ประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดยาวเหยียดที่สุดแห่งหนึ่ง เส้นทางสัญจรสำคัญมุ่งหน้าลงใต้ เป็นจังหวัดซึ่งมีที่เที่ยวหลากหลายมาก ทะเล ป่าเขา ป่าชายเลน วิถีชีวิต เมืองตากอากาศทันสมัย แต่ในรีวิวนี้ผมขอเน้นสองส่วนที่หลายคนอาจยังไม่รู้จักมากนักคือชายหาดในเขตอำเภอเมืองประจวบ และการเที่ยวป่าชายเลนแถวปราณบุรี

ทริปนี้เป็นภาคต่อจากการเที่ยวดำน้ำที่ทะเลชุมพรครับ (คลิกอ่านภาคแรกพร้อมชมวีดีโอใต้ทะเลสวยๆ > http://bit.ly/1OxrW9m) เดินทางร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กลุ่มสารสนเทศการตลาด เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในชื่อแคมเปญกิ๊บเก๋ Chill Out Thailand เพื่อสำรวจแหล่งท่องเที่ยวสามจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยตอนบน เพชรบุรี ประจวบ และชุมพร โดยหลังจากเริ่มต้นกันที่ชุมพร เราย้อนกลับขึ้นมาเที่ยวประจวบคีรีขันธ์กันบ้าง

พูดถึงประจวบคีรีขันธ์ หลายคนคงเคยได้ยินสมญานาม "เมืองสามอ่าว" ความจริงทั้งจังหวัดไม่ได้มีแค่สามอ่าวนะครับ มีหลายสิบต่างหากแถมโด่งดังขึ้นชื่อเพียบตั้งแต่ หัวหิน ปราณบุรี สามร้อยยอด บ่อนอก วนกร จนถึงทับสะแก บ้านกรูด บางเบิด บางสะพาน โน่นเลย แต่คำว่าเมืองสามอ่าวจำเพาะเจาะจงตรงอ่าวที่เรียงกันอยู่บริเวณตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ ไล่จากบนลงล่างคือ อ่าวน้อย อ่าวประจบ และอ่าวมะนาว

ททท. เขาพาไปยลครบทุกอ่าวเพื่อดูความแตกต่าง ทั้งสามอ่าวต่างมีแคแรคเตอร์โดดเด่นไม่ซ้ำกัน เสียดายว่าเป็นช่วงหน้าฝนท้องฟ้าขมุกขมัวไม่แจ่มใส ภาพเลยหม่นหมองน่าเคืองใจ แต่บรรยากาศความชิลยังใช้ได้อยู่

เริ่มต้นจากล่างขึ้นบนครับ ชายหาดแรกที่เราแวะชมคืออ่าวมะนาว คุ้นหูเพราะเป็นหาดชื่อดังที่สุดของเมืองประจวบเขาล่ะ อยู่ในพื้นที่กองบิน 5 กองทัพอากาศ เป็นเขตทหารซึ่งบางพื้นที่สวนหนึ่งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีที่พักอย่างดีดูแลโดยหน่วยงานภายในของทหารเขาให้บริการด้วย ดังนั้นรับประกันเรื่องความปลอดภัย ความสะอาด จัดเป็นหาดท่องเที่ยวระดับห้าดาวเชียวนะ

นอกจากผืนทรายทอดตัวยาวเหยียดแล้ว จะเป็นเตียงชายหาด หรือห่วงยาง เขามีให้เช่า หรือจะเลือกหามุมปูเสื่อเองก็ได้ ของกินของขายมีเพียบ ตลอดแนวหาดร่มรื่นด้วยต้นสนเรียงราย หาเช่าจักรยานปั่นสักคันให้เพลินใจ

ขนาดวันธรรมดา สภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนยังมีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นระยะ เด็กตัวน้อยมาทัศนศึกษาเจอทะเลก็วิ่งหน้าตั้งกระโดดตูมลงน้ำกันเลย

จากอ่านมะนาวลัดเลาะขึ้นมาตามพื้นที่กองบิน 5 จนถึงอนุสรณ์สถานและอุทยานประวัติศาสตร์กองบิน 53 (ชื่อหน่วยเดิมของกองบิน 5) เท่ากับว่าเราพ้นเขตอ่าวมะนาวมาอยู่ที่อ่าวประจวบกันแล้ว แต่ยังคงเป็นอ่าวประจวบฝั่งของทหารติดกับเขาล้อมหมวก บรรยากาศแสนสบายครับ มีการจัดสร้างอนุสรณ์รำลึกถึงเหล่าทหารหาญซึ่งเสียชีวิตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่นี่ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ที่ตอนนี้การเข้าชมต้องทำเป็นหนังสือแจ้งล่วงหน้า

เอาล่ะ พ้นกองบิน 5 มาแล้วจึงเข้าเขตชุมชนเมืองประจวบสักที เห็นชัดว่าที่นี่ไม่ใช่ประเภทชายหาดท่องเที่ยวพักผ่อนหรือเล่นน้ำ แต่เป็นลักษณะหาดตัวเมือง มีแนวตลิ่งยาวเหยียดหลายกิโลเมตร มีโรงแรมที่พักพอประมาณ

จุดสะดุดตาในปัจจุบันคือสะพานสีแดงกลางอ่าว สร้างเสร็จใหม่เอี่ยมเพื่อใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรม ลานวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัด สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานชื่อว่า "สะพานสราญวิถี" มาตัวเมืองประจวบแล้วอย่าพลาดนะครับ วันศุกร์-อาทิตย์ ริมทะเลตรงนี้ตอนเย็นจะมีตลาดนัดถนนคนเดินด้วยคึกคักครื้นเครงกันไป

ถัดขึ้นไปทางเหนืออีกคืออ่าวน้อย ชัดเจนมากว่าแตกต่างจากสองหาดข้างต้น เพราะเป็นชุมชนชาวประมง ชีวิตลูกผู้ชายน้ำเค็ม เรื่องความสวยงามย่อมไม่ใช่แบบทะเลท่องเที่ยว แต่ใครชอบถ่ายรูปวิถีชีวิตล่ะเหมาะมาก หรือมาเก็บแสงสวยๆ ยามเย็นใช้เรือน้อยใหญ่เป็นฉากหน้าก็เชิญตามสบาย

บริเวณอ่าวน้อยยังเป็นที่ตั้งของวัดอ่าวน้อย พระอุโบสถไม้สักทอง น่าเสียดายว่าเราไปเย็นย่ำเกิน โบสถ์เพิ่งปิด (ปิดห้าโมงเย็น) เลยอดดูข้างในว่าสวยงามขนาดไหน ใกล้กันมีทางเดินขึ้นถ้ำพระนอน มองแล้วน่าจะเป็นจุดชมวิวที่สวยงามด้วยครับ ไม่เป็นไรไว้คราวหลังมาใหม่

นั่นแหละคือทั้งสามอ่าวของเมืองประจวบ แต่ในเขตอำเภอเมืองโซนนี้ยังมีที่เที่ยวอีกเพียบ เขาช่องกระจก วนอุทยานเขาตาม่องลาย เขาล้อมหมวก ศาลหลักเมือง ชุมชนคลองวาฬ หรือลงใต้ไปอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ แถมตัวเมืองประจวบค่อนข้างสงบเงียบไม่พลุกพล่าน สามารถนั่งรถไฟมาเช่าจักรยานปั่นชิลหรือขับรถเที่ยวเองให้ทั่วได้ไม่ยาก

นอกเหนือจากเมืองสาวอ่าว อีกรูปแบบท่องเที่ยวที่ ททท. นำเสนออย่างมากคือป่าชายเลน และไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ที่ประจวบมีป่าชายเลนแสนสวยให้เที่ยวอยู่หลายแห่ง แต่ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองนะครับ ต้องขึ้นเหนือสักหน่อยถึงอำเภอปราณบุรี นั่นเป็นแหล่งป่าชายเลนที่สำคัญของอ่าวไทยตอนบนเลยเชียว

สถานที่แรกซึ่งทั้ง ททท. และตัวผมเองภูมิใจเสนออย่างยิ่งคือ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พลิกฟื้นพื้นที่เสื่อมโทรมเพราะสัมปทานนากุ้งในอดีตจนกระทั่งกลับมาเป็นป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ใครมาที่นี่แล้วไม่หลงรักขอบอกว่าต้องใจแข็งเต็มทน เพราะป่าชายเลนสร้างใหม่แห่งนี้สวย ร่มรื่น มีชีวิตชีวา เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมมาก ผมเคยมาเที่ยวแล้วแต่ไม่อิดออดในการกลับมาอีกครั้งเลยครับ

ภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วยสองส่วนใหญ่ ส่วนแรกคือนิทรรศการความเป็นมา และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับป่าชายเลน ใครไปเที่ยวช่วงก่อนเย็นเขามีวีดีทัศน์ให้ชมกันด้วย

ส่วนต่อมาคือป่าชายเลนนั่นไงล่ะ พื้นที่ทั้งหมดกินบริเวณกว้างพอสมควรแต่มีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติระยะสั้นไม่ต้องเดินเมื่อยจนเกินไป ประมาณหนึ่งสนามฟุตบอลพอดี ใช้เวลาไม่นานครับ บรรยากาศที่นี่เป็นอะไรซึ่งผมหลงรักเลยล่ะ น่าชื่นใจกับการพลิกแผ่นดินเสื่อมสภาพให้กลับมาเป็นป่าสวยงามแบบนี้

แต่เด็ดที่สุดคือการขึ้นไปชมวิวบนหอชะคราม ความสูงประมาณตึกหกชั้น เห็นป่าชายเลนเขียวขจีทอดตัวกว้างไกล สดชื่นสายตามาก มาบนนี้แล้วต้องหายใจกันให้เต็มปอด

ห่างจากศูนย์ฯ สิรินาถราชินี สักสิบกว่ากิโลเมตรในเขตอำเภอปราณบุรีเหมือนกัน มีป่าชายเลนธรรมชาติแห่งหนึ่งที่วนอุทยานปราณบุรี คราวนี้ ททท. ไม่ได้พาไปหรอกครