ออกไปเรียนรู้วิถีชุมชนชาวเขาเผ่าม้งและลาหู่ ณ ลันเจีย ลอดจ์ อ.เชียงของ จ.เชียงราย


ออกไปมองฟ้าที่กว้างใหญ่..

ให้ได้กลิ่นดินที่ลมนั้นพัดเข้ามา..


ในระยะหลังมานี้.. หลายๆ คนคงได้รู้จัก และได้ยินคำว่า การท่องเที่ยววิถีชุมชน กันมาบ้างแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่น่าสนใจมาก เพราะในแต่ละชุมชนก็ต่างมีเสน่ห์ และเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันไป มีความหลากหลายของวัฒนธรรมในแต่ละท้องที่ที่น่าค้นหา ชวนให้เข้าไปสัมผัส ซึ่งก็มีบางเรื่องราวที่ได้ผ่านหูผ่านตาไปบ้างจากสื่อต่างๆ และ ก็ยังมีอีกมากมายหลายเรื่องราวเช่นกันที่ไม่ทราบมาก่อน ซึ่งก็เป็นโอกาสที่ดีที่ได้เดินทางออกไปเรียนรู้..

ครั้งนี้.. ผมได้มีโอกาสร่วมเดินทางไปเรียนรู้วิถีชุมชน กับ Local Alike ร่วมกับ Blogger อีก 3 ท่าน ในเส้นทาง ลันเจีย ลอดจ์ โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วม โดยจะไปสัมผัสกับวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งและลาหู่ ที่อาศัยอยู่ใน หมู่บ้านกิ่วกาญจน์ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น เดินชมวิถีชีวิตชาวเขาเผ่าม้งและลาหู่ การทำผ้าบาติก ชมบ้านหมอผี ชิมชาออแกนิก กิจกรรมเดินป่า ปลูกป่าตามโครงการพระราชดำริ เป็นต้น


รู้จัก กับ Local Alike

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ Local Alike กันก่อนนะ.. ซึ่ง Local Alike เป็นบริษัทที่จัดทัวร์ท่องเที่ยว ด้วยการประสานความร่วมมือกับชาวบ้านในชุมชน โดยให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบโปรแกรมทัวร์ สามารถนำเที่ยวเองได้ และ การท่องเที่ยวในรูปแบบของ Local Alike จะคำนึงถึงความยั่งยืนเป็นหลัก ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมดจะเป็นการบริหารจัดการโดยชุมชนเอง และ Local Alike เป็นผู้ที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน

ดังนั้น คนที่ต้องบริหารจัดการทั้งหมด ก็คือ ตัวชุมชนเอง ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับตามมาก็คือ การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในชุมชน รวมถึงการเข้าไปช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมวัฒนธรรมในชุมชนนั้นๆ อีกด้วย

นอกจากเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนชาวเขาเผ่าม้งและลาหู่ ณ หมู่บ้านกิ่วกาญจน์ ที่เกิดขึ้นจากการจับมือกันระหว่าง Local Alike และ asian oasis แล้ว ก็ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนอื่นๆ เป็นรูปแบบแพคเกจท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดสามารถเข้าไปดูได้ทางเว็บไซต์ ของทาง Local Alike ได้


จาก เมืองหลวง สู่ เหนือสุดแดนสยาม

เริ่มต้นเดินทางจาก สนามบินดอนเมือง ในช่วงเช้า ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย สู่เหนือสุดแดนสยามที่ จ.เชียงราย

ใช้เวลาราวชั่วโมงกว่า ก็เดินทางมาถึง สนามบินแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จากนั้นจึงย้ายสัมภาระขึ้นรถตู้กันต่อ โดยจะเดินทางมุ่งหน้าไปยัง อ.เชียงของ ซึ่งตลอดเส้นทางระหว่าง ตัวเมืองเชียงราย สู่ อ.เชียงของ นั้นสภาพถนนหนทางดีมาก ไม่ค่อยคดเคี้ยวให้น่าวิงเวียนชวนเมารถสักเท่าไหร่ จะมีเพียงช่วงท้ายที่เข้าสู่หมู่บ้านกิ่วกาญจน์เท่านั้น ที่เส้นทางจะแคบ และชันบ้าง จากตัวเมืองเชียงราย มาถึงจุดหมายปลายทางในวันนี้ ที่ ลันเจีย ลอดจ์ (Lanjai Lodge) ก็ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง


ลันเจีย ลอดจ์ โอบกอดธรรมชาติและขุนเขา

เมื่อรถตู้ได้จอดสนิทที่ลานจอดรถเล็กๆ ตรงข้ามประตูทางเข้า เราก็ได้รับการต้อนรับจากพนักงาน ลันเจีย ลอดจ์ ที่เข้ามาทักทาย และช่วยแบกกระเป๋าสัมภาระต่างๆ เข้าสู่ที่พัก ด้วยสภาพอากาศในช่วงเที่ยงๆ แบบนี้ อาจจะดูร้อนอบอ้าวไปสักหน่อย แต่เมื่อได้เดินเข้าสู่ที่พักก็เหมือนอุณหภูมิจะลดลงและรู้สึกสบายขึ้น ยิ่งได้รับเครื่องดื่ม Welcome Drink ชาสมุนไพรเย็นๆ สดชื่น ที่พนักงานนำมาเสิร์ฟต้อนรับ ยิ่งช่วยดับร้อน และแก้กระหายได้เป็นอย่างดี

จัดการเก็บกระเป๋าสัมภาระให้เรียบร้อย และ ออกมาเดินสำรวจบริเวณที่พัก ลันเจีย ลอดจ์ กันสักนิด ซึ่งที่พักที่เรามาพักคืนนี้ เป็นที่พักแนวอนุรักษ์ธรรมชาติ ใน โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนมีส่วนร่วม ชุมชนหมู่บ้านกิ่วกาญจน์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งและลาหู่ อยู่ใน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ตัวบ้านพักทำจากวัสดุธรรมชาติทั้งหมด โครงสร้างหลักทำจากไม้ไผ่ สร้างแบบสไตล์ชาวไทยภูเขา ขนาดของบ้านแต่ละหลังค่อนข้างใหญ่ และยกพื้นใต้ถุนสูงภายในบ้านพักแต่ละหลังจะประกอบไปด้วยห้องนอน จำนวน 4 ห้อง(แต่ละห้องก็มีห้องน้ำในตัว)

ระเบียงบ้านพักขนาดใหญ่ที่ปูเรียงด้วยกระดานไม้ ..น่าจะเป็นจุดเด่นของที่นี่ เพราะสภาพที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่ทอดยาวสลับซับซ้อนโดยรอบ จึงมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ซึ่งถ้าวันไหนสภาพอากาศอำนวยก็จะเห็นทะเลหมอกยามเช้าหน้าที่พักนี้เลย

ในยามเช้า.. ก็สามารถชมพระอาทิตย์ขึ้นจากหน้าระเบียงบ้านพักได้เลย ซึ่งวิวเบื้องหน้าก็จะเห็นไกลถึงทิวเขาของประเทศลาว และแม่น้ำโขงที่กั้นสองประเทศอยู่

เข้ามาดูใน ห้องนอน แต่ละห้องจะสามารถนอนได้ 2 คน มีห้องน้ำในตัว ช่วงหัวค่ำยุงค่อนข้างจะเยอะหน่อย จึงมีมุ้งไว้กางสำหรับกันยุง และเนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นสบายจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศ มีเพียงพัดลมเพดานก็เพียงพอแล้ว อีกอย่างที่นี่ไม่มีทีวีเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อการพักผ่อนอย่างแท้จริง


