เป็นไปอย่างที่คิดจริงๆ การที่คนขับแท็กซี่พาเราไปที่วิหารคาร์นัคก่อนแล้วจึงไปวิหารลักซอร์ เพื่อที่จะบอกว่า วิหารลักซอร์นั้นห่างจากสถานีรถไฟเพียงแค่ 1 กิโลเมตร เมื่อเขาส่งเราที่วิหารลักซอร์แล้ว เขาก็ขอค่ารถเลย เพราะเราสามารถเดินกลับเองได้ แต่กลายเป็นว่า เหมือนเพื่อนๆจะเต็มอิ่มกับการเที่ยววิหารคาร์นัค อีกทั้งหลายวันที่ผ่านมาก็เที่ยวไปหลายวิหาร จึงเกิดอาการเลียนกับการชมเสาโอเบลิสก์ รูปปั้นของฟาโรห์ และภาพสลักบนกำแพงวิหาร แต่ละคนจึงพร้อมใจกันบอกว่า ให้ไปส่งที่สถานีรถไฟเลยแล้วกัน วิหารลักซอร์ไม่เที่ยวแล้ว จึงมีแค่ผมเพียงคนเดียวที่ลงจากรถแท็กซี่หน้าวิหารลักซอร์

แม้จะเพิ่งผ่านวิหารคาร์นัคซึ่งเป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดในอียิปต์ ซึ่งอาจทำวิหารลักซอร์ (Temple of Luxor) ที่กำลังจะเข้าไปเยือนดูด้อยค่าลง แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะวิหารแห่งนี้ก็มีความยิ่งใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยถนนด้านหน้าเรียงรายไปด้วยรูปปั้นสฟิงซ์ซึ่งมีศีรษะเป็นมนุษย์ อย่างที่บอกว่าแต่เดิมถนนสฟิงซ์นี้เชื่อมวิหารคาร์นัคกับวิหารลักซอร์เข้าด้วยกัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียงถนนสายสั้นๆที่หน้าทางเข้าวิหารแต่ละแห่งเท่านั้น พื้นที่ระหว่างกลางกลายเป็นบ้านเรือนของผู้คน แต่ก็มีข่าวแว่วๆมาว่าทางการอียิปต์กำลังคิดโครงการที่จะฟื้นคืนถนนสายสฟิงซ์ให้กลับมาเฉกเช่นอดีต แต่ก็คงติดปัญหา 2 อย่าง อย่างแรกคือ ต้องเวนคืนที่ดินยาวกว่า 2 กิโลเมตร อย่างที่ 2 คือ คงต้องขุดค้นหาซากสฟิงซ์โบราณแล้วเร่งบูรณะเป็นการใหญ่ แต่หากทำได้จริงภาพความงามและยิ่งใหญ่ของ 2 วิหารแห่งราชธานีธีบส์ก็คงกลับมายิ่งใหญ่อลังการอีกครั้ง

วิหารลักซอร์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยฟาโรห์หลายพระองค์เหมือนกับวิหารคาร์นัค แต่หลักๆคือ ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (1391 – 1353 ปีก่อนคริสตกาล) กับฟาโรห์อีกพระองค์หนึ่งซึ่งนักท่องอียิปต์ทุกคนรู้จัก เพราะไม่ว่าวิหารแห่งไหนในประเทศอียิปต์ ล้วนมีพระนามของพระองค์เกี่ยวข้องแทบทั้งนั้น นั่นคือ ฟาโรห์รามเสสที่ 2 (1290 – 1224 ปีก่อนคริสตกาล) ทำให้วิหารนี้ประกอบด้วยวิหารย่อยๆอีก 2 วิหารคือ วิหารฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ตั้งอยู่ทางทิศใต้ กับวิหารฟาโรห์รามเสสที่ 2 ทางทิศเหนือ ซึ่งเป็นทิศทางเข้าที่ผมกำลังเดินตรงเข้าไป

แล้วผมก็ต้องหยุดชะงักกับสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาที่เห็น ไม่ว่าจะเป็นเสาโอเบลิสก์ต้นใหญ่ที่สูงแหลมพุ่งทยานสู่ท้องฟ้า และรูปปั้นขนาดใหญ่ของฟาโรห์รามเสสที่ 2 ที่ตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่งของกำแพงทางเข้า โดยรูปปั้น 2 องค์ตรงกลางที่อยู่คนละฝั่งประตูทางเข้า เป็นรูปปั้นในท่านั่งแบบเดียวกับที่วิหารอบูซิมเบล ถัดออกไปทั้ง 2 ฝั่งเป็นรูปปั้นในท่ายืน ขาซ้ายก้าวไปด้านหน้าแบบที่พบในวิหารคาร์นัค ซึ่งข้อมูลในหนังสือเมื่อหลายปีก่อนเขียนไว้ว่า มีรูปปั้นในท่ายืนเพียงแค่องค์เดียวตั้งอยู่ฝั่งขวามือ แต่ในวันนี้ทางฝั่งขวามีรูปปั้นเพิ่มเป็น 2 องค์ครบแล้ว แม้ว่าจะอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยสมบูรณ์สักเท่าไหร่ ในขณะที่ฝั่งซ้ายมีรูปปั้น 1 องค์อยู่ระหว่างการบูรณะ จึงขาดรูปปั้นเพียงแค่ 1 องค์เท่านั้น ไม่แน่ว่าอนาคตอันใกล้นักโบราณคดีอาจสามารถค้นหาชิ้นส่วนรูปปั้นที่เหลือและนำมาประกอบให้ครบเฉกเช่นอดีต 

แต่สำหรับเสาโอเบลิสก์นี่สิ ไม่รู้ว่าชาวอียิปต์ยุคปัจจุบันเห็นแล้วเกิดขัดใจแบบผมไหม เพราะแทนที่จะมีเสาโอเบลิสก์ 2 ต้นตั้งคู่กันขนาบทางเข้า กลับเหลือเพียงแค่ต้นเดียวตั้งโด่เด่ เพราะมูฮัมมัด อาลี ปาชา ผู้ปกครองอียิปต์ได้มอบเสาโอเบลิสก์ 1 ต้นจากหน้าวิหารลักซอร์แก่กษัตริย์นโปเลียน แห่งประเทศฝรั่งเศส เมื่อปีค.ศ.1829 โดยได้รับนาฬิกามา 1 เรือนไว้ประดับที่ซิทาเดลในกรุงไคโร ที่เราไปเยือนเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่จะว่าไป เสาโอเบลิสก์ต้นนั้นอาจเป็นสื่อสัมพันธไมตรีจนทำให้อียิปต์รอดพ้นจากภัยสงคราม เพราะเชื่อว่าอียิปต์ในสมัยนั้นก็คงไม่คิดจะเป็นศัตรูกับนโปเลียนที่กำลังแผ่อำนาจไปทั่วทวีปยุโรป

ลึกเข้าไปในวิหารฟาโรห์รามเสสที่ 2 ยังมีรูปปั้นของพระองค์ทั้งในท่านั่งกับท่ายืนอีกนับสิบ โดยเฉพาะรูปปั้นในท่ายืนนั้นมีทุกช่วงเสา หันมองไปทางไหนก็มีแต่สายพระเนตรของพระองค์ที่จ้องมองผู้มาเยือน และในโถงกว้างกลางวิหารมีสิ่งที่ไม่น่าจะมี เพราะวิหารนี้สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าประจำเมืองธีบส์ แต่กลับมีมัสยิดของศาสนาอิสลามตั้งอยู่บนเนินดินใจกลางวิหาร !

ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะ หลังจากสิ้นสุดการปกครองในยุคฟาโรห์ วิหารแต่ละแห่งก็ค่อยๆร้างจากผู้มาเยือน ในวันที่เทพเจ้าเริ่มจากลาจากความทรงจำของผู้คน ดินทรายก็เริ่มทับถม ไม่ใช่แค่หายไปจากความทรงจำ แต่เหล่าวิหารก็จมหายไปอยู่ใต้ดิน ในวันที่ศรัทธาและความเชื่อเปลี่ยนไป ศาสนาอิสลามเริ่มแพร่ขยายมาจากดินแดนอาหรับ บ้านเรือนของผู้คน รวมถึงมัสยิดก็เริ่มลงหลักปักฐานบนแผ่นดินที่ใต้ดินที่มีวิหารถูกฝังอยู่ เหมือนกับมัสยิดอบู เอลฮักกัก (Abu El Haggag) ที่สร้างขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 13 นี่ก็เช่นกัน ในสมัยนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าใต้แผ่นดินนี้มีวิหารลักซอร์ตั้งอยู่ แต่แม้ปัจจุบันจะมีการค้นพบและบูรณะวิหารลักซอร์ให้ฟื้นกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แต่ด้วยความเชื่อของศาสนาอิสลามที่จะไม่ทำลายหรือย้ายมัสยิดที่ถูกสร้างขึ้น จึงเป็นเหตุให้มีมัสยิดตั้งอยู่กลางวิหารอย่างที่เห็น

อย่างที่บอกว่าวิหารลักซอร์มีการสร้างต่อเติมจากฟาโรห์หลายพระองค์ โดยเป็นการขยายด้านหน้าออกไปเรื่อยๆ ฉะนั้นการเดินเข้าไปในวิหารแห่งนี้ก็จะเป็นการเดินย้อนเข้าไปในยุคสมัยที่เก่ามากขึ้นเรื่อยๆ สิ้นสุดจากวิหารฟาโรห์รามเสสที่ 2 ก็เป็นโถงเสาระเบียง (Colonnade Hall) ซึ่งมีเสาเรียงกันเป็นแถวนับสิบๆต้น คล้ายกับโถงเสาไฮโปสไตล์ ที่วิหารคาร์นัค แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่า โดยโถงเสาระเบียงนี้สร้างขึ้นโดยฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 และมีการต่อเติมเพิ่มในสมัยฟาโรห์ตุตันคาเมน โดยมีรูปปั้นขนาดเท่าคนจริงของพระองค์กับพระมเหสีตั้งอยู่

แล้วเหตุการณ์เหมือนกับที่เมืองอเล็กซานเดรียก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะขณะนี้ผมถูกห้อมล้อมด้วยกองทัพนักเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนพามาทัศนะศึกษา ทำให้ผมกลายเป็นเหมือนดาราที่ถูกเหล่าเด็กนักเรียนรุมขอถ่ายรูป พร้อมกับคำถามเดียวกันทุกคนว่า “What’s your name?” กว่าจะหลุดพ้นกองทัพเด็กนักเรียนมาได้ผมก็มาโผล่ที่วิหารโรมัน ?

ใช่แล้วครับ วิหารโรมันจริงๆ เพราะในช่วงที่อียิปต์ถูกปกครองโดยอาณาจักรโรมัน วิหารแห่งนี้ก็ถูกดัดแปลงและต่อเติมด้วยศิลปะแบบกรีก – โรมัน เห็นได้ชัดจากเสาด้านหน้าที่พาผมเข้าสู่ห้องเล็กมากมายในวิหารฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 นั้นสร้างด้วยศิลปะแบบกรีก – โรมันอย่างเห็นได้ชัด เท่านั้นยังไม่พอบนผนังบางส่วนยังมีการโบกปูนทับภาพสลักสมัยอียิปต์โบราณ แล้ววาดรูปนักบุญในศาสนาคริสต์อีก วิหารลักซอร์ที่เดินทางผ่านกาลเวลามากกว่า 3 พันปีแห่งนี้ จึงผ่านทั้งการถูกดัดแปลงเป็นโบสถ์ในศาสนาคริสต์ และถูกมัสยิดในศาสนาอิสลามสร้างทับ

แล้วผมก็มาถึงส่วนที่ลึกที่สุด ซึ่งเป็นส่วนดั่งเดิมของวิหารลักซอร์ นั้นคือวิหารฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 วิหารแห่งนี้แบ่งเป็นห้องเล็กห้องน้อยมากมาย บนผนังยังคงปรากฏภาพสลักที่คมชัด แสดงถึงการถวายเครื่องสักการะของฟาโรห์ต่อเทพเจ้า และภาพสลักที่สำคัญที่สุดคือ ภาพสลักเรือพระราชพิธีโอเป็ต ที่อัญเชิญเทพเจ้า 3 องค์แห่งเมืองธีบส์ ประกอบด้วย เทพอมุน เทพีมุต และเทพคอนซู จากวิหารคาร์นัค สู่วิหารลักซอร์

ผมออกจากวิหารลักซอร์ด้วยความเต็มอิ่มกับสถาปัตยกรรมในอดีต และความกระหายสุดๆ ดีที่ถนนด้านหน้าวิหารลักซอร์คือถนนสายหลักที่ทอดตรงไปสู่สถานีรถไฟ สองข้างทางจึงมีร้านค้ามากมาย จึงได้โอกาสที่ผมจะได้ดื่มน้ำผลไม้ พร้อมด้วยโยเกิร์ตหน้าผลไม้หลากหลาย ซึ่งให้ความสดชื่นดีแท้

หลังจากจัดการแลกเงินเพิ่มอีก 100 ดอลล่าร์กับการใช้ชีวิตอีก 2 วันในประเทศอียิปต์เรียบร้อยแล้ว ผมก็กลับมาพบเพื่อนๆที่นั่งรออยู่ที่โฮสเทล พอเห็นผมมาปุ๊บ เพื่อนๆก็ไม่รอช้าที่จะพากันไปหาอาหารมื้อเย็นที่หน้าสถานีรถไฟ มื้อนี้เรากินหรูเป็นพิเศษกับร้านอาหารซีฟู้ด แต่ราคาอาหารไม่ได้แพงอย่างที่คิด อีกทั้งยังถูกกว่าบ้านเราอีก โดยเฉพาะปลานั้นถูกมาก เพราะอียิปต์ไม่ได้มีแต่ทะเลทราย แต่มีทั้งทะเลแดงและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อาหารทะเลจึงไม่ได้ขาดแคลน แต่กลับอุดมสมบูรณ์ หากรู้ว่าอาหารทะเลของอียิปต์จะถูกขนาดนี้ เราคงไม่หลงกินแต่ไก่ทอด ไก่ย่างแบบที่ผ่านมา

6 โมงเย็น ได้เวลาเดินทางอีกครั้ง ด้วยรถไฟสู่กรุงไคโร สภาพภายในตู้โดยสารสะอาด ที่นั่งก็กว้างขวางใหญ่โต ในเวลาที่ล้อรถไฟเคลื่อนที่ ก็เป็นเวลาที่เราจะจากลาเมืองลักซอร์ หนึ่งในอดีตเมืองหลวงอันเรืองรุ่งของอียิปต์โบราณ นับถึงวันนี้ร่วมสองพันปีแล้วที่พระเจ้าได้จากลาและจางหายไปจากความเชื่อของผู้คน แต่บรรดาวิหารและโบราณสถานที่ยังคงปรากฎ จึงเป็นเสมือนสิ่งย้ำเตือนว่า ในอดีตที่พ้นผ่าน ในวันนั้นมนุษย์กับพระเจ้าเคยใกล้ชิดกันเพียงใด

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.51 น.

ความคิดเห็น