ่งกว่าเราจะลงจากรถและซื้อบัตรเข้าชมเสร็จก็เหลือเวลาอีกแค่ 3 นาทีก่อนที่พิพิธภัณฑ์จะปิดทำการ !

3 นาที เรามีเวลาชมโบราณวัตถุล้ำค่าที่ขุดพบในเมมฟิส นครหลวงแห่งแรกของอาณาจักรอียิปต์โบราณ เพียงแค่ 3 นาทีเท่านั้น จะมัวยืนอ่านป้ายคำอธิบายต่างๆไม่ได้แล้ว เราจึงพุ่งตรงไปในอาคารที่สร้างขึ้นครอบรูปสลักหินของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ทันที

แม้เมืองเมมฟิสจะเป็นเมืองหลวงแห่งแรก แต่เอาเข้าจริงๆโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่ขุดพบนั้นเกิดขึ้นในยุคอาณาจักรใหม่ ซึ่งในเวลานั้นเมืองหลวงได้ย้ายลงใต้ไปที่เมืองธีบส์แล้ว อย่างรูปสลักหินของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญที่อยู่ตรงหน้าเรานี้ก็เช่นกัน พระองค์เป็นฟาโรห์ที่ได้รับการยกย่องเป็นมหาราชของชาวอียิปต์ยุคโบราณในช่วงอาณาจักรใหม่ (1279 – 1213 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งหลังจากนี้บนเส้นทางแห่งการเดินทางที่ย้อนการไหลของแม่น้ำไนล์ เราจะได้รู้จักฟาโรห์รามเสสที่ 2 นี้มากยิ่งขึ้น เพราะพระองค์ได้สร้างวิหารสำคัญไว้หลายแห่ง

รูปสลักหินนี้ของฟาโรห์รามเสสที่ 2 นี้ ถูกค้นพบเมื่อปีค.ศ.1821 ในลักษณะจมอยู่ในบึงน้ำ ใกล้กับประตูทางทิศใต้ของวิหารเทพพทาห์ (Ptah Temple) โดยมีความยาวถึง 10 เมตร ที่ใช้คำว่าความยาวแทนคำว่าความสูง เพราะปัจจุบันรูปสลักหินนี้ไม่สามารถตั้งได้เหมือนเช่นอดีต เพราะส่วนขาช่วงล่างจนถึงเท้าได้พังทลายลง รูปสลักหินจึงถูกวางนอน พร้อมสร้างอาคารคลุม และทำทางเดินวนรอบ 2 ชั้น เพื่อให้ผู้มาเยือนได้มองเห็นความวิจิตรบรรจงในการสลักได้อย่างชัดเจน

นอกจากรูปสลักหินฟาโรห์รามเสสที่ 2 แล้ว ภายในอาคารยังมีโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นตั้งแสดงอยู่ แม้โบราณวัตถุเหล่าจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ก็ดูเล็กไปทันทีเมื่อเทียบกับรูปสลักหินของฟาโรห์รามเสสที่ 2

ชื่อของสถานที่แห่งนี้คือพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ฉะนั้นโบราณวัตถุอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนมากกว่า จึงจัดแสดงอยู่กลางแจ้ง เราจึงไม่รอช้าที่จะออกจากอาคารเพื่อไปชมโบราณวัตถุเหล่านั้น แต่เพียงแค่เท้าก้าวพ้นจากอาคาร เจ้าหน้าที่ก็เดินมาส่งภาษามือว่าขณะนี้ 4 โมงเย็นแล้ว ถึงเวลาปิดการเข้าชม ขอเชิญแขกผู้มีเกียรติทุกท่านรีบออกจากพิพิธภัณฑ์นี้โดยทันที เพื่อนๆดูเหมือนจะเชื่อฟังเจ้าหน้าที่โดยง่าย แต่ผมไม่เป็นเช่นนั้น เพราะรู้สึกว่าได้ชมแค่ 3 นาทีเอง ช่างไม่คุ้มกับค่าบัตรที่จ่ายไปเสียเลย จึงเดินเข้าไปขอเจ้าหน้าที่ว่าขอเดินชมต่ออีกสักหน่อย เจ้าหน้าที่ก็สุดแสนใจดี ให้ชมโบราณวัตถุต่ออีกตั้ง 5 นาที

โบราณวัตถุที่จัดแสดงอยู่กลางแจ้ง ส่วนใหญ่ก็ขุดพบจากวิหารเทพพทาห์ทั้งสิ้น นอกจากรูปสลักหินของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ที่นอนอยู่ในอาคารแล้ว ยังมีรูปสลักหินของพระองค์อีก 2 อันที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์กว่าในเรื่องส่วนประกอบของร่างกาย เพราะรูปสลักหินนี้มีครบทุกส่วนตั้งแต่หัวจดเท้า จึงสามารถตั้งตระหง่านในท่วงท่าก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้าได้ แต่สำหรับเรื่องความใหญ่โตและความวิจิตรบรรจงของงานแกะสลักนั้น เทียบกับรูปสลักหินที่นอนอยู่ในอาคารไม่ได้เลย

นอกจากนี้ยังค้นพบผนังที่สลักอักษรภาพฮีโรกลีฟิคและฐานของเสาซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นโครงสร้างของวิหารเทพพทาห์ และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญอีก 1 ชิ้น นั่นคือสฟิงซ์ แม้จะมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับสฟิงซ์ที่หน้าพีระมิดเคเฟร โดยมีความสูงแค่ราว 4 เมตรเท่านั้น แต่สฟิงซ์นี้ก็มีความพิเศษตรงที่ใบหน้า เพราะปกติใบหน้าสฟิงซ์จะถอดแบบมาจากใบหน้าฟาโรห์ผู้สร้าง ซึ่งเป็นใบหน้าของผู้ชาย แต่สฟิงซ์ตัวนี้มีใบหน้าเป็นผู้หญิง ทำให้นักประวัติศาสตร์สัณนิษฐานว่า ใบหน้านี้น่าจะเป็นใบหน้าของฟาโรห์ฮัตเชปซุค (Hatshepsut) ฟาโรห์หญิงที่มีบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของอียิปต์โบราณ ซึ่งอีกไม่กี่วันหลังจากนี้ เราจะได้รู้จักกับเธอมากยิ่งขึ้น

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565 เวลา 14.49 น.

ความคิดเห็น