ห้องน้ำ ก็ออกแบบได้อย่างเก๋ไก๋ใกล้ชิดธรรมชาติดี ภายในดูสะอาด แบ่งโซนเปียก โซนแห้ง ชัดเจน มีข้าวของเครื่องใช้ให้ครบ และไม่ต้องกลัวว่าจะหนาว เพราะที่นี่มีเครื่องทำน้ำอุ่นด้วย

มาสะดุดตาตรง หน้าต่างบานขนาดใหญ่ ที่สามารถเปิดชมวิวทิวทัศน์ด้านนอกได้ ยิ่งช่วงเช้าๆ อากาศดีๆ นั่งทำธุระส่วนตัว ในห้องน้ำไป เปิดหน้าต่างชมวิวเสพบรรยากาศภายนอกไป ก็คงเพลินไม่น้อยเลยนะเนี่ย(55+)

ในระหว่างรอรับประทานอาหารกลางวัน เราก็ได้มานั่งพักผ่อนรับลมที่ระเบียงขนาดใหญ่ นั่งเล่น นอนเล่น อ่านหนังสือ ซึ่งแม้อากาศในช่วงเวลากลางวันแดดจะแรงมาก แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกร้อนอบอ้าวแต่อย่างใด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ มีสายลมโชยพัดเข้ามาให้รู้สึกเย็นสบายอยู่ตลอดเวลา สมกับคำว่า "ลันเจีย" ที่แปลความหมายได้ว่า.. เย็นสบาย รู้สึกสดชื่น

ไม่นานอาหารก็เริ่มทยอยมาเสิร์ฟบนโต๊ะ.. ซึ่งตอนแรกเรากะว่าจะนั่งทานกับพื้นแบบขันโตก แต่เพื่อความสะดวก รวดเร็ว บวกกับความหิวของผู้ร่วมเดินทาง จึงลงความเห็นว่ามื้อแรกนี้เรานั่งทานกันบนโต๊ะไม้ไผ่กันก่อน เดี๋ยวมื้อถัดไปค่อยว่ากันอีกที


มื้อกลางวันนี้.. เป็นอาหารจานเดียวแบบง่ายๆ เป็น ผัดหมี่ซั่ว กับ ต้มจืดแตงกวาหมูสับ เราต่างมาล้อมวงรอบโต๊ะไม้ไผ่ ทานอาหารกลางวันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ขณะรับประทานอาหารนั่นก็คือ ความเงียบสงบของบรรยากาศรอบด้าน ทุกอย่างมันดูเงียบสงบมากจริงๆ เงียบ..จนถึงขนาดเราพูดล้อเล่นกันว่าได้ยินเสียงเคี้ยวอาหารกันอย่างชัดเจน..

ด้วยบรรยากาศท่ามกลางธรรมชาติแบบนี้.. ทำให้การทานอาหารมื้อนี้เพิ่มความอร่อยมากยิ่งขึ้น บทสนทนา และการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ก็เริ่ม ณ จุดนี้เอง เราได้รับการชี้แจงโปรแกรมคร่าวๆ ว่าหลังจากนี้จะต้องทำอะไรบ้าง? และอาจจะมีการสลับปรับเปลี่ยนโปรแกรมเล็กน้อยตามสมควร ซึ่งหลังจากเราทานอาหารมื้อเที่ยงเสร็จ ในช่วงบ่าย เรามีโปรแกรมไปเรียนรู้การทำผ้าบาติกของชาวม้ง, ไปปลูกป่า และปิดท้ายด้วยการไปชิมชาออแกนิก

ความอร่อยของหมี่ซั่วทำให้เราทานหมดจานกันทุกคน จากนั้นก็ตบท้ายด้วยผลไม้เย็นสดชื่น

ช่วงหลังจากอาหารกลางวัน คือ ช่วงเวลาของการพักผ่อน เราต่างแยกย้ายกันพักผ่อนตามอัธยาศัย หามุมของตัวเอง นั่งๆ นอนๆ รอเวลาเพื่อที่จะทำกิจกรรมต่อไป ซึ่งหลังทานอาหารเสร็จกันใหม่ๆ แล้วได้อยู่ท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ แบบนี้ มันชวนให้งีบเสียจริงๆ นะ..


เรียนรู้การทำผ้าบาติกของชาวม้ง

กิจกรรมแรกของการเดินทางมาในทริปนี้ เราจะไปเรียนรู้วิถีชุมชนด้วย การทำผ้าบาติก ซึ่งก็ไม่ได้เดินทางไปไหนไกลมาก เพียงแค่เดินข้ามถนนเล็กๆ ไปยังฝั่งตรงข้าม ลันเจีย ลอดจ์ ก็ถึงแล้ว ซึ่งการทำกิจกรรมต่างๆ หลังจากนี้ เราจะมีไกด์ท้องถิ่นเป็นคนนำเที่ยว คอยให้ความรู้ คำแนะนำ ตลอดจนข้อพึงปฏิบัติ และข้อห้ามต่างๆ สำหรับไกด์ท้องถิ่นของเราในทริปนี้ เป็นคนในชุมชนนี้เอง ชื่อว่า.. น้องลันเจีย ซึ่งมีชื่อเหมือนกับที่พักของเราเลย

น้องลันเจีย แนะนำตัว และชี้แจงโปรแกรมคร่าวๆ สำหรับช่วงบ่ายนี้ให้เข้าใจตรงกันอีกครั้ง จากนั้นจึงนำเราเดินไปยังสถานที่ทำผ้าบาติก เพียงแค่เดินออกมาจากที่พักเราก็เห็นถึงวิถีชีวีตของชุมชนชาวเขาแล้ว..

เราเดินหลบร้อนเข้ามาในเพิงเล็กๆ ซึ่งมี แม่เฒ่า ผู้สืบทอดการทำผ้าบาติก คอยให้การต้อนรับเราอยู่ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือ ความยิ้มแย้มแจ่มใสของแม่เฒ่า ที่ทำให้บรรยากาศต่างๆ ดูอบอุ่น ผ่อนคลาย สบายใจอย่างบอกไม่ถูก แม่เฒ่าสามารถพูดไทยได้บ้างในบางคำที่พอทำให้สื่อสารกันได้

เริ่มต้นลงมือ.. ทำผ้าบาติก ด้วยการดูการสาธิตการทำในขั้นตอนต่างๆ เสียก่อน ซึ่งในการทำ ผ้าบาติก ของเราเหมือนเป็นการทดลองทำ จึงใช้ผ้าขาวผืนเล็กๆ ขนาดเท่าผ้าเช็ดหน้าก่อน วิธีการก็ดูเหมือนจะไม่ยากอะไร(แต่ลงมือทำนั้นยากกว่าที่คิด..55) เริ่มจากการใช้เทียนไขมันจากธรรมชาตินำมาใส่ชามตั้งบนเตาให้ร้อนจนละลายเป็นของเหลว จากนั้นใช้เครื่องมือในการวาดเส้นจุ่มลงไป และนำมาวาดลวดลายบนผ้าตามต้องการ อยากได้ลายอะไรก็สร้างสรรค์ผลงานได้ตามความชอบ เมื่อลายที่วาดแห้งดีก็นำผ้าลงไปจุ่มสีเพื่อย้อมผ้าให้เป็นสี เสร็จแล้วก็นำไปผึ่งแดดให้แห้งสักพัก แล้วจึงนำมาจุ่มย้อมสีอีกครั้ง นำไปผึ่งให้แห้ง แล้วค่อยซักให้เทียนไขมันที่วาดเส้นไว้หลุดไป ก็จะได้ผ้าตามลวดลายที่ต้องการ

เราได้รับแจกผ้าขาวขนาดเท่าผ้าเช็ดหน้าคนละผืน เพื่อลองมาลงมือทำกัน ซึ่งลวดลายบางลายอาจจะกะระยะด้วยสายตาลำบาก กลัวว่าจะบิดเบี้ยวไปไม่เป็นรูปทรง ก็สามารถใช้ไม้บรรทัดวาดเป็นตารางก่อนได้

จากนั้น จึงลงมือสร้างสรรค์ลวดลายได้ตามจินตนาการ ซึ่งเราก็คิดลายกันไม่ค่อยออกว่าจะวาดลวดลายอะไรกันดี แต่แม่เฒ่าก็มีผ้าตัวอย่างให้เรานำมาดูเพื่อ "ลอก" ลายจากตัวอย่างได้

จะว่าไปแล้ว.. การใช้เครื่องมือในการวาดลายมันก็ค่อนข้างที่ยากอยู่เหมือนกัน การควบคุมน้ำหนักเส้น เส้นใหญ่ เส้นเล็ก การควบคุมปริมาณของเทียนที่ลงไปบนเนื้อผ้า และ ความรวดเร็วในการวาดลวดลายก่อนเทียนจะแห้งไปเสียก่อน สิ่งเหล่านี้.. น่าจะต้องใช้ทักษะ และการฝึกฝนมาพอสมควร ซึ่งบางลายเส้น เราลองให้แม่เฒ่าช่วยทำ หรือเสริมเติมแต่งลวดลายให้ คือ แม่เฒ่าทำให้ได้แบบเป๊ะมากๆ ครับ

หลังจากวาดลวดลายเสร็จก็จะนำมาย้อมสีในกะละมัง โดยการย้อมจะต้องย้อมถึง 2 รอบ ด้วยกัน รอบแรก นำมาย้อมสี แล้วนำไปผึ่งให้หมาดๆ แล้วจึงนำมาย้อมอีกครั้ง แล้วนำไปผึ่งให้แห้ง

จากนั้น.. ขั้นตอนสุดท้าย ก็คือ การซักเพื่อนำไขมันที่ใช้ในการวาดลายให้หลุดออกไป ก็จะเหลือทิ้งแค่สีที่ย้อมบนเนื้อผ้า กับลวดลายเดิมที่เราเคยวาดเอาไว้ ซึ่งการทำผ้าบาติกของชาวม้งสามารถนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

ซึ่งนอกจาก การทำผ้าบาติก แล้ว ในชุมชนก็มีการทำสินค้า งานแฮนด์เมด ต่างๆ เพื่อเสริมรายได้ เราได้เดินดูงาน Lanjia Craft จากฝีมือคนในชุมชน ที่มีสินค้าหลากหลาย อย่าง กระเป๋า พวงกุญแจที่ระลึก ของที่ระลึกต่างๆ



โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ

"ขึ้นรถค่ะ เราจะไปปลูกป่ากันต่อ.."

เสียงน้องลันเจียเรียกให้เราไปขึ้นรถกระบะติดหลังคา คล้ายรถสองแถวเล็กๆ ที่จอดอยู่ริมถนน ซึ่งโปรแกรมต่อไป เราจะเดินทางไป ปลูกป่า กันที่ โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติตามแนวพระราชดำริฯ เราใช้เวลาเดินทางราว 10 นาที ท่ามกลางถนนหนทางที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ทำให้ต้องฝ่าฝุ่นละอองที่ฟุ้งจนต้องใช้มือปิดจมูกอยู่ตลอดทาง ซึ่งนั่นก็เป็นสัญญาณว่าอีกไม่นานถนนหนทาง และการสัญจรต่างๆ คงดีขึ้น ระหว่างทางที่นั่งรถผมได้แอบถามน้องลันเจียว่า "ถ้าไม่มีรถ จากหมู่บ้าน..จะเข้าไปในเมือง(ตัวอำเภอเชียงของ)ยังไง?" ก็ได้คำตอบมาว่า ในแต่ละวันอาจจะมีรถเข้าไปซื้อของในเมืองวันละ 1 เที่ยว คือ ไป และ กลับ เวลาไม่แน่นอน แต่ก็สามารถสอบถาม และติดรถโดยสารไปกันได้

รถมาจอดตรงทางเข้าที่เราจะไปปลูกป่ากัน ซึ่งต้องข้ามลำธารเล็กๆ ก่อนเดินไปตามทางเดินเข้าไปสู่ป่า ซึ่งบรรยากาศเมื่อเข้าสู่เขตป่าก็ดูร่มรื่นขึ้น อากาศเย็นสบาย เราได้รับแจก ต้นไม้คนละต้น บัวรดน้ำ และป้ายชื่อ สำหรับเขียนชื่อผู้ปลูกต้นไม้ ในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติตามแนวพระราชดำริ

มือขวาถือต้นไม้ มือซ้ายถือบัวรดน้ำ เตรียมเดินเข้าป่า ไปปลูกป่ากัน!

ระยะทางในการเดินเข้าไปปลูกป่าไม่ไกลมาก ถ้ากะระยะตามความรู้สึก น่าจะประมาณ 500 เมตร เดินเพลินๆ ชมธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้า ไปเรื่อยๆ

เดินขึ้นเนินมาพอเหนื่อย.. ก็ถึงจุดที่เราจะลงมือปลูกต้นไม้กันแล้ว เพื่อเป็นการไม่เสียเวลา เราต่างแยกย้ายหาทำเลในการปลูกของตัวเอง

จากนั้น.. ก็รดน้ำให้เรียบร้อย ซึ่งจากการสังเกตจากป้ายไม้ที่ปักไว้ จะเห็นว่ามีผู้ร่วมกิจกรรมปลูกป่า อยู่เยอะเหมือนกัน ซึ่งก็นับเป็นสิ่งที่ดีที่ต้นกล้าที่หลายคนได้ปลูกเอาไว้ จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ กลายเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ในอนาคต


จิบชาออแกนิกแท้ที่ Tea'cher Organic Farm

เข้าสู่ช่วงเวลาแดดร่มลมตก.. เรานั่งรถจาก โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ มาอีกราว 15 นาที เพื่อมาจิบชาออแกนิกแท้ๆ กันที่ Tea'cher Organic Farm ซึ่งเป็น ไร่ชาออแกนิกแท้ๆ แห่งเดียวในเมืองไทย ที่อำเภอเชียงแสน เมื่อรถได้เลี้ยวเข้าสู่เขตไร่ชาก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่เงียบสงบ เหมาะที่จะมาพักผ่อนดูไร่ชาธรรมชาติ กับช่วงเวลาเย็นๆ แบบนี้

เพียงแค่ก้าวขาลงรถ เราก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าถิ่น เจ้าลิเดียและคู่หู สุนัขอารมณ์ดีที่คอยเข้ามาคลอเคลียอยู่ตลอดเวลา

ที่นี่.. เราจะมาชิมชาออแกนิกแท้ๆ กันครับ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่อง ชาอู่หลง ที่มีรสชาติละมุน หอมชุ่มคอ ผ่านกรรมวิธีต่างๆ แบบธรรมชาติ ไร้สารเคมี และสิ่งเจือปนต่างๆ ซึ่ง สรรพคุณของชาอู่หลงที่เด่นๆ ก็คือ การดูดช่วยดูดซึมไขมัน, ลดคลอเลสเตอรอล, มีสารต้านอนุมูลอิสระ และ ช่วยลดการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

