จากถนนใหญ่เราเรียกแท็กซี่พาเราไปยังพิพิธภัณฑ์ไคโรซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองริมแม่น้ำไนล์ จากที่คิดว่าคงได้นั่งรถชมตัวเมือง แต่ที่ไหนได้ กรุงไคโรนั้นมีอุโมงค์ใต้ดินที่ยาวเหยียดหลายกิโลเมตร ยังไม่เข้าเขตตัวเมืองดีนัก รถแท็กซี่ก็มุดลงอุโมงค์ ไปโผล่อีกทีก็เกือบถึงเขตเมืองเก่าอันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์

เวลาในขณะนี้ 9 โมงเศษ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมแล้ว แต่ติดที่เรายังไม่ได้กินอาหารเช้ากันเลย ร้านค้าบริเวณพิพิธภัณฑ์ก็ยังไม่เปิดให้บริการสักร้าน เราจึงพากันเดินไปยังจัตุรัสทาห์รีร์ (Tahrir Square) ซึ่งอยู่ไม่ไกล หากเปรียบเทียบกับกรุงเทพฯแล้ว บริเวณนี้ก็น่าจะเป็นลูกผสมระหว่างสนามหลวงกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ คือเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการปกครองและวงเวียนขนาดใหญ่กลางเมือง ดูจากแผนที่แล้วโดยรอบจัตุรัสทาห์รีร์มีตรอกซอกซอยมากมาย ซึ่งอย่างน้อยก็มีร้านฟาสฟู้ดตั้งอยู่ในซอยเล็กๆที่แยกออกมาจากวงเวียน มื้อเช้าเราจึงตกเป็นลูกค้าของร้านแมคโดนัลด์ด้วยความจำยอมจากเสียงร้องของกระเพาะ

เรากลับมายืนหน้าพิพิธภัณฑ์ไคโร (Cairo Museum) อีกครั้ง ในเวลานี้หน้าทางเข้าพิพิธภัณฑ์มากไปด้วยกองทัพนักท่องเที่ยว ทั้งชาวอียิปต์ ชาวต่างชาติ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ จนเริ่มงงว่าเราควรต่อแถวไหนถึงจะเป็นแถวที่ถูกต้อง แล้วเราก็ต่อผิด จึงต้องไปเริ่มต่อแถวใหม่ ซ้ำอยู่เช่นนี้ถึง 2 ครั้ง ไม่เป็นไรอยากดูของดีก็ต้องใช้ความอดทนและความพยายามกันหน่อย

แม้เราจะเดินทางในประเทศอียิปต์ตั้งแต่เหนือจรดใต้ แต่การเดินทางนี้ไม่อาจสมบูรณ์ได้เลยหากไม่ได้มาพิพิธภัณฑ์ไคโร เพราะอาคารสีส้มที่มีความสูงเพียงแค่ 2 ชั้นนี้ เป็นที่เก็บสมมัติมากมายที่เดินทางผ่านกาลเวลากว่า 120,000 ชิ้น หลากหลายมหาวิหารและสุสานที่เราไปเยือน แล้วพบเพียงเสา ผนัง และห้องโถงที่ว่างเปล่า เพราะประติมากรรมชั้นยอดที่เคยอยู่ในสถานที่เหล่านั้นถูกนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ซึ่งจริงๆแล้วทรัพย์สมบัติอาจจะมีมากกว่านี้เป็นสิบ เป็นร้อยเท่า หากทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไม่ได้ถูกกระจัดกระจายในประเทศมหาอำนาจที่เข้ายึดครองอียิปต์ในช่วงเวลาต่างๆ และไม่ได้ถูกโจรปล้นสุสานขโมยไปเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นเงินตราจากเหล่ามหาเศรษฐี

ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์มีรูปสลักหินของสฟิงซ์กับฟาโรห์ตั้งพอเรียกน้ำย่อย ซึ่งนั้นไม่ได้แค่เศษเสี้ยวของสิ่งที่แสดงภายในพิพิธภัณฑ์ เพราะทันทีที่ 2 ขาก้าวเข้าสู่ภายในอาคาร 2 สายตาก็ตื่นตะลึกกับบรรดารูปสลักหินขนาดมหึมาของเหล่าฟาโรห์ที่ตั้งเรียงรายอยู่ที่ห้องโถงกลาง โดยมีรูปสลักหินขนาดมหึมาของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (Amenhotep 3) กับพระราชินีในท่านั่ง ตั้งโดดเด่นเป็นประธานอยู่กลางห้องโถง

การจัดแสดงของพื้นที่ชั้นล่างนั้นไล่เรียงไปตามความเก่าตามแต่ละยุคสมัย โดยเป็นการเดินวนขวาตามเข็มนาฬิกา ตั้งแต่ราชอาณาจักรเก่า ราชอาณาจักรกลาง ราชอาญาจักรใหม่ ราชอาณาจักรสุดท้าย จนถึงยุคที่อียิปต์ถูกปกครองโดยฟาโรห์ที่เป็นชาวต่างชาติ ตั้งแต่ชาวนูเบียน และกรีกโรมัน

เราพยายามเดินเกาะกลุ่มไปด้วยกัน แต่สุดท้ายแค่ไม่กี่นาทีแต่ละคนก็กระจัดกระจายไปตามความเร็วในการเดิน และความสนใจที่ต่างกัน ซึ่งดูเหมือนผมจะเป็นคนเดินช้าสุดอีกแล้ว เพราะเมื่อเดินเข้าไปชมโบราณวัตถุในแต่ละห้อง เหมือนตัวเองหลุดเข้าไปอยู่ในดินแดนอียิปต์โบราณเมื่อหลายพันปีก่อน จึงค่อยๆละเลียดดูเหล่าโบราณวัตถุที่ละชิ้น ทีละชิ้น กว่าจะรู้ตัวเองอีกที เพื่อนๆก็เดินหายไปห้องจัดแสดงถัดไปแล้ว

ราชอาณาจักรเก่าอยู่ในช่วง 2650 – 2100 ปีก่อนคริสตกาล ในสมัยราชวงศ์ที่ 3 – ราชวงศ์ที่ 8 มีจุดศูนย์กลางการปกครองที่เมืองเมมฟิส กับเมืองเฮลิโอโปลิส โดยเป็นยุคสมัยที่ฟาโรห์สร้างพีระมิดเพื่อใช้เป็นที่ฝังพระศพ เหล่าโบราณวัตถุที่จัดแสดงจึงมาจากพีระมิด และซากวิหารที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีศพ สิ่งที่มีมากเห็นจะเป็นรูปสลักหินของเหล่าฟาโรห์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นพระองค์ใดก็ล้วนยืนอยู่ในท่าเดียวกัน คือขาซ้ายจะก้าวขึ้นหน้าเสมอ เพราะชาวอียิปต์เชื่อว่าการก้าวนำด้วยขาซ้ายนั้นเป็นสิ่งมงคล ในทำนองเดียวกับคนไทยที่ว่า ขวาร้าย ซ้ายดี

แล้วผมก็เจอพี่น้องทรงกำลังยืนจ้องๆมองๆหน้ารูปปั้นชายคนหนึ่งที่อยู่ในท่านั่งขัดตะหมาด จึงเดินเข้าไปทัก พี่น้องทรงบอกว่าลองดูดวงตาของรูปปั้นสิ ไม่ธรรมดา ผมจึงลองจ้องดูบ้าง จึงเกิดความรู้สึกอัศจรรย์กับดวงตาที่ทำจากวัสดุคล้ายแก้วที่วาวใส จนเหมือนรูปสลักหินเหล่านั้นสามารถกรอกตามองได้ แล้วสักครู่ไกด์คนหนึ่งก็พานักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่มาที่รูปปั้นนี้ พร้อมเปิดไฟฉายจากมือถือส่องไปที่ดวงตาของรูปปั้น ดวงตาที่วาวใสนั้นก็เรืองรองขึ้นอย่างน่ากลัว

ไม่รู้ว่ากลัวดวงตาของรูปปั้นหรือเปล่า หลังจากเปิดไฟส่องดวงตาของรูปปั้นเสร็จพี่น้องทรงก็เดินหายไปไปทันที ทิ้งให้ผมเปิดไฟส่องดวงตารูปปั้นต่อไปเพียงคนเดียว ซึ่งไม่ได้มีแค่รูปปั้นนี้รูปปั้นเดียว แต่รูปปั้นเกือบทั้งหมดที่พบในยุคสมัยราชอาณาจักรเก่า ล้วนมีดวงตาที่เรืองรองเมื่อต้องแสงไฟทุกอัน ซึ่งไม่รู้ว่าจงใจทำเช่นนี้เพื่อหวังให้โจรปล้นสุสานเกิดความกลัวหรือเปล่า

ผมเดินต่อสู่ห้องจัดแสดงในยุคราชอาณาจักรกลาง ซึ่งอยู่ในช่วง 2100 – 1650 ปีก่อนคริสตกาล ตั้งแต่ราชวงศ์ที่ 9 – 13 ยุคนี้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ทำให้ดินแดนอียิปต์เกิดการแตกแยกกันอีกหน จึงเป็นยุคที่ความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมหยุดชะงัก แต่แล้วฟาโรห์เมนตูโฮเทปที่ 2 ในราชวงศ์ที่ 11 ก็สามารถรวบรวมอียิปต์ให้เป็นปึกแผ่นได้อีกหน โดยมีเมืองธีบส์ หรือเมืองลักซอร์ในปัจจุบันเป็นเมืองหลวง โบราณวัตถุยังคงมากไปด้วยรูปสลักหินของฟาโรห์ สฟิงซ์จำนวนมาก พร้อมด้วยการยกผนังของวิหารที่มีรูปแกะสลักที่ยังคงมีความความชัดและมีสีสันมาจัดแสดง

กระทิงเปลี่ยวเที่ยวโลกกว้าง

 วันพฤหัสที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 16.42 น.

ความคิดเห็น