"เชียงคานไม่เห็นจะมีอะไร" มักเป็นอีกหนึ่งประโยคติติงเมืองเล็กๆ ริมน้ำโขงแห่งนี้ไม่น้อยกว่า "เชียงคานกำลังเปลี่ยนไป" แม้จะออกมาจากปากนักท่องเที่ยวคนละกลุ่มก็ตามเถอะ ต้องยอมรับครับว่าที่นี่เป็นเมืองประหลาด คนรักก็หลงหมดจิตหมดใจ เดินเล่นถนนชายโขงเห็นร้านกาแฟ ร้านค้าวินเทจเก๋ไก๋ก็กรี๊ดสลบ ส่วนคนไม่รักทำอย่างไรก็ไม่มีทางรัก และคนหมดรักเพราะเชียงคานแปรเปลี่ยนจากแต่ก่อนแล้วยิ่งไม่มีทางหันกลับมาใยดี

สำหรับผม นี่คือเชียงคานรอบสี่ ถามว่าสัมผัสถึงความแปรเปลี่ยนบ้างไหม ผมตอบว่าแน่นอน แต่อีกมุมหนึ่งเชียงคานของในสายตาผมไม่เคยเปลี่ยนเลย นั่นเพราะผมไม่ได้มาเชียงคานเพื่อเที่ยวถนนคนเดิน ชมเรือนไม้ชายโขง ที่นั่นเป็นแค่ที่พัก ที่นอน หาของกิน ดังนั้นไม่ว่ามันจะเปลี่ยนโฉมอย่างไร ผมจึงไม่เคยใส่ใจ

เชียงคานของผมเป็นเชียงคานมุมกว้าง ฤดูหนาวภูทอกเต็มไปด้วยสายหมอก ฤดูร้อนแก่งคุดคู้กลายเป็นหาดหิน ฤดูฝนเชียวชอุ่มด้วยท้องทุ่ง แม่น้ำโขงไหลหลากสีแดงขุ่นเข้ม เชียงคานของผมไม่ใช่เมืองสโลว์ไลฟ์ หรือฮิปสเตอร์ แต่เป็นเมืองผจญภัย แอดเวนเจอร์ แบกเป้ไปเที่ยวมันๆ ตามประสาคนชอบขี่มอเตอร์ไซค์

มันขนาดไหนต้องลอง กระชับกระเป๋าเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวเชียงคานกรีนซีซั่น (แต่แม่น้ำโขงสีแดงขุ่นคลัก) กลางเดือนกรกฎาคม วางทริปสามวันสองคืนดูครับ

เดินทางจากเมืองหลวงแสนง่าย รถทัวร์ กรุงเทพ-เลย-เชียงคาน จอดรอท่า มีทั้งรอบเช้ากับกลางคืน ปกติผมใช้บริการของ บขส. โดยตรง เพราะปลายทางอยู่ที่ตลาดเชียงคานสะดวกดี ราคารถ ป.1 (ม.4 ข) 464 บาท จองผ่านโทรศัพท์บวกค่าบริการ 20 บาท จ่ายตังค์ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสค่าบริการอีก 18 บาท ถือว่าเสียเพิ่มซื้อความสะดวก จองแค่ขาไปพอเพราะขากลับไปซื้อที่โน่นเอาเลยไม่ต้องเสียค่าบริการ หรือหากใครอยากนั่งรถวีไอพีให้สบายก้นก็เพิ่มราคาอีกประมาณ 250 บาท

ออกจากหมอชิต 21.30 น. นั่งไปหลับไปเรื่อยๆ แวะพักครึ่งทางลงมายืดเส้นยืดสายแป๊บนึง ไม่เกินแปดโมงเช้าก็ถึงเชียงคานแล้ว ง่ายแสนง่ายแค่นี้ ส่วนใครไม่ได้เดินทางจากกรุงเทพ ทำอย่างไรก็ได้ให้ไปถึงตัวเมืองเลย จากนั้นค่อยต่อรถสองแถวใหญ่ เลย-เชียงคาน ที่มีวิ่งตั้งแต่เช้าถึงเย็น

ใครไม่เคยไปเชียงคานขออธิบายภาพคร่าวๆ ว่า ถนนหลักเชียงคานมีสองเส้นขนานกันตามแนวแม่น้ำโขง เส้นนอกหรือถนนใหญ่คือถนนศรีเชียงคาน ส่วนเส้นในซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนไม้และถนนคนเดินคือถนนชายโขง ระหว่างถนนสองเส้นนี้มีซอยตัดถึงกันมากมาย ไล่ตั้งแต่ซอย 1 จนถึงซอย 20 และมีทางเดินริมแม่น้ำอยู่อีกเส้นครับ

ลงรถที่ตลาดสดแล้วเติมท้องหาของกินกันก่อน ตลาดสดอยู่ที่ซอย 9 เป็นซอย 9 ถนนศรีเชียงคาน จึงเรียกว่าซอย 9 บน (ส่วนซอย 9 ฝั่งถนนชายโขงเรียกว่าซอย 9 ล่าง) มีร้านเก่าแก่ร้านหนึ่งเป็นโรงหนังเก่าชื่อสุวรรณรามา เดี๋ยวนี้แปรสภาพมาขายอาหารเบาๆ ไข่กระทะ กาแฟ ขนมปัง มาถึงแล้วนั่งพักสักหน่อย เขามีรูปเก่าสมัยเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทั้งคนไทยคนลาวเข้ามาชมแน่นขนัด เป็นช่วงก่อนจะปิดพรมแดนไทย-ลาว ทำให้เชียงคานต้องหงอยเหงาลง ก่อนกลับมาบูมอีกครั้งเหมือนปัจจุบัน

เติมท้องเสร็จแล้วค่อยหาที่พัก ผมไม่ได้จำเพาะที่ไหน ขอราคาถูกสุดเข้าว่า แบกเป้ย่ำไปตามถนนชายโขง ช่างบังเอิญสบสายตากับคุณป้าเจ้าของเกสต์เฮ้าส์ "เฮือนไม้ศรีเชียงคาน" เยื้องกับวัดศรีคุณเมืองตรงปากซอย 6 ล่าง เลยได้ที่ซุกหัวนอนวิวสวย ราคาประหยัดแค่ 300 บาท (ผมต่อราคาลดมาจาก 400 บาท)

ที่เฮือนไม้ศรีเชียงคาน ตอนผมเข้าพักไม่มีคนดูแลเป็นกิจจะลักษณะ แต่ด้วยเพราะห้องยังมีอยู่ ใครผ่านไปอยากพักก็ไม่มีปัญหา ห้องอยู่ริมโขงชั้นสองมีแค่สามห้อง แอร์ทุกห้อง มีห้องน้ำในตัวเล็กๆ แต่ในห้องไม่มีอะไรอีกเลยนอกจากเตียงนอนวางกับพื้น หมอน ผ้าห่ม น้ำดื่มไปกรอกเองที่ตู้กดน้ำ ทั้งวันไม่มีใครอยู่บ้าน ป้าแกไปขายของที่โรงเรียนตอนเช้า กลับมาก็เย็นย่ำ เหมาะกับขาแบ็คแพ็กขอแค่ที่นอน ถ้าอยากมาเที่ยวชิลๆ ที่นี่ไม่ใช่คำตอบนะครับแม้จะราคาประหยัดก็เถอะ แต่เผื่อใครไม่รังเกียจอยากไปพัก ลองโทรสอบถามดู 08-3362-2267, 08-3356-1395

เก็บข้าวเก็บของพักเหนื่อยแล้วค่อยมาเดินสำรวจถนนชายโขงว่าแปรเปลี่ยนจากคราวล่าสุดเมื่อสองปีที่แล้วขนาดไหน ตอนสายๆ วันธรรมดา ช่างเงียบงันยิ่งนัก

ที่พักสร้างใหม่เยอะมาก และยังสร้างอยู่ก็มี ย้อนกลับไปประมาณกลางปี 54 ผมเคยมาทำงานรีวิวที่พักสิบแห่ง ถึงวันนี้มีที่พักในรีวิวเหลืออยู่แค่ครึ่งเดียว เช่นเดียวกับร้านของที่ระลึกซึ่งหายไปและเกิดใหม่เพียบ ทางเดินเล็กๆ ริมน้ำโขงแปรเปลี่ยนเป็นทางเดินอย่างดี มีระเบียงชมวิวกว้างขวาง สวนสาธารณะปรับปรุงใหม่ให้น่าพักผ่อน ส่วนตัวผมไม่ได้รู้สึกยินดียินร้าย ทุกอย่างย่อมแปรเปลี่ยนตามเวลา

มาเชียงคานใครแนะนำให้กินอะไรผมไม่รู้ แต่ผมต้องกิน "แหนมคลุกแม่แห่ว" ตั้งร้านอยู่หน้าเฮือนยายน้อย (แต่เดิมคือบ้านแสงจันทร์) บนถนนชายโขง ระหว่างซอย 7 กับซอย 8 ใกล้วัดศรีคุณเมือง ถ้าไม่มาอุดหนุนป้าแห่วก็เหมือนผมมาไม่ถึงเชียงคาน รสเลิศ ผักสดจัดเต็ม นั่งกินพร้อมถามไถ่ความเป็นไปของคุณป้าและเชียงคานตามสมควรค่อยไปต่อ

ผมว่าจะเช่ามอเตอร์ไซค์เพราะพรุ่งนี้ต้องขี่ไปภูทอกกับพระใหญ่ เห็นป้ายให้เช่ามอเตอร์ไซค์อยู่ภายในซอย 9 ตรงข้ามร้านลุก โภชนา ปรากฏว่ารถมีคนเช่าไปแล้วต้องรอมาคืนตอนเย็น ผมเลยขอเช่าจักรยานขี่แทนไปพลางๆ ลดจาก 50 บาท เหลือ 30 บาท เดี๋ยวเย็นค่อยมาเอามอเตอร์ไซค์คันละ 250 บาท มอเตอร์ไซค์ที่ร้านมีแค่สองคันครับ จะเช่าโทรมาถามก่อนก็ดี 08-0188-4624 หรือไม่อย่างนั้นฝั่งตรงข้าม ร้านลุก โภชนา มีให้เช่าเหมือนกัน

ได้จักรยานแล้วก็ปั่น ปั่น ปั่น ปั่นไปแก่งคุดคู้ จากตัวเชียงคานไปทางอำเภอปากชม หรือทางหลวงหมายเลข 211 (เส้นถนนศรีเชียงคานนั่นแหละ) ประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงทางเข้า แล้วเข้าไปในซอยผ่านวัดท่าแขกอีก 2 กิโลเมตร ทางไม่ยากเลย แต่ถ้าคนไม่ค่อยออกกำลัง กว่าจะปั่นมาถึงนี่ก็ถือว่าหนักเอาการพอดูนะ

สังเกตมาตั้งแต่เมื่อเช้าแล้วว่าน้ำโขงดูระดับต่ำกว่าควรจะเป็น มาถึงแก่งคุดคู้แล้วคำตอบกระจ่างครับว่าปีนี้ แห้งแล้งจริง เพราะแม้จะมองไม่เห็นหาดหินแล้วแต่ยังเห็นกองหินใหญ่ชัดเจน ทั้งที่ปกติเดือนนี้กองหินพวกนั้นควรจมอยู่ใต้น้ำ ฝนตกน้อย จีนก็ปล่อยน้ำน้อยด้วย

แก่งคุดคู้เหมาะกับเที่ยวตอนหน้าหนาวและหน้าร้อน พอน้ำแห้งเราสามารถลงไปเดินเล่นบนหาดทรายหาดหินได้เลย ช่วงนี้ถึงน้ำจะน้อยกว่าปกติแต่ก็ยังทำได้แค่ชมวิวอย่างเดียว

แก่งคุดคู้มีของขึ้นชื่ออยู่คือมะพร้าวแก้วทำจากมะพร้าวอ่อน อร่อยมาก เป็นโอท็อปประจำถิ่น มาถึงแล้วต้องโดน ถ้าใครสงสัยว่าเขาปลูกมะพร้าวกันที่ไหน ขอบอกให้ว่าส่วนมากเป็นมะพร้าวสั่งมาจากเพชรบูรณ์ ในเชียงคานเองมีปลูกอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก


ขากลับปั่นออกจากแก่งคุดคู้ยังไม่ทันถึงปากซอยสายฝนก็ตกตูมใหญ่ หลบฝนอยู่นานกว่าชั่วโมงถึงปั่นกลับที่พักได้ พอฝนหยุดฟ้าก็เริ่มสดใสมีแสงเย็นให้เห็นสวยอยู่ไม่น้อยเชียวล่ะ ผมแวะไปเอามอเตอร์ไซค์ หาของกินอาหารตามสั่ง แล้วเข้าห้องพัก เพราะบรรยากาศเปียกแฉะทำให้ถนนคนเดินค่อนข้างเงียบเหงา ที่จริงฝนตกแบบนี้ทำให้ผมดีใจนะ เพราะตอนเช้ามีสิทธิ์ลุ้นหมอกที่ภูทอกแบบเต็มๆ

ตื่นก่อนไก่โห่ตั้งแต่ฟ้ายังมืด ผมยิ้มกริ่มเพราะฝนไม่ตก อากาศกำลังดี รีบล้างหน้าล้างตาแว้นไปภูทอก ไปทางแก่งคุดคู้นั่นเอง พอเลยจากทางเข้าแก่งสักกิโลเดียวก็เจอทางเข้าภูทอกทางขวา เลี้ยวรถเข้าไปอีก 3 กิโลเมตร ถึงที่จอดรถตีนภู ซึ่งไม่ว่าเราจะมารถอะไรก็ต้องจอดตรงนี้

บนภูทอกเป็นที่ตั้งของสถานีโทรคมนาคม ห้ามเอารถส่วนตัวขึ้นเด็ดขาด เขามีรถของ อบต. บริการรับ-ส่งอยู่ตีนภู คิดคนละ 25 บาท หากมาคนเดียวแล้วต้องการขึ้นเลยขอเพิ่มเป็น 50 บาท (ซื้อตั๋วสองใบ) บวกแค่นิดหน่อยผมไม่มีปัญหา ลุยโลดขึ้นไปเลยครับ สองกิโลเมตรก็ถึงยอดภูแล้ว

แรกมาถึงบนภูทอก หมอกขาวโพลนบดบังทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่ตกใจอะไรเพราะเพิ่งหกโมงเช้า มีเวลาอีกเยอะรอฟ้าเปิด แล้วก็เป็นไปตามคาดเพราะอีกสักครึ่งชั่วโมงต่อมาหมอกขาวเริ่มบาง สิ่งที่ต้องการเห็นปรากฏขึ้นอย่างช้าๆ จะรออะไรล่ะลั่นชัตเตอร์สิ แบบรัวๆ เลยนะ

บนภูทอกเราชมวิวได้สามด้านครับ ด้านแรกมองเห็นทุ่งนากับตัวอำเภอเชียงคาน อีกด้านมองไปทางแก่งคุดคู้เห็นแม่น้ำโขงเลี้ยวเลาะตามแนวภูเขา ส่วนอีกฝั่งเห็นทุ่งนาของหมู่บ้านต่างๆ นอกตัวอำเภอ หมอกหน้าฝนแบบนี้ไม่หนาขนาดเป็นทะเลหมอก แต่ผมชอบมากเพราะมองเห็นข้างล่างเหมือนเมืองใต้หมอกสดชื่นที่สุด

ผมถ่ายรูปจนหมอกเริ่มจางประมาณ 7.30 น. ค่อยโทรศัพท์เรียกรถมารับพร้อมกับนักท่องเที่ยวอีกกลุ่ม วันนั้นมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาภูทอกรวมผมแล้วแค่แปดคนเอง ถ่ายรูปสบายไม่ต้องแย่งกับใคร ใครไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์มาเหมือนผม และไม่ได้มาด้วยรถส่วนตัว สามารถเรียกรถสามล้อเครื่องจากตัวอำเภอ ราคาตามตกลง ผันผวนตามจำนวนคนและปริมาณนักท่องเที่ยวที่เชียงคาน แต่มีหลักหนึ่งร้อยอัพแน่นอน ควรนัดแนะกับคนขับรถตั้งแต่เย็นวันก่อนขึ้นนะครับ จากภูทอกเราตกลงให้เขาพาไปเที่ยวแก่งคุดคู้ หรือภูควายเงินได้ด้วย

ลงจากภูทอกผมรีบขี่กลับทางตัวอำเภอก่อน มีเป้าหมายเป็นทุ่งนาริมทางหลวงหมายเลข 201 ซึ่งเป็นเส้นจากตัวเมืองเลยมาเชียงคาน ขานั่งรถทัวร์มามองเห็นว่าแถวบ้านนาบอนทุ่งนากำลังเขียวสวย มีฉากหลังเป็นภูเขา สายหมอกลอยห่มคลุมบางๆ ต้องรีบมาก่อนหมอกจะหาย... บอกเลยว่าฟิน

ได้ภาพมาเพียบยังไม่ทันแปดโมงครึ่งเลยนะเนี่ย เวลาวันนี้เหลือเฟือ ขากลับเข้าเชียงคานแวะขึ้นไปวัดภูช้างน้อยสักหน่อย ซอยเข้าวัดสังเกตง่ายๆ คืออยู่ตรงปลายเกาะกลางถนน จากถนนเราจะเห็นพระใหญ่สีทองประดิษฐานอยู่บนเขาลูกย่อมอย่างชัดเจน แว้นขึ้นไปได้เลย ผมมาเช้าไปนิดวิหารเลยยังไม่เปิด แต่ไม่เป็นไรเพราะจุดประสงค์หลักคือมาชมวิว เห็นเมืองเชียงคานตั้งอยู่ริมน้ำโขง เอาเลนส์เทเลส่องมา เป็นอีกมุมของเชียงคานที่ผมชอบมาก

ได้เวลามื้อเช้า ผมเลือกกินข้าวปุ้นน้ำแจ่ว ร้านป้าลี่ ซอย 14 ศรีเชียงคาน ข้างวัดมหาธาตุ ข้าวปุ้นคือขนมจีน น้ำแจ่วคือน้ำซุปใส รวมกันคือก๋วยเตี๋ยวที่ใช้เส้นขนมจีน ปกติเขาใส่เครื่องในหมู แต่ผมไม่กินเครื่องในเลยขอเป็นหมูล้วน มีหน้าตาเป็นก๋วยเตี๋ยวหมูน้ำใสธรรมดานี่เอง คงไม่ต้องคอมเมนต์เพิ่มเติม

อยู่ท้องแล้วได้เวลาแว้นต่อ ขี่ไปทางแก่งคุดคู้กับภูทอกอีกรอบ แต่คราวนี้เลยไปอีกสัก 4 กิโลเมตร ก่อนถึงบ้านผาแบ่นเล็กน้อยจะเห็นวัดอยู่บนเขาเล็กๆ เลี้ยวขึ้นไปเลยนั่นคือสำนักสงฆ์ภูน้อยสามัคคีธรรม ข้างบนเป็นอีกจุดชมวิวที่เห็นแม่น้ำโขงสวยมาก มองกลับมาฝั่งแก่งคุดคู้เป็นเวิ้งน้ำกว้างใหญ่ ส่วนภูเขาสูงๆ ฉากหลังนั่นเป็นประเทศลาวนะ ไม่ใช่เมืองไทย

ที่วัดตอนนี้กำลังสร้างพระอุโบสถใหม่ คาดว่ากว่าจะเสร็จคงอีกหลายปี เราเข้าไปไหว้พระกันได้ครับ

ลงจากสำนักสงฆ์ภูน้อยจะเข้าสู่บ้านผาแบ่น อีกชุมชนริมโขงเหมือนเชียงคานเพียงแค่ที่นี่ไม่ได้มีเรือนไม้ริมแม่น้ำ สภาพเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้เหมือนบ้านตามต่างจังหวัดทั่วไป เห็นป้ายบอกว่ามีการจัดทำเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ ซึ่งคงเป็นความพยายามกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อจากเชียงคาน ดูสภาพแล้วบอกได้ว่าล้มเหลว แต่เราเข้าไปชมวิวเดินเล่นถ่ายรูปริมแม่น้ำได้นะ

บริเวณบ้านผาแบ่น มีสี่แยกป้ายบอกทางไปบ้านอุมุง และพระพุทธบาทภูควายเงิน เลี้ยวรถไปทันทีครับ เป้าหมายคือการขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทและชมวิว ปัจจุบันพระมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่สร้างมานานหลายปีเสร็จสมบูรณ์สวยงามเรียบร้อย

บนภูควายเงินรู้กันดีว่ามีกระต่ายน่ารักน่าอุ้มอยู่เยอะมาก เดี๋ยวนี้เขาปรับภูมิทัศน์ทำพื้นที่ไม่ให้มันวิ่งเล่นเพ่นพ่านน่าหวาดเสียวโดนรถทับอีกแล้ว จัดสร้างรั้วกั้นบริเวณอย่างดี เราไปให้อาหารพวกมันกันตามสบาย

บนภูควายเงินมีจุดชมวิวอยู่ด้วย มองเห็นบ้านอุมุงอยู่ไม่ไกล ห้อมล้อมด้วยทุ่งนาเขียวขจี ฉากหลังเป็นภูเขาสูงใหญ่ เป็นอีกวิวสีเขียวสวยงามที่ผมต้องขึ้นมาชมทุกครั้งที่มาเชียงคาน

เสร็จสมอารมณ์หมายแล้วกลับเข้าตัวอำเภอเชียงคาน (แวะกินข้าวเที่ยงหน้าที่ว่าการอำเภอแป๊บนึง) แล้วค่อยไปทางฝั่งอำเภอท่าลี่ ตามทางหลวงหมายเลข 2195 วัดระยะทางไปเลย 20 กิโลเมตร จะถึงสถานที่ซึ่งผมชอบมากที่สุดของเชียงคาน แถมมีความหมายทางภูมิศาสตร์ เรียกว่าภูคกงิ้ว หรือภูพระใหญ่

ถนนเลียบน้ำโขงไปเรื่อยๆ ผ่านหมู่บ้านต่างๆ รวมถึงท่าเรือดูดทรายแม่น้ำโขง มีหลายช่วงที่สองข้างทางเป็นภูเขา สวนยาง สวนผลไม้ ทุ่งนา ปีนี้ฝนแล้งหนักเพิ่งจะมาตกตอนที่ผมมาถึง บางแห่งเลยยังไม่ได้เริ่มทำนากันเลย หรือบางที่เพิ่งลงดำนาเท่านั้น แต่ยังพอมีหามุมให้ถ่ายรูปมาได้ครับ คาดว่าอีกเดือนสองเดือนคงเขียวเต็มพื้นที่

20 กิโลเมตร ถึงบ้านท่าดีหมี เห็นป้ายพระใหญ่ให้เลี้ยวตามทันที ขึ้นเขาอีกเล็กน้อยจะมาหยุดอยู่ตรงนี้ บริเวณที่แม่น้ำโขงเลื้อยไหลจากประเทศลาวเข้าสู่ภาคอีสานบ้านเฮา เป็นจุดซึ่งแม่น้ำเหืองไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขงด้วย เลยมีการสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หรือชื่อเต็มๆ คือพระพุทธนวมินทรมงคลลีลาทวินคราภิรักษ์ ประดิษฐานเพื่อเป็นสิริมงคล พื้นที่โดยรอบจัดทำเป็นสวนหย่อม จุดชมวิว


มาคราวนี้ยิ่งเจ๋งไปใหญ่เพราะทาง อบต. ปากตม ปรับภูมิทัศน์ ตัดต้นไม้รกรุงรัง ทำให้มองเห็นวิวแม่น้ำเหืองไหลมารวมกับแม่น้ำโขงเต็มสองตา เมื่อก่อนมากี่ครั้งก็ไม่เคยเห็นแม่น้ำเหืองหรอกเพราะต้นไม้บังหมด ที่เห็นแผ่นดินทั้งฝั่งซ้ายและขวาคือประเทศลาวทั้งคู่ครับ ทางฝั่งซ้ายมีแม่น้ำเหืองนั่นเองเป็นพรมแดนกั้นกับประเทศไทย

ใครไม่มีรถ หรือขี่มอเตอร์ไซค์ไม่เป็น แต่อยากมาเที่ยวพระใหญ่ต้องลองสอบถามหารถรับจ้างหรือนำเที่ยวจากเชียงคานดู

ถ่ายภาพจนอิ่มเอมแล้วค่อยบิดสองล้อกลับตัวเชียงคาน ระหว่างทางแวะถ่ายรูปริมแม่น้ำไปเรื่อย รวมถึงช่วงที่แม่น้ำเลยไหลมารวมกับแม่น้ำโขง น้ำสีแดงเข้มดีเหลือเกิน

ตัดสินใจเอารถไปคืนก่อนเวลาเพราะตะลุยพอใจ พร้อมกับจองตั๋วรถเที่ยวกลับตอนหัวค่ำวันพรุ่งนี้ตรงจุดจอดรถทัวร์ที่ตลาด เดินกลับมาถึงที่พักไม่ทันไร ฝนลงห่าใหญ่เล่นเอาประเทศลาวใกล้ๆ แค่แม่น้ำกั้นหายไปต่อหน้าต่อตาเลยแฮะ

รอจนฝนหยุดแล้วค่อยมาเดินเล่นถนนคนเดินครับ เย็นวันนี้ (พฤหัส) ถือว่าคึกคักพอประมาณ หาของกินนิดหน่อย

ส่วนมื้อหลักเป็นข้าวเปียกเส้น หรือก๋วยจั๊บญวนนั่นแหละ เป็นอาหารขึ้นชื่ออีกอย่างของเชียงคาน ที่ถนนคนเดินมีร้านดังคือร้านแม่งาม อยู่ตรงซอย 15 ผมสั่งแบบพิเศษพิเศษ คือพิเศษใส่ไข่แบบพิเศษ อิ่มอร่อยสมใจ เป็นอาหารโปรดของผมอยู่แล้ว

หนึ่งวันแสนยาวนานหมดไป เวลาที่เชียงคานไม่ได้เดินช้าหรอก แต่ลองตื่นตั้งแต่ตีห้าและเที่ยวไม่หยุดดูสิ วันนั้นต้องยาวนานในความรู้สึกแน่นอน

วันสุดท้ายผมไม่มีแผนอะไรเลย แรกว่าจะเช็คเอาต์แล้วฝากของกับที่พักไว้ก่อน แต่ก็ไม่ต้องเอ่ยปากฝากอะไรทั้งสิ้น เพราะกว่าจะตื่นมา ป้าเจ้าของออกไปทำงานเรียบร้อย บ้านทั้งหลังมีผมอยู่คนเดียว

อ้อ... หากใครขยันตื่นมาตักบาตรข้าวเหนียวตอนเช้าก็ดีนะ เป็นภาพวิถีเชียงคานซึ่งยังคงน่าดูชม ผมขอเอาบรรยากาศเก่าๆ ที่เคยถ่ายไว้มาลงเสมือนว่าคราวนี้ผมตื่นมาทันแล้วกัน (ฮา...)

วันนี้ใช้สองเท้าพาย่ำทั่วเชียงคานครับ จากซอย 1 ไปซอย 20 วนมาเดินเลาะโขงกลับมาซอย 1 ตัดเข้าซอยโน้นซอยนี้อีก เพื่อเก็บบรรยากาศ ความเปลี่ยนแปลงของเชียงคาน

ขาแบกเป้กลับ แขวนกุญแจไว้หน้าห้อง เดินมาทางซอย 9 เจอร้านกาแฟน่ารักชื่อ "เอ็นดู เชียงคาน" ขอแวะนั่งพักจิบน้ำเย็นชื่นใจสักพัก ร้านน่ารักดี เปิดเป็นเกสต์เฮ้าส์ด้วย ห้องพัดลมคืนละ 600 บาท ห้องน้ำรวม นั่งคุยกับพี่สามี-ภรรยา เจ้าของร้านพักใหญ่เกี่ยวกับการเที่ยวเชียงคาน เลยไปถึงเที่ยวอำเภอปากชม อำเภอสังคม (หนองคาย) ซึ่งพอดีผมกำลังคิดเล่นๆ ว่าโอกาสหน้าอาจเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่จากเชียงคานไปเที่ยวสังคมสักหน่อย พี่ผู้ชายบอกว่าเอาเลยพี่แว้นไปมาเรียบร้อยแล้ว!

ใกล้ทุ่มตรงค่อยเดินไปขึ้นรถครับ ปิดทริปเชียงคานรอบสี่อย่างเรียบง่าย

จากทริปครั้งนี้ผมคงไม่อาจฟันธงว่าเชียงคานยังน่าเที่ยวอยู่หรือไม่ เนื่องด้วยอย่างที่บอกคือผมไม่ได้รักเชียงคานเพราะบ้านเรือนไม้ ถนนคนเดิน หรือร้านค้าเก๋ไก๋ทั้งหลาย ผมรักเชียงคานในแบบของผม รักเส้นทางขี่มอเตอร์ไซค์เลียบแม่น้ำโขง รักการขึ้นภูควายเงิน ภูช้างน้อย ภูทอก ภูพระใหญ่ ชมทุ่งนาสีเขียว ชมเชียงคานมุมกว้าง ดังนั้นต่อให้เรือนไม้เก่าแก่ของเชียงคานจะหายไปจนหมดสิ้นทุกหลัง แต่เชียงคานมุมที่ผมหลงรักคงยังไม่หายไปไหนในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน


ใครสนบล็อกรีวิวอื่นของผม อยากคุยเรื่อยเปื่อย สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) ชวนเที่ยว ก็ยินดียิ่งครับ

>>> https://www.facebook.com/alifeatraveller

หรือ

>>> https://alifeatraveller.wordpress.com


นายสองสามก้าว / A Life, A Traveller

 วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 09.20 น.

ความคิดเห็น