ก่อนอื่นเลยเราต้องมาชมวิธีการสาธิต การชงชา การดื่มชา ตลอดจนสรรพคุณของชาชนิดต่างๆ เราได้รับถ้วยชามาคนละ 2 ใบ ใบขนาดใหญ่จะหงายอยู่ข้างล่าง ส่วนอีกใบที่มีขนาดเล็กและยาวกว่า จะคว่ำอยู่ด้านบน ซึ่งจะมีน้ำชาร้อนๆ ที่ชงเสร็จอยู่ในนั้น

เมื่อจะดื่มชาเราจึงต้องยกใบที่คว่ำอยู่ออก น้ำชาก็จะไหลลงไปอยู่ที่ถ้วยชาใบใหญ่ที่หงายอยู่ข้างล่าง ในระหว่างนี้ จะนำถ้วยใบที่อยู่ด้านบน มานวดไปกับมื้อทั้งสองข้าง ให้มือได้รับความร้อนจากถ้วยชา เป็นการวอร์มมือให้อุ่นก่อนจะยกถ้วยชาดื่ม ซึ่งหลังจากดื่มชาอู่หลงทั้ง เบอร์ 12 และ เบอร์ 17 ก็มีความรู้สึกว่า.. เบอร์ 12 จะออกรสขม แต่ทำให้ชุ่มคอ ส่วน เบอร์ 17 จะขมน้อยกว่า และมีกลิ่นหอมละมุนกว่า

นอกจากชาแล้ว.. ก็ยังมี กระเจี๊ยบแดง ให้ได้ลองชิมกัน เป็นกระเจี๊ยบที่แดงผ่านกรรมวิธีธรรมชาติ เช่นกัน จึงสะอาดและมีประโยชน์ สามารถหยิบมากินแบบแห้งๆ ได้เลย ซึ่งกระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ลดคอเลสเตอรอล แก้ร้อนใน แก้กระหายได้

บริเวณโดยรอบ Tea'cher Organic Farm ที่โอบล้อมด้วยไร่ชา ก็สามารถลงไปเดินเล่น ชมบรรยากาศยามเย็นได้

ด้วยความที่เป็นชาออแกนิกแท้ๆ นอกจากจะส่งจำหน่ายภายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีกด้วย ซึ่งก็มีตลาดในหลายประเทศที่ให้ความสนใจ

เราจิบชาชมวิวกันอย่างเพลิดเพลิน..จนดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยตัวลับด้านหลังทิวเขา คงได้เวลาอันพอสมควรที่เราจะต้องกลับเข้าสู่ที่พักกันแล้ว สำหรับใครที่สนใจไปเที่ยว Tea'cher Organic Farm ก็สามารถเดินทางไปได้ง่าย เพราะอยู่ติดถนนสาย เชียงแสน-เชียงของ เปิดทุกวันจันทร์ - เสาร์ เวลา 7.30 - 18.00 น.


ทานอาหารมื้อเย็น พร้อมชมการแสดงท้องถิ่น

ความมืดมิดเริ่มมาเยือน.. เรากลับเข้ามาสู่ที่พัก ลันเจีย ลอดจ์ ในบรรยากาศที่เปลี่ยนไปจากช่วงตอนกลางวัน แสงไฟสีส้มจากหลอดไฟถูกเปิดสว่างไสวพร้อมกันทุกดวง ทำให้ผนังที่พักที่สานด้วยไม้ไผ่ และพื้นไม้กระดานตรงระเบียง ถูกอาบไปด้วยแสงสีส้ม แต่สิ่งที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษในตอนนี้ ก็คือ ที่ระเบียงบ้านพัก มีเสื่อปู วางขันโตก และมีเบาะเล็กๆ พร้อมหมอนอิงสามเหลี่ยม ตรงนี้..จะเป็นบริเวณทานอาหารมื้อเย็นของเรา ซึ่งอยากบอกว่า.. ยามเย็นอย่างนี้ บรรยากาศดีมากๆ

ไม่นานอาหารก็ทยอยเสิร์ฟ ออกมาเรื่อยๆ เป็นกับข้าวอยู่ 3-4 อย่าง หน้าตาน่ารับประทาน

เมื่อล้อมวงพร้อมหน้าพร้อมตาแล้ว ก็ได้เวลารับประทานอาหาร และเท่าที่เราสังเกตตลอดระยะเวลาที่เข้าพักเราจะได้รับการบริการที่ดีมากจากพนักงานที่เป็นชาวเขาที่แต่งตัวแบบพื้นเมือง ซึ่งเราก็ทราบมาว่า พนักงานของ ลันเจีย ลอดจ์ เป็นชาวเขาที่อาศัยในหมู่บ้านกิ่วกาญจน์นี้เอง และได้รับการอบรมเรื่องการบริการนักท่องเที่ยวมาเป็นอย่างดี

ของหวานตบท้ายของมื้อเย็นนี้ มันทอดกับนมข้นหวาน โดยในความรู้สึกเหมือนจะไปด้วยกันไม่ได้ แต่ก็เข้ากันได้ดี กินได้อย่างเพลินๆ

อิ่มกับอาหารมื้อเย็นแล้ว ต่อไปจะเป็นโชว์ การแสดงของชาวเขาท้องถิ่น ซึ่งจะมาแสดงให้นักท่องเที่ยวชมกันถึงที่พัก วนแสดงไปในบ้านพักแต่ละหลัง และลานที่ใช้ในการแสดงก็คือ ระเบียงขนาดใหญ่ของแต่ละบ้านนั่นเอง โดย การแสดงจะแบ่งออกเป็น 2 ชุด ชุดละประมาณ 15 นาที เป็นการแสดงการเล่นเครื่องดนตรีท้องถิ่น ประกอบกับการแสดงท่าทางต่างๆ ประกอบดนตรี ฟังไปฟังมาก็รู้สึกเพลินดีเหมือนกัน ซึ่งหากใครนึกสนุกก็อาจลุกขึ้นไปร่วมเต้นรำก็ได้เช่นกัน


ดูเหมือนราตรีนี้ยังมีอะไรให้ทำต่อ.. เสร็จจากชมการแสดงของชาวเขา เราก็มาล้อมวง รอบกองไฟ ที่ลานกิจกรรมภายในบริเวณที่พักของลันเจีย ลอดจ์ ถึงแม้อากาศภายนอกจะมีอุณหภูมิไม่ต่ำมากจนถึงขั้นหนาว แต่การมานั่งเล่น คุยกันรอบกองไฟ ก็ได้บรรยากาศที่แตกต่างไปเหมือนกัน แต่.. ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ที่ค่ำคืนนี้ พระจันทร์เกือบเต็มดวง จึงทำให้ทั่วทั้งท้องฟ้ามีความสว่างไสว กลบแสงเล็กๆ ของดาวน้อยใหญ่ไป เราจึงมองไม่เห็นหมู่ดาวต่างๆ ที่ตั้งใจว่าจะมานั่งดูดาวกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะแค่ได้มานั่งเล่นชิลๆ ในบรรยากาศแบบนี้ก็เพียงพอแล้ว


ในช่วงกลางคืนอากาศเริ่มเย็นสบาย.. เวลาก็ล่วงเลยผ่านไป.. ได้เวลาที่ วงสนทนารอบกองไฟ จะต้องสิ้นสุดลง เราต่างแยกย้ายกันไปอาบน้ำอาบท่า เตรียมเข้านอน.. ท่ามกลางบรรยากาศที่สงบเงียบ มีเพียงเสียงธรรมชาติ กบ เขียด จั๊กจั่น และสัตว์ตัวเล็กๆ ร้องระงมมาให้ได้ยินเท่านั้น และนั่น.. จึงเป็นเหมือนเสียงของธรรมชาติที่คอยมาขับกล่อมให้เราได้หลับใหลไปในค่ำคืนนี้.. ราตรีสวัสดิ์..




สวัสดียามเช้า ณ ลันเจีย ลอดจ์

"เมื่อคืน..นอนหลับสบายดีมากจนไม่อยากตื่น.."

คือ บทสนทนายามเช้าที่เราทุกคนต่างมีความเห็นที่ตรงกัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ อากาศที่เย็นสบาย บริสุทธิ์สดชื่น และความเงียบสงบที่ปกคลุมอยู่ตลอดทั้งคืนก็เป็นได้ เราตื่นก่อนพระอาทิตย์เล็กน้อย ให้พอมีเวลาจัดการธุระส่วนตัว ก่อนที่จะมารวมตัวนั่งเล่นรอแสงเช้าของวันใหม่ที่บริเวณหน้าระเบียง

เช้านี้ท้องฟ้าปลอดโปร่ง อากาศแจ่มใส มีลมพัดโชยเอื่อยๆ มาเป็นระยะ เป็นบรรยากาศที่สดชื่นมากๆ บรรดานกที่โบยบินออกหากินก็บินโฉบฉวัดเฉวียนไปมา ส่งเสียงร้องเจื้อยแจ้ว ยิ่งทำให้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติยิ่งขึ้น และเพียงไม่นานดวงอาทิตย์ก็โผล่พ้นขอบฟ้าขึ้นมา ส่งสัญญาณการเริ่มต้นของวันใหม่

จากนั้น เราจะเตรียมรับประทานอาหารเช้ากันต่อ ท่ามกลางแสงแดดอุ่นๆ กันแบบนี้เลย พนักงานเริ่มจัดเตรียมอาหารเช้า ทยอยมาเสิร์ฟ เป็นการทานอาหารเช้าในบรรยากาศที่ดีมากๆ

อาหารเช้าแบบง่ายๆ แต่ดูน่าทาน พร้อมนั่งทานรับไออุ่นจากแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า

ตื่นเช้ามาใหม่ๆ ชมบรรยากาศยามเช้าหน้าที่พัก นั่งจิบกาแฟร้อนๆ ขนมปังอุ่นๆ สักชิ้น ก็ฟินไปอีกแบบ..

อาหารเช้าแบบง่ายๆ ของเรา กับ เมนูสารพัดไข่

หลังจากรับประทานอาหารเช้ากันเป็นที่เรียบร้อย ก็หามุมนั่งพักผ่อนให้อาหารย่อย และหายอึดอัดพุงกันสักหน่อย เป็นการรอเวลาที่จะไปทำกิจกรรมต่อไปในช่วงเช้าของวันนี้



สัมผัสวิถีชุมชน เดินชมหมู่บ้านม้งและลาหู่

น้องลันเจีย ไกด์ท้องถิ่นมาหาเราตามเวลานัดหมาย ซึ่งช่วงเช้าวันนี้เรามีกิจกรรมเดินชมหมู่บ้านม้งและลาหู่ เพื่อที่จะได้สัมผัสวิถีชีวิตชุมชนชาวเขาของที่นี่ ว่าเขามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง? เป็นการเรียนรู้ชุมชน และเสริมสร้างความรู้ใหม่เป็นประสบการณ์ชีวิตไปในตัว ซึ่งก่อนอื่นเลยนั้น.. น้องลันเจียก็ได้พาเราเข้ามานั่งในศาลาหนึ่งตรงทางเข้า ลันเจีย ลอดจ์ นี่เอง เพื่อเปิดวิดีทัศน์ ประวัติความเป็นมาของชนเผ่าที่นี่ รวมไปถึงเรื่องราววิถีชีวิต การแต่งกาย อาชีพ ตลอดจนการบริหารจัดการต่างๆ ของชุมชน

หลังจากดูวิดีทัศน์เสร็จก็ถึงเวลาเดินชมหมู่บ้านของจริงกันแล้ว ซึ่งระยะทางในการเดินก็ไม่ได้มากมายอะไร อยู่ในรัศมีไม่เกิน 1 กิโลเมตรในชุมชนนี้เอง เดินได้อย่างสบายๆ อากาศบริสุทธิ์ สดชื่นดี แต่จะมีอุปสรรคเพียงแค่ความร้อนจากแสงแดดเท่านั้น

ระหว่างการเดินเท้าไปเรื่อยๆ เราก็จะเริ่มเห็นวิถีชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งวิถีดั้งเดิมของคนในชุมชนส่วนใหญ่จะเป็นการทำไร่ ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น แต่เมื่อชุมชนได้นำการท่องเที่ยวเข้ามามีส่วนในการอนุรักษ์ดูแล ส่งเสริมให้เกิดอาชีพ เช่น การทอผ้า ทำผ้าบาติก งานบริการต่างๆ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การทำลายป่าเพื่อการทำเกษตรกรรมจึงลดลง..

เมื่อเข้าสู่เขตชุมชนแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ชุมชนหรือบ้านที่เราเดินผ่านหรือเดินชมอยู่นั้น เป็น บ้านของชาวม้ง หรือ บ้านของชาวลาหู่ ซึ่งก็มีวิธีสังเกตที่ว่า.. บ้านของชาวม้ง ตัวบ้านปลูกอยู่บนพื้นดินที่ทุบแน่น วัสดุสร้างบ้านส่วนใหญ่ใช้ไม้เนื้ออ่อน ผนังบ้านทำจากไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคา หรือใบจาก ตัวบ้านไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากอยู่ในที่อากาศหนาวเย็น ส่วน บ้านของชาวลาหู่ ส่วนมากจะปลูกยกพื้นใต้ถุนสูง ซึ่งจะใช้เป็นที่เก็บฟืน มุงหลังคาด้วยหญ้าคา เป็นต้น


"ต่อไปเราจะไปชมบ้านหมอผีกันนะคะ.."

เมื่อน้องลันเจีย กล่าวประโยคนี้.. ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นขึ้นมาแปลกๆ มีความรู้สึกลึกลับอย่างบอกไม่ถูก เราเดินมาหยุดอยู่ที่ทางเข้าบ้านหลังหนึ่งที่สภาพรั้วไม้ค่อนข้างเก่าช่วยสร้างบรรยากาศให้มีความขลังมากขึ้น เราค่อยๆ เดินเรียงเดี่ยวเข้าประตูบ้านไปทีละคน หลังจากพ้นเข้าประตูบ้านไปแล้วก็พบว่า.. บรรยากาศข้างในค่อนข้างมืด อาจเป็นเพราะแสงแดดจ้าภายนอก ทำให้เวลาเข้ามาอยู่ที่มืดๆ ต้องใช้เวลาในการปรับการมองเห็นอยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อสายตาเริ่มคุ้นชินแล้ว เราก็เริ่มสังเกตไปรอบๆ เห็นลานประกอบพิธีกรรม เก้าอี้ไม้แบบยาวสำหรับให้คนไข้ หรือ ญาติที่มาพบปะได้นั่งรอขณะประกอบพิธีกรรม ตามผนังด้านในมีกระดูกสัตว์ที่ถูกร้อยด้วยเชือกแขวนไว้ตามมุมต่างๆ ซึ่งภาพและบรรยากาศที่เห็นอาจจะดูน่ากลัว แต่อันที่จริงแล้วนั้น หมอผี(หรือที่เรียกว่า ผู้นำทางจิตวิญาณ) ไม่ได้เน้นเรื่องคุณไสย มนตร์ดำ ด้านมืด อะไรอย่างที่เข้าใจกัน ซึ่งหมอผีในที่นี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนกับที่ปรึกษาให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน คอยช่วยเหลือชาวบ้าน ทำนองนี้เสียมากกว่า

เราได้กล่าวทักทายหมอผี และพยายามอยู่ในความสงบเพื่อเป็นการเคารพสถานที่.. น้องลันเจีย ก็ได้เล่าประวัติของหมอผี และหน้าที่ต่างๆ ของหมอผี ซึ่งถ้ามีส่วนหนึ่งส่วนใดที่สงสัยก็สามารถถามหมอผีได้ โดยมีน้องลันเจียเป็นเหมือนล่ามในการสนทนา ในระหว่างที่น้องลันเจียคุยกับหมอผีเป็นภาษาท้องถิ่น สักพักหมอผีก็ยกสิ่งของที่มีเหมือนธงรูปคนปักอยู่โดยรอบ ซึ่งพอได้ความมาว่า.. ตอนนี้มีผีอยู่ 3 ตน ถูกขังอยู่ในนี้ ซึ่งผีเหล่านี้จะทำหน้าที่คอยเป็นผู้ช่วยหมอผีในการทำพิธีกรรมต่างๆ อย่างเช่น การรักษาโรคต่างๆ ซึ่งก็มีการยกตัวอย่างมาว่า.. หากชาวบ้านเป็นโรคแล้วไปรักษาที่โรงพยาบาลไม่หาย ก็จะกลับมาพึ่งหมอผี หมอผีก็จะให้จิตในการสอบถามผีที่กักขังไว้ว่า.. "คนไข้โดนผีร้ายทำร้ายอยู่หรือไม่? และจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร?" ก็เป็นความเชื่อ และวิถีปฏิบัติหนึ่งที่สืบทอดกันมา

หมอผีได้ยกตัวอย่างอีกหนึ่งกรณี ก็คือ มีชาวต่างชาติต้องการให้ช่วยเหลือ และส่งรูปถ่ายของตัวเองมาทางไปรษณีย์ ให้หมอผีช่วยดูให้ ซึ่งเขามีอาการปวดต้นคอและหลัง ซึ่งรักษายังไงก็ไม่หาย เมื่อหมอผีได้ดูรูป และก็ได้ทำพิธีกรรมปัดเป่าสิ่งช่วยร้ายให้ อาการปวดของเขาก็ทุเลาลง

และ จากการสังเกตรอบบริเวณภายใน และภายนอกบ้านหมอผี เราจะเห็นไม้ไผ่ที่สานขึ้นเป็นสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง จนเกิดเป็นข้อสงสัย และได้สอบถามหมอผีไป ก็ได้รับคำตอบมาว่า.. นี่คือ สิ่งที่ใช้ป้องกันผีเข้ามารบกวนภายในบ้าน

จาก บ้านหมอผี เราออกมาเดินชมหมู่บ้านกันต่อ ณ จุดนี้เป็นที่สูง สามารถมองเห็นภูเขาฝั่งลาว และ แม่น้ำโขง

ร้านค้าเล็กๆ มีสินค้าอยู่ไม่กี่อย่าง แต่ก็เป็นที่นั่งพักผ่อน จุดนัดพบ พูดคุยกันของคนในชุมชนได้

ความกลมกลืนระหว่างวิถีชาวบ้านเกษตรกรรม กับ เทคโนโลยีสมัยใหม่

การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่ชุมชนนี้ก็มีโรงเรียนเช่นกัน เด็กนักเรียนดูตั้งใจ และใส่ใจในการเรียนมาก

แสงแดดเริ่มทวีความร้อนเพิ่มขึ้น.. เรารีบเร่งเดินไปอีกหนึ่งหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก

ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างก็มีหน้าที่ที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป ระหว่างทางจึงเห็นชาวบ้าน สานไม้ไผ่ คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ตามหน้าที่ของแต่ละคน

โรงเก็บฟืน คือสิ่งที่พบเห็นได้ในทุกๆ บ้าน เพราะฟืนยังเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการประกอบอาหารอยู่

เราเดินมาถึงบ้านของ หมอผี อีกหนึ่งท่าน สิ่งที่สะดุดตาเราเมื่อเข้ามาอยู่บริเวณภายในบ้านก็คือ อุปกรณ์ต่างๆ ที่วางไว้อยู่บนโต๊ะ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม

ก่อนที่จะได้รับฟังการอธิบายและบรรยาย หมอผีก็ได้ต้อนรับเราด้วยชาร้อนที่รินใส่ถ้วยที่ทำจากกระบอกไม่ไผ่ ซึ่งเวลาดื่มชาต้องดื่มทางปากถ้วยด้านที่มีขอบสูง

จากนั้นก็เป็นการสาธิตการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ใน การไล่ผี และปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ซึ่งการรับทราบเรื่องราวต่างๆ ของหมอผี ก็ผ่านล่ามอย่างน้องลันเจียเช่นเคย เราได้รู้ว่า.. หมอผีนั้นไม่ใช่ใครก็เป็นได้ แต่เป็นผู้ที่ถูกเลือกแล้ว ซึ่งถ้าเป็นแล้วก็ต้องเป็นตลอดไป..

นี่คือ.. หนึ่งอุปกรณ์ที่เหมือนใช้สำหรับเสี่ยงทาย ว่าคำตอบจะเป็นไปตามที่ต้องการหรือไม่ และจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

หมอผีได้สาธิตวิธีการไล่ผีให้เราดู.. โดยการไล่นั้นก่อนอื่นเริ่มพิธีกรรมจะต้องใช้ผ้าปิดหน้าตัวเองเสียก่อน เพื่อไม่ให้ผีจำหน้าได้ และกลับมาทำร้ายในภายหลัง เมื่อปิดหน้าแล้วก็จะเริ่มพิธีด้วยการเขย่าอุปกรณ์ ที่อยู่ในมือทั้งสองข้าง เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ซึ่งหมอผียังบอกอีกว่า.. ต้องเขย่าอยู่อย่างนี้เป็นเวลาถึง 3 ชั่วโมง เลยทีเดียว และในขณะทำพิธี ก็จะมีผู้ช่วยคอยเคาะอุปกรณ์ที่เหมือนกับฆ้องอยู่ตลอดเวลาด้วย..

และแล้ว.. เราก็ได้เวลาอำลาชุมชนม้งและลาหู่ รวมถึงกล่าวอำลาไกด์คนเก่งอย่าง น้องลันเจีย ด้วย.. ซึ่งหลังจากเราได้เดินชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็เดินกลับสู่ที่พัก เก็บสัมภาระ เพื่อที่จะเดินทางไปกันต่อยังสถานที่ต่อไป..


สามเหลี่ยมทองคำ รอยต่อสามประเทศ

ลงจากดอยมา.. ก็มาแวะชมบรรยากาศริมโขงกันสักหน่อยที่ สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างสามประเทศ ได้แก่ ไทย(จังหวัดเชียงราย) ลาว(แขวงบ่อแก้ว) และ พม่า(ท่าขี้เหล็ก, รัฐฉาน) มีลักษณะเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมบรรจบกัน โดยมีแม่น้ำโขงตัดผ่านชายแดนไทยและลาว นับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้

ซึ่งนอกจากจะได้ชมวิวแม่น้ำโขงแล้ว ก็ยังได้นมัสการ พระพุทธนวล้านตื้อ พระเชียงแสนสี่แผ่นดิน ที่สามเหลี่ยมทองคำ นี้อีกด้วย

ณ เวลานี้เป็นเวลาเที่ยงพอดี เราจึงจัดการอาหารมื้อเที่ยงกันตามโปรแกรมที่ร้านอาหารริมโขงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำนี้เอง ซึ่งเมนูอาหารขึ้นชื่อก็ต้องเป็นเมนูที่ทำมาจากปลาแม่น้ำโขงสดๆ หน้าตาน่าทาน ชิมแล้วอร่อยทุกอย่าง!

หลังจากอิ่มท้องแล้วก็มาเดินเล่นชมวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขงกัน จากภาพจะเห็นการแบ่งเขตแดนทั้งสามประเทศอย่างชัดเจน

ถ้าหากต้อง การนั่งเรือชมทิวทัศน์ ณ บริเวณนี้ก็มีเรือให้เช่าเหมาลำ เพื่อล่องชมทิวทัศน์จุดบรรจบของพรมแดนไทย ลาว และ พม่า ค่าเช่าเรือประมาณ 500-1000 บาท แล้วแต่ว่า..จะเป็นเรือลำเล็ก หรือลำใหญ่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจเหมือนกัน

แวะเข้ามาไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่ง พระพุทธนวล้านตื้อ องค์นี้เป็น พระเชียงแสนสี่แผ่นดินเฉลิมพระเกียรติฯ (ซึ่งได้สร้างขึ้นแทนองค์เดิมที่จมลงแม่น้ำโขง สมัยรัชกาลที่ 3) และสร้างขึ้นด้วยทองสัมฤทธิ์ ปิดทองด้วยบุศราคัม น้ำหนักถึง 69 ตัน หน้าตักกว้าง 9.99 เมตร สูง 15.99 เมตร ประทับนั่งบน เรือแก้วกุศลธรรม ขนาดใหญ่ องค์พระตั้งตระหง่านอยู่ริมน้ำแลดูสวยงามมากครับ


งานศิลป์จากดิน ณ บ้านดอยดินแดง

ก่อนเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองเชียงราย เรามีโปรแกรมไปแวะชมงานศิลป์กันต่อที่ บ้านดอยดินแดง ซึ่งเป็น ทั้งบ้าน สตูดิโอ และโรงงาน ของ อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเชียงราย ผู้สร้างสรรค์งานศิลป์จากการปั้น ซึ่ง อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ได้ไปเรียนวิชางานปั้น จากศิลปินเซรามิกคนดัง อาจารย์ Twao Onuma และ Tarouemon Nakagato แห่งเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาถึง 5 ปี ก่อนจะกลับบ้านเกิดที่เชียงราย และตั้งบ้านดอยดินแดงขึ้นในปี พ.ศ. 2543

คอนเซ็ปต์หลักของบ้านดอยดินแดง คือ จะใช้ดินในพื้นที่ท้องถิ่น หรือมีดินจากพื้นที่ใกล้เคียงมาผสมบ้าง ใช้วัตถุดิบทุกอย่างจากธรรมชาติ สีสันที่นำมาเคลือบผิวก็ได้จากธรรมชาติทั้งหมด เช่น สีจากใบไม้ สีจากเมล็ดพืช สีจากขี้เถ้า เป็นต้น และ การปั้นจะใช้มือ ไม่ใช้เครื่อง

บ้านดอยดินแดง จะมีหลายอาคาร ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายส่วน โดยส่วนใหญ่จะเป็นบ้านดิน เช่น อาคารโรงงานที่ใช้ผลิตชิ้นงาน อาคารสตูดิโอไว้จัดแสดงผลงานเซรามิค ร้านจำหน่ายสินค้า และของที่ระลึกต่างๆ และมีมุมจิบกาแฟที่ให้บรรยากาศร่มรื่นด้วย

หลังจากจิบกาแฟให้หายจากอาการง่วงยามบ่ายแล้ว ก็ได้เวลาเดินชมรอบๆ บ้านดอยดินแดง กัน ซึ่งมาที่นี่เราจะได้เห็นกระบวนการผลิตเครื่องปั้นดินเผาหลายรูปแบบอย่างใกล้ชิด โดยเริ่มต้นจากการเตรียมดิน จะมีห้องสำหรับร่อนดินให้ละเอียด ซึ่งมีดินจากหลายแหล่งที่มา เพราะแต่ละแห่งให้สี และคุณภาพที่แตกต่างกันไป

เมื่อเตรียมดินเสร็จ ก็เข้าสู่กระบวนการขึ้นรูปเป็นชิ้นงานต่างๆ ตามต้องการ โดยใช้มือในการปั้น ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้สมาธิ และความอดทนสูง

นำชิ้นงานมาตกแต่งเพิ่มเติม แล้วแต่การใช้งาน


จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงการพักชิ้นงานก่อนจะเข้าสู่กระบวนการเผา โดยจะต้องพักชิ้นงานทิ้งไว้ให้ความชื้นในตัวชิ้นงานระเหยออกไปให้หมดเสียก่อน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร บางชิ้นต้องใช้ระยะเวลานานถึง 4 ปีเลยก็มี!

เมื่อได้เวลาเหมาะสมในการเผาแล้ว ชิ้นงานต่างๆ ก็ถูกนำเข้าสู่เตาเผา ซึ่งจะใช้อุณหภูมิ และระยะเวลาในการเผาที่พอเหมาะ ซึ่งจะทำให้ได้ชิ้นงานที่แข็งแรงและคงทน

ขั้นตอนสุดท้าย.. ก็คือ การตรวจสอบความสมบูรณ์ของชิ้นงาน ก่อนที่จะจัดส่งตามออเดอร์ต่อไป..

เราลองเดินเข้ามาดูอีกอาคารกันบ้าง เป็นส่วนของ การแสดงผลงานศิลปะจากเซรามิก ของ อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ

ภายในอาคารมีการจัดวางผลงานในหลายๆ ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นก็มีแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวธรรมชาติรอบๆ ตัว อย่างเช่นเมล็ดพืชหลายชนิด ก็กลายมาเป็นงานศิลปะขนาดใหญ่ บางชิ้นก็ดูเหมือนจะเป็นงานเสีย แต่ให้อารมณ์ความเป็นศิลปะ ก็ถูกเอามาจัดแสดงด้วย

อาคารหลังสุดท้ายที่เราได้เดินเข้าไปชม เป็น Shop จำหน่ายสินค้า และของที่ระลึก จาก บ้านดอยดินแดง ซึ่งก็มีหลายๆ ชิ้น ที่ดูน่าสนใจ ให้เลือกซื้อหาติดไม้ติดมือกลับบ้านไปครับ



สวรรค์แค่เอื้อม ที่ สวรรค์บนดิน ฟาร์มสเตย์

เดินทางกลับเข้ามาเกือบถึงใจกลางเมืองเชียงรายแล้ว แต่ก็ยังเหลืออีกหนึ่งสถานที่สำคัญ นั่นก็คือ สวรรค์บนดิน ฟาร์มสเตย์ ซึ่งเมื่อได้ยินชื่อของ สวรรค์บนดิน ครั้งแรก.. ก็ต้องยอมรับว่าที่นี่ต้องมีอะไรดี และต้องพบเจอกับความสุข ความสบายในที่แห่งนี้แน่ๆ

รถของเราเคลื่อนตัวมาหยุด จอดอยู่ภายในบริเวณฟาร์มสเตย์ ที่หันไปรอบตัวก็จะพบเจอกับบรรดาพืชพันธุ์ และสมุนไพร ต่างๆ ที่ปลูกโดยรอบ ใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มค่ามากๆ เราได้รับการต้อนรับจาก คุณ โต-ชูเกียรติ เวสารัชชพงศ์ ลูกชายคนโตมาคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่ง คุณโตได้เล่าประวัติ และความเป็นมาของฟาร์มสเตย์แห่งนี้ ว่า.. หลายปีก่อน คุณโต และครอบครัว ทำงานและมีวิถีชีวิตเหมือนกับคนเมืองกรุงทั่วๆ ไป แต่มาวันหนึ่งคุณพ่อของคุณโตได้ล้มป่วยลง ด้วยอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ทำให้เกิดอาการชาตามร่างกาย และได้พยายามรักษาตัวเรื่อยๆ มา แต่อาการก็ยังไม่ดีขึ้น จึงมีความคิดที่ว่า ควรจะให้คุณพ่อได้กลับไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีๆ อยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติจะดีกว่า.. สวรรค์บนดิน ฟาร์มสเตย์ จึงเกิดขึ้น ณ จุดนี้

หลายคนอาจสงสัยว่า.. ภายใน สวรรค์บนดิน ฟาร์มสเตย์ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง? ซึ่ง คุณโต ก็ได้พาเราเดินดูรอบๆ บริเวณ เริ่มจากพื้นที่ในการปลูกพืชออแกนิกต่างๆ พืชสมุนไพร ได้เห็นกระบวนการในการอบแห้ง เพื่อทำชาสมุนไพร อีกมุมหนึ่งมีร้านกาแฟเก๋ๆ ที่ไว้นั่งจิบกาแฟท่ามกลางธรรมชาติ มีมุมงาน Craft งานฝีมือ และของที่ระลึก รวมไปถึงเครื่องเซรามิก ที่สามารถลงมือปั้นเครื่องเซรามิกได้ด้วยตนเอง โดยการสาธิตการปั้นจากคุณโต และที่นี่ก็ยังมีที่พักแบบโฮมสเตย์ไว้บริการด้วยอีกนะ

ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่อง ชาสมุนไพร ซึ่งแรกเริ่มนั้น คุณโตเล่าว่า.. คุณแม่จะปลูกผักสมุนไพรต่างๆ ในบริเวณบ้าน แต่ได้ผลกำไรค่อนข้างน้อย จึงมีความคิดที่จะหันมาเพิ่มมูลค่าด้วยการทำเป็นชาสมุนไพร ซึ่งก็ได้คิดสูตรลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถทำชาสมุนไพรออกจำหน่ายอยู่ 6 อย่าง คือ ชาตะไคร้ อัญชัน กระเจี๊ยบ มะตูม เก๊กฮวย และ เจียวกู้หลาน

ชาสมุนไพร สามารถ จิบแบบร้อนก็ได้ ดื่มแบบเย็นก็ดี เราได้ลองชิมชาอัญชันใส่น้ำแข็งเป็นอย่างแรก ดื่มแล้วเย็นชื่นใจ ช่วยคลายร้อนได้เป็นอย่างดี

ซึ่ง ชาสมุนไพร เหล่านี้ ก็มีสรรพคุณที่แตกต่างกันไป เช่น

  • มะตูม - ขับลม แก้ท้องผูก จุกเสียด แก้อาการอ่อนเพลีย
  • อัญชัน - บำรุงสายตา กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต
  • กระเจี๊ยบ - แก้กระหาย ขับเสมหะ แก้ไอ ลดไขมัน ขับปัสสาวะ
  • เจียวกู้หลาน - ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ลดไขมันในเส้นเลือด
  • ตะไคร้ - ดับร้อน แก้กระหาย บรรเทาอาการหวัด
  • เก๊กฮวย - ดับกระหาย แก้ร้อนใน ช่วยขับลม ช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย

จากนั้นก็ลอง ชาเก๊กฮวย แบบร้อนๆ หอมๆ เสิร์ฟมาในถ้วยเซรามิก เก๋ๆ กันบ้าง ซึ่งถ้วย จาน ชาม เซรามิก ก็เป็นผลงานการปั้นของ คุณโต นี่เอง และแต่ละใบก็จะมีรูปแบบและลวดลายที่แตกต่างกันไป เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของงานเซรามิก..

สิ่งที่เราดูสนใจที่สุด และคุณโตก็เต็มใจที่จะนำเสนอ นั่นก็คือ อัญชันลาเต้

คุณโต จัดการสาธิตทำ อัญชันลาเต้ ให้ดู พร้อมกับอธิบายเกี่ยวกับกาแฟ เมนูนี้ว่า.. คุณโตอยากให้มีชาเป็นส่วนผสมหนึ่งอยู่ในร้านกาแฟบ้าง จึงคิดเมนูนี้ขึ้นมา ซึ่งขั้นตอนคร่าวๆ ก็ต้องใช้เครื่องทำกาแฟ ช็อตอัญชันปริมาณที่พอเหมาะ สุดท้าย.. สตรีมนมในความร้อนก่อนเทลงไป ก็จะเป็นสีฟ้า แทนที่สีน้ำตาลของกาแฟ จนมาเป็น อัญชันลาเต้ ให้ได้ลองชิม

เมื่อเสร็จเรียบร้อย อัญชันลาเต้ ก็จะถูกเสิร์ฟ มาในถ้วยเซรามิก หลังจากลองชิม ก็รับรู้ได้ถึงความหวานละมุนติดลิ้น ความหอมของกาแฟ ความหวานมันของนม สีสันของอัญชัน เข้ากันได้อย่างลงตัว!

เราได้ลองชิม เมนูอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ และได้พูดคุยกับคุณโต อยู่สักพัก ก็ได้เวลาที่เราจะต้องเดินทางกลับกันแล้ว แม้จะยังไม่อยากกลับเพราะรู้สึกชิลกับบรรยากาศยามเย็นของที่นี่ก็ตาม ซึ่งหากมีโอกาสต้องกลับมาเยือนอีกแน่นอน โดยเฉพาะหน้าหนาว นี่พลาดไม่ได้จริงๆ

ก่อนดวงตะวันจะลับขอบฟ้า เรากล่าวอำลา คุณโต และครอบครัว แล้วออกเดินทาง จาก สวรรค์บนดิน ฟาร์มสเตย์ มุ่งหน้าสู่ สนามบินเชียงราย เพื่อเตรียมตัวกลับ กทม. ซึ่งก่อนถึงสนามบิน เราก็แวะพักเติมพลัง ด้วยอาหารมื้อเย็น มื้อสุดท้ายที่เชียงรายร่วมกันเสียก่อน ก่อนจะเดินทางกลับเข้าสู่ กทม. อย่างสวัสดิภาพ สิ้นสุดทริปการเดินทางอย่างประทับใจ..

การร่วมเดินทางไปกับ Local Alike ในครั้งนี้.. ช่วยเพิ่มประสบการณ์การเดินทางเป็นอย่างมาก ช่วยให้ได้เห็นมุมมองใหม่ๆ เห็นวิถีชีวิตชุมชนที่อาจพูดได้เลยว่า สำหรับผมแล้วคง "ยาก" ที่จะมีโอกาสได้เข้าถึง เข้าไปสัมผัส กับอะไรแบบนี้ แต่เมื่อได้ลองไปเรียนรู้ด้วยตัวของตัวเองแล้ว ก็รู้สึกว่าได้ความรู้และประสบการณ์ดีๆ กลับมาเยอะเลย ซึ่งถ้าใครสนใจรูปแบบการท่องเที่ยววิถีชุมชนแบบนี้ ก็ลองไปกันดูนะครับ..


ขอบคุณที่เดินทางไปด้วยกัน..



การท่องเที่ยวเชิงไฉไล | CHAILAIBACKPACKER

Fanpage : https://www.facebook.com/chailaibackpacker

Instagram : CHAILAIBACKPACKER

Twitter : @chailaibackpack / goo.gl/VIBXC9

CHAILAIBACKPACKER

 วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560 เวลา 17.45 น.

ความคิดเห็น