ใกล้จะครบรอบ 4 ปีแล้วที่เราไปเที่ยวทริป “นั่งรถไฟไปอุบลฯ” แต่ความประทับใจและความทรงจำในทริปนั้นยังคงชัดเจนอยู่ในใจของเราเสมอไม่มีวันลืม เพราะนอกจากเราจะได้ไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวแห่งต่าง ๆ ในอีสานใต้อย่างจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เรายังได้เปลี่ยนบรรยากาศมานั่งรถไฟไทยแทนการนั่งเครื่องบินอีกด้วย ซึ่งการนั่งรถไฟไปเที่ยวให้ความรู้สึกสนุก ๆ ชิลล์ ๆ ไปอีกแบบหนึ่ง วันนี้เราเลยจะมารีวิวย้อนความทรงจำทริปเที่ยวนี้ให้ทุกคนได้อ่านกันเผื่อใครสนใจจะเดินทางไปเที่ยวด้วยรถไฟกันค่ะ ^^

ในทริปนี้เราเดินทางในคืนวันศุกร์ หลังจากกินอาหารเย็นที่ร้าน “แกรนด์แสนยอด” ใกล้สะพานตากสินแล้ว แม่ พี่ และเราได้นั่งรถแท็กซี่ไปยังสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ระหว่างที่รอขึ้นรถไฟ เราก็อาบน้ำในห้องอาบน้ำของสถานีรถไฟ (เสียค่าบริการ 10 บาท) ใส่เสื้อผ้าลำลองของวันรุ่งขึ้น ส่วนแม่กับพี่ก็ขึ้นไปนั่งดื่มกาแฟที่ร้านกาแฟชั้น 2 ของสถานีรถไฟ พอถึงเวลาที่รถไฟจะออก เราทั้ง 3 คนก็เดินไปขึ้นรถไฟ ซึ่งเป็นรถไฟด่วนพิเศษ CNR ขบวนที่ 23 สายกรุงเทพฯ - อุบลราชธานี โดยแม่กับเรานั่งรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้นที่ 1 (บนอ.ป.) ส่วนพี่เสียสละแยกไปรถปรับอากาศนั่งและนอนชั้น 2 ค่ะ

พอขึ้นรถไฟ แม่กับเราก็เดินหิ้วกระเป๋าไปยังโบกี้ที่ 13 ซึ่งเป็นตู้นอนแบบห้องส่วนตัว บอกเลยว่าคือดีมาก ทั้งสวยงาม สะอาด และมีความเป็นส่วนตัวสุด ๆ ซึ่งในห้องพักมีสิ่งอำนวยความสะดวกระหว่างเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเตียง 2 เตียงทั้งบน-ล่าง (พับเก็บได้), อ่างล้างหน้าส่วนตัว, ตู้เก็บของ, โต๊ะบาร์ให้นั่งกินข้าว/ทำงาน/วางของ, จอ LED แบบ Touch Screen เพื่อบอกเส้นทาง, ปลั๊กไฟ 220 โวลต์, หลอดไฟฟ้าส่องสว่าง และระบบโทรทัศน์วงจรปิด ส่วนนอกห้องยังมีห้องน้ำและห้องอาบน้ำที่สะอาด เสียดายที่ลืมถ่ายรูป เพราะมัวแต่จัดวางกระเป๋าและให้เจ้าหน้าที่ปูเตียง-เครื่องนอน ^^ (สำหรับใครที่วางแผนจะไปเที่ยวอุบลราชธานีด้วยรถไฟ สามารถจองตั๋วได้ที่เว็บ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ดูราคาค่าตั๋วโดยคลิกลิงก์ “อัตราค่าบริการ”) จากนั้นเราก็เตรียมตัวเข้านอนเพื่อเก็บแรงเที่ยวในเช้าวันรุ่งขึ้น จนกระทั่งตอนเช้าเราก็ตื่นมาเดินไปเข้าห้องน้ำและแปรงฟัน หลังจากเข้าห้องน้ำก็ถ่ายรูปวิวและเดินไปเตรียมตัวเก็บของ-กระเป๋าค่ะ

ตอนเช้าประมาณ 6 โมง 45 นาที รถไฟก็เทียบชานชาลาสถานีรถไฟอุบลราชธานีแล้ว (ช้าไป 15 นาที) เรา 3 คนก็นั่งรถยนต์ที่เช่ามาไปเติมพลังยามเช้าที่ร้านกวยจั๊บญวนแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากสถานีรถไฟอุบลฯ มากนัก แต่จำชื่อร้านไม่ได้ ^^” ซึ่งเราก็สั่งกวยจั๊บญวนมาคนละชาม พอกินเสร็จก็เริ่มเดินทางไปเที่ยว วัดพระธาตุหนองบัว” กันก่อนเลยค่ะ

“วัดพระธาตุหนองบัว” เป็นวัดสำคัญและสวยงามในจังหวัดอุบลราชธานีที่พุทธศาสนิกชนชาวเมืองอุบลฯ ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศาสนสถานหรือศูนย์รวมจิตใจที่สำคัญเมื่อปี พ.ศ.2498 ซึ่งภายในวัดประดิษฐาน “พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์” เจดีย์องค์ใหญ่ที่จำลองแบบมาจากเจดีย์พุทธคยาในประเทศอินเดีย สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2500 เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์การครบรอบ 25 ศตวรรษของพระพุทธศาสนา โดยองค์พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ถือเป็นไฮไลต์หรือจุดเด่นของวัดแห่งนี้เลยก็ว่าได้ค่ะ

เมื่อเข้าไปด้านในขององค์พระธาตุเจดีย์แล้วจะเห็นพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุไว้ในสถูปทรงสี่เหลี่ยมลงรักปิดทองศิลปะอินเดียแบบปาละ สลักลายเรื่องพระเจ้า 500 ชาติเรียงเป็นแถวแล้วคั่นแถวด้วยลายกลีบบัวอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม และมีพระพุทธรูปประดิษฐานรอบสถูปทั้งสี่ด้าน นอกจากนั้นยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองอุบลฯ ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้สักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลค่ะ

หลังจากกราบไหว้พระบรมสารีริกธาตุและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองอุบลฯ ในองค์พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ก็เดินออกมาชม “รูปปั้นฉัพยาปุตตะ” หรือพญานาคสีรุ้งองค์ใหญ่ 2 องค์มีนามว่า “ท่านปู่กริชกรกต” กับ “ท่านย่ามณีเกตุ” ที่ประดิษฐานไว้คู่กัน ซึ่งพญานาคฉัพยาปุตตะหรือพญานาคสีรุ้งเป็นหนึ่งในสี่ของตระกูลพญานาค โดยเจ้าอาวาสดำริให้สร้างขึ้นตามที่นิมิตเห็นว่ามีงูใหญ่สีรุ้งมาอาศัยอยู่บริเวณวัดพระธาตุหนองบัวแห่งนี้นั่นเองค่ะ

จากนั้นเรานั่งรถเดินทางต่อไปยัง “พิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดภูถ้ำพระศิลาทอง” หรือ “พิพิธภัณฑ์ตำบลเจียด” ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดถ้ำพระศิลาทอง อำเภอเขมราฐ เพื่อชมวัตถุโบราณหรือหลักฐานทางโบราณคดี ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ชาวบ้านนาหนองเชือกกับชาวตำบลเจียดและกรมศิลปากรร่วมมือร่วมใจกันสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2551 โดยภายในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่มีอายุนานนับพันปี เช่น กลองมโหระทึก, ขวานสำริดรูปรองเท้าบู๊ต, กำไลข้อมือลายเกลียวเชือก, เครื่องปั้นดินเผา รวมไปถึงศพหรือโครงกระดูกมนุษย์ที่ถูกฝังไว้ในภาชนะดินเผาทรงกลมขนาดใหญ่ พร้อมทั้งมีแผ่นป้ายความรู้เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์และวัตถุโบราณแต่ละประเภท นอกจากนั้นยังมีข้าวของเครื่องใช้สมัยโบราณที่ชาวบ้านบริจาคมาจัดแสดงอีกด้วยค่ะ

ชมวัตถุโบราณภายในพิพิธภัณฑ์ชุมชนวัดภูถ้ำพระศิลาทองหรือพิพิธภัณฑ์ตำบลเจียดแล้วก็ถึงเวลาอาหารกลางวันพอดี เราก็นั่งรถไปกินที่ร้านอาหาร “บ้านกงพะเนียง” ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเขมราฐ นอกจากจะเป็นร้านอาหารแล้ว ที่นี่ยังเปิดเป็นรีสอร์ทให้เข้าพักด้วย บรรยากาศดีมาก เพราะทางด้านหลังร้านติดริมแม่น้ำโขง แต่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ปิดกิจการไปแล้วหรือยัง โดยเราสั่งต้มยำปลาคังมะพร้าวอ่อน, ปลากงพะเนียง และหมูสามชั้นทอดน้ำปลา รสชาติรวม ๆ อร่อยดีค่ะ

เติมพลังยามบ่ายแล้ว เราเดินทางไปชมลานพระขาวที่ “วัดบุ่งขี้เหล็ก” ซึ่งวัดแห่งนี้มีชื่อเดิมว่า “วัดสังวรวนาราม” ต่อมาหลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร (พระครูสุนทรพัฒโนดม) เจ้าอาวาสในขณะนั้นได้สร้าง / บูรณะขึ้นใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดบุ่งขี้เหล็ก” จนกระทั่งวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2550 วัดบุ่งขี้เหล็กได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ด้วยความที่วัดนี้รักษาความสะอาดดีมากจึงได้รับเกียรติบัตรรางวัลของโครงการ “อุบลเมืองสะอาด ราชธานีอีสาน” เมื่อปี พ.ศ.2553 ค่ะ

ไฮไลต์หรือจุดเด่นสำคัญของวัดบุ่งขี้เหล็กคือ “ลานพระขาว” ซึ่งเป็นลานที่มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาวจำนวนมากถึง 56 องค์ตั้งประดิษฐานวางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบสวยงาม โดยชาวบ้านและผู้เลื่อมใสศรัทธาได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้น ถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพกันอย่างมากมาย นอกจากนั้นยังมี “เจดีย์พระศรีอริยเมตตรัย” ที่เป็นพระมหาเจดีย์รูปทรงสูงใหญ่สวยแปลกตาต่างจากเจดีย์ทั่วไปคือ ผนังด้านนอกทาด้วยสีทองสูงทั้งหมด 7 ชั้นตั้งอย่างโดดเด่นบริเวณกลางวัด ที่สำคัญพระมหาเจดีย์องค์นี้สร้างเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี 4 เดือนเท่านั้นด้วยความร่วมมือร่วมใจและความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านชาวบ้านมีต่อหลวงปู่จันทร์หอมนั่นเอง เสียดายที่เราไม่ได้ชมและถ่ายรูปพระมหาเจดีย์องค์นี้ เพราะมัวแต่ชื่นชมและถ่ายรูปพระพุทธรูปปางมารวิชัยเพลินไปหน่อยค่ะ 😅😅😅

ชมลานพระขาวที่วัดบุ่งขี้เหล็กแล้ว เราก็เดินทางต่อไปยัง “หาดทรายสูง” ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงในบริเวณบ้านลาดเจริญ อำเภอเขมราฐ ซึ่งหาดทรายสูงเป็นหาดทรายน้ำจืดขนาดใหญ่ที่เกิดจากกระแสน้ำของแม่น้ำโขงไหลพัดพาดินทรายมาสะสมไว้ในช่วงน้ำขึ้นและกลายเป็นชายหาดในช่วงน้ำลง นอกจากนั้นกระแสลมยังพัดพาตะกอนทรายมากองทับถมรวมกันไว้จนเกิดเป็นเนินสันทรายหรือหน้าผาทรายเตี้ย ๆ ทำให้แลดูคล้ายทะเลทรายขนาดย่อม พอเดินลงไปยังเนินสันทรายด้านล่างก็จะพบแอ่งน้ำไหลกับแนวโขดหินที่ช่วยให้หาดทรายแห่งนี้สวยงามน่ามองมากยิ่งขึ้นค่ะ

จากนั้นเราเดินทางต่อไปยัง แก่งชมดาว (หาดชมดาว) ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหาดทรายสูงมากนัก ซึ่งแก่งชมดาวเป็นแนวหาดหิน/แก่งหินที่เกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำทอดตัวยาวไปหลายร้อยเมตร มีลักษณะคล้ายสามพันโบก แต่ต่างกันตรงที่โบกหรือแอ่งน้ำมีมากกว่าและใหญ่กว่านั่นเอง โดยแก่งชมดาวมีจุดเด่นที่น่าสนใจหลายจุดด้วยกันค่ะ เช่น หินชมนภา, บิ๊กโบก และถ้ำตาอ้วน เป็นต้น

พอชมวิวสวย ๆ ที่แก่งชมดาวแล้วก็เดินทางไปเช็กอินเข้าที่พักที่ “บ้านสวนณัฐชนา” ซึ่งห้องพักสะอาด น่าพัก และสะดวกสบาย เหตุผลในการพักที่นี่ก็เพราะอยู่ใกล้สามพันโบกที่จะไปเที่ยวในเช้าวันรุ่งขึ้นนั่นเอง (ภาพที่เห็นด้านบนนี้เป็นภาพหน้าห้องพักที่ถ่ายในช่วงค่ำ ๆ) หลังจากเช็กอินแล้วก็จัดกระเป๋านิด ๆ หน่อย ๆ ก่อนออกไปกินอาหารเย็นที่ร้านอาหาร “ครัวสามพันโบก” ตั้งอยู่ใกล้กับสามพันโบก วิวสวยดี มองออกไปก็เห็นสามพันโบก ส่วนกับข้าวรสชาติโอเคเลย แต่เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายรูปกับข้าวที่สั่งมาค่ะ 5555

หลังจากกินอาหารเย็นจนอิ่มแล้วก็ไปเดินเล่นให้ท้องย่อยที่ “ถนนคนเดินเขมราษฎร์ธานี” ก่อนกลับเข้าที่พัก ซึ่งตลอดเส้นทางถนนคนเดินเป็นชุมชนบ้านไม้เก่าแก่มีอายุมานานกว่า 200 ปี สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเขมราฐบริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยร้านค้าต่าง ๆ มากมายตั้งซุ้มกันขายอาหาร, สินค้าพื้นบ้านพื้นเมือง และของที่ระลึกกันอย่างคับคั่ง นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงดนตรี, ศิลปะ, ภาพถ่ายเก่าแก่ของชุมชนเขมราฐในอดีต และการแสดงชุดพื้นบ้านหรือขบวนฟ้อนรำของชาวเขมราฐที่ออกมาฟ้อนรำอย่างสนุกสนาน พอเดินซื้อของจนเหนื่อยแล้วก็เดินทางกลับเข้าที่พักและอาบน้ำ นอนค่ะ

วันรุ่งขึ้นหลังจากทำธุระส่วนตัว เก็บกระเป๋า และเช็กเอาท์ออกจากที่พักแล้วก็เดินทางไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวสุด Unseen ยอดนิยมอย่าง “สานพันโบก” ที่ไม่ว่าใครเดินทางมาเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีจะต้องมาเที่ยวชมที่นี่ ซึ่งสามพันโบกเปรียบเสมือนแกรนด์แคนยอนของเมืองไทย เนื่องจากแก่งหินจะเผยโฉมให้เห็นเฉพาะในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น และแก่งหินเหล่านี้จะมีโบกหรือแอ่งน้ำน้อยใหญ่ที่เกิดจากการกัดเซาะของกระแสน้ำหรือแรงน้ำวน เมื่อนับโบกหรือแอ่งน้ำแล้วมีมากกว่า 3,000 แอ่ง จึงเป็นที่มาของชื่อสามพันโบกนั่นเองค่ะ (คำว่า “โบก” ในภาษาลาวหรือภาษาอีสาน แปลว่า “แอ่งน้ำ”)

สามพันโบกมีจุดเด่นที่น่าสนใจอย่างแอ่งน้ำและแก่งหินต่าง ๆ ที่ถูกน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นรูปร่างต่าง ๆ สวยงามแปลกตา เช่น รูปมิกกี้เมาส์, รูปหัวใจ, รูปถั่วลันเตา, รูปดาว, รูปหัวฮิปโป, รูปหัวสุนัข, รูปหนู, รูปเต่า, รูปวงรี เป็นต้น แต่ไฮไลท์เด่นที่สุดอยู่ที่สระน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่กลางลานหินอย่าง “บุ่งน้ำใส” หรือ “สระมรกต” เพราะไม่ว่าจะเข้าสู่ฤดูไหน น้ำในสระแห่งนี้ก็ยังเป็นสีเขียวมรกต โดยน้ำจะใสที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม และส่วนที่ทำให้ดูน่ามหัศจรรย์ที่สุดเลยก็คือต่อให้แม่น้ำโขงจะเพิ่มหรือลดระดับน้ำอย่างไร ระดับน้ำในสระมรกตก็ยังคงที่และเต็มโบกอยู่เสมอค่ะ

หลังจากชมสามพันโบกแล้วก็เดินทางไปชม “เสาเฉลียง” กันต่อ ซึ่งเสาเฉลียงเป็นแท่งเสาหินทรายขนาดใหญ่ที่มีรูปทรงคล้ายดอกเห็ด บางต้นเกิดจากน้ำกัดเซาะผุกร่อนและลมพัดพาต่อเนื่องยาวนานกว่าร้อยล้านปี โดยแท่งเสาเฉลียงมีทั้งหมด 3 แท่ง แต่ละแท่งจะมีความสูงแตกต่างกันคือ แท่งเสาสูงที่สุดจะสูงจากระดับพื้นหินที่แท่งหินตั้งอยู่ประมาณ 7 เมตร กับแท่งเสาเตี้ยจะสูงประมาณ 5 เมตร และมีแผ่นหินหนาขนาดใหญ่ปลายด้านหนึ่งวางอยู่บนพื้น ส่วนอีกด้านหนึ่งมีเสาเตี้ย ๆ ค้ำยันค่ะ

นอกจากที่นี่จะมีแท่งเสาหินทรายแล้วยังมี “ลานหินแตก” ที่เป็นจุดเด่นน่าสนใจตั้งอยู่บริเวณใกล้กันถัดจากเสาเฉลียงขึ้นไปทางเนินเขา ซึ่งลานหินแตกเกิดจากเปลือกโลกยกตัว ทำให้ชั้นหินโก่งงอและเกิดรอยเลื่อน/รอยแตก โดยมีลักษณะเป็นแนวหรือร่องคล้ายกับแผ่นดินแยกตัวออกจากกัน มีความกว้าง ยาว และลึกประมาณ 0.5 x 66 x 4 เมตรค่ะ

ชมเสาเฉลียงแล้วเราก็นั่งรถขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์สวย ๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่ “อุทยานแห่งชาติผาแต้ม” กันต่อ ซึ่งอุทยานแห่งชาติผาแต้มเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแม่น้ำโขงกั้นพรมแดนทั้ง 2 ฝั่งระหว่างไทย-ลาว และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตกที่สวยงามเป็นแห่งแรกของไทย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชมพระอาทิตย์ตก ก็สามารถชมทัศนียภาพด้านล่างที่มีแม่น้ำโขงไหลสลับโค้งไปมาสวยงามไปอีกแบบค่ะ

ด้วยความที่ต้องเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานีให้ครบทุกแห่ง ประกอบกับเคยเดินทางมาเที่ยวชมที่นี่เมื่อประมาณปี 2559 เลยไม่ได้เดินลงไปชมภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุประมาณ 3,000 - 4,000 ปี เที่ยวชมได้แค่วิวข้างบนเท่านั้น ส่วนภาพที่เห็นด้านบนคือภาพที่ไปมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่เสียดายสุดตรงที่ไม่ได้ไปชมน้ำตกแสงจันทร์หรือน้ำตกลงรู เพราะไปในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี่แหละ ซึ่งน้ำตกแสงจันทร์หรือน้ำตกลงรูนั้นสามารถเที่ยวชมได้เฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนมกราคมเท่านั้นค่ะ

พอชมวิวสวย ๆ ที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มเสร็จก็แวะไปกินอาหารกลางวันเพื่อเติมพลังยามบ่ายที่ร้าน “แพอารยา” ซึ่งคนที่มากินจะต้องเดินลงบันไดและข้ามสะพานไม้มายังแพร้านอาหาร บรรยากาศดี เพราะอยู่ริมแม่น้ำโขง โดยเราสั่งทอดมันปลากราย, ข้าวผัดกุ้ง และกุ้งแม่น้ำโขง รสชาติโดยรวมอร่อยดีค่ะ

หลังจากกินอาหารเที่ยงแล้วก็นั่งรถไปอีกนิดเพื่อชม “แม่น้ำสองสี” กันต่อ ซึ่งแม่น้ำสองสีเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แม่น้ำโขงกับแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกันบริเวณปากมูล ทำให้เห็นสีของแม่น้ำทั้งสองสายแตกต่างกันอย่างชัดเจนและจะผสมกลมกลืนเป็นสีเดียวกันก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง โดยแม่น้ำมูลเป็นน้ำสีใสคล้ายสีคราม ส่วนแม่น้ำโขงเป็นน้ำสีขุ่นคล้ายสีปูน เนื่องจากมีฝุ่นตกตะกอนและสะสมอยู่มาก เรียกกันอย่างง่าย ๆ ว่า “โขงสีปูน มูลสีคราม” ค่ะ

ชมวิวแม่น้ำสองสีแล้วจึงนั่งรถเดินทางต่อไปยัง “เขื่อนสิรินธร” ซึ่งเขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ประเภทหินถมแกนดินเหนียวที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ในหลายด้าน เช่น ด้านชลประทาน, ด้านอุทกภัย, ด้านประมง, ด้านคมนาคม และด้านการท่องเที่ยว โดยเราชมวิวแค่บริเวณสันเขื่อนและสวนสิรินธรเท่านั้น ไม่ได้นั่งเรือเข้าไปในพัทยาน้อยหรืออ่างเก็บน้ำด้านในเขื่อนค่ะ

ชมวิวสวย ๆ บริเวณสันเขื่อนสิรินธรแล้วก็นั่งรถเดินทางต่อไปยัง “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” หรือ “วัดเรืองแสง” บนเนินเขาสูง เพื่อรอชมต้นไม้เรืองแสงในตอนกลางคืน ซึ่งไฮไลต์ของวัดแห่งนี้คือ “ต้นไม้เรืองแสง” หรือ “ต้นกัลปพฤกษ์” ที่เป็นลวดลายจิตรกรรมฝาผนังอยู่ทางด้านหลังพระอุโบสถได้ทาสารฟลูออเรสเซนต์หรือสารเรืองแสงไว้รอบ ๆ ต้น ทำให้ต้นไม้เรืองแสงสีเขียวสวยงามที่สามารถเห็นได้เฉพาะในช่วงเวลากลางคืน โดยเป็นฝีมือการออกแบบของช่างคุณากร ปริญญาปุณโณ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากต้นไม้แห่งชีวิตในภาพยนตร์เรื่องอวตาร ด้วยความที่เรามาถึงวัดในช่วงบ่ายแก่ ๆ เย็น ๆ เลยถ่ายรูปวิวสวย ๆ บริเวณรอบวัดไปพลาง ๆ ก่อนค่ะ

พอพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว แสงสีเขียวของต้นกัลปพฤกษ์ด้านหลังพระอุโบสถเริ่มเรืองแสงสีเขียวขึ้นเรื่อย ๆ ตัดกับสีท้องฟ้าสวยงามจนต้องถ่ายภาพแบบรัว ๆ ยิ่งถ้ามาชมในช่วงคืนเดือนมืดก็จะยิ่งเห็นทั้งต้นไม้เรืองแสงและดวงดาวส่องแสงสุกสกาวเต็มท้องฟ้ารายล้อมพระอุโบสถได้อย่างชัดเจนและสวยงามมากขึ้นค่ะ

หลังจากชมต้นไม้เรืองแสงแล้วก็เดินมากราบไหว้พระประธานที่อยู่ภายในพระอุโบสถสีปัดทอง ซึ่งพระประธานคล้ายกับพระพุทธชินราชในจังหวัดพิษณุโลก เพียงแต่จะไม่มีส่วนรัศมี โดยฉากหลังทำเป็นต้นโพธิ์และติดด้วยแผ่นพระทองไว้ตรงเบื้องบนค่ะ

เมื่อชมต้นไม้เรืองแสงที่วัดภูพร้าวแล้วก็นั่งรถไปกินอาหารเย็นเป็นร้านข้าวต้มข้างทางร้านหนึ่ง แต่จำชื่อร้านไม่ได้ 😅😅😅 หลังจากกินข้าวเสร็จก็นั่งรถไปเช็กอินเข้าที่พักที่โรงแรม วี โฮเทล อุบลฯ” และอาบน้ำนอน

รุ่งเช้าหลังจากจัดการธุระส่วนตัวและเช็กเอาท์ออกจากโรงแรมแล้วก็เดินทางข้ามจังหวัดไปยังจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อชมปราสาทขอมที่ “วัดสระกำแพงใหญ่” ซึ่งวัดสระกำแพงใหญ่มี “ปราสาทขอม” เป็นปราสาทหินขนาดใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดและเป็นโบราณสถานอายุกว่า 1,000 ปี นอกจากนั้นภายในพระอุโบสถยังประดิษฐานรูปหล่อปั้นองค์ใหญ่ของ “หลวงปู่เครื่อง สุภัทโท” อดีตเจ้าอาวาสวัดสระกำแพงใหญ่และเป็นเกจิชื่อดังของจังหวัดศรีสะเกษนั่นเองค่ะ

ชมปราสาทขอมและรูปหล่อปั้นองค์ใหญ่ของหลวงปู่เครื่อง สุภัทโทที่วัดสระกำแพงใหญ่แล้วก็เดินทางไปชมปราสาทบ้านปราสาทที่เป็นจุดเด่นของ “วัดปราสาทพนาราม” จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งปราสาทบ้านปราสาทเป็นปราสาทก่ออิฐ 3 หลังที่ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นมาในช่วงราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อประดิษฐานเทพเจ้าตรีมูรติตามคติความเชื่อศาสนาพราหมณ์ โดยชาวบ้านถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่น่าเคารพสักการะและเชื่อกันว่าหากมาขอพร บนบานก็จะสมหวังดังปรารถนานั่นเองค่ะ

จากนั้นก็นั่งรถเดินทางกลับเข้าจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อกินร้านอาหารเวียดนามเก่าแก่ชื่อดังที่ร้าน “อินโดจีน” ที่เปิดมานานกว่า 70 ปี ตกแต่งร้านด้วยสไตล์วินเทจ มีทั้งแบบ Open Air และห้องแอร์ ซึ่งเมนูอาหารของร้านเป็นรสชาติต้นตำรับ มีเมนูเด็ดหลายเมนู โดยเราสั่งยำหมูยอ, ข้าวเกรียบปากหม้อญวน, กุ้งพันอ้อย และกวยจั๊บญวน รสชาติรวม ๆ คืออร่อยค่ะ ชอบทุกเมนูจริง ๆ 5555

กินอาหารเที่ยงเสร็จก็แวะซื้อของฝากอย่างพวกหมูยอที่ร้านต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เพื่อฆ่าเวลาก่อนนั่งรถต่อไปยังสนามบินอุบลราชธานี พอนั่งรถไปถึงสนามบินแล้วก็คืนรถเช่าให้กับเจ้าของรถและเดินเข้าสนามบินเพื่อเช็กอินขึ้นเครื่องที่เคาน์เตอร์ เมื่อเช็กอินแล้วก็นั่งเล่นสักพักใหญ่ ๆ บริเวณเคาน์เตอร์เช็กอินและประตู Gate เพื่อรอขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพฯ จนกระทั่งถึงเวลาขึ้นเครื่องก็เข้าแถวขึ้นเครื่อง ระหว่างเครื่องบินทะยานสู่ท้องฟ้ากลับถึงกรุงเทพฯ ที่สนามบินดอนเมืองก็ถ่ายรูปวิวสวย ๆ ยามค่ำคืนเบื้องล่าง เดินทางเพียงชั่วโมงเศษ ๆ ก็ถึงกรุงเทพฯ อย่างปลอดภัยค่ะ เฮ้ ๆๆ!!! 😊😊😊


รีวิวทริปเที่ยว “นั่งรถไฟไปอุบลฯ” ม่วนซื่นแบบชิลล์ ๆ สำหรับใครที่อยากลองเปลี่ยนบรรยากาศเที่ยวเมืองอุบลฯ ด้วยรถไฟล่ะก็...ลองเที่ยวกันดูนะคะ สนุกไปอีกแบบเหมือนกัน หรือถ้านึกไม่ออกว่าเมืองอุบลฯ มีสถานที่เที่ยวที่ไหนบ้าง? นอกจากสถานที่เด่น ๆ อย่างสามพันโบก อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และวัดภูพร้าว สามารถเข้าไปอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ “ปักหมุดเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวเมืองอุบลฯ ที่คุณไม่ควรพลาด” ค่ะ ^^

Windy_love_Travel หญิงสาวผู้รักการท่องเที่ยว

 วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 เวลา 19.13 น.

ความคิดเห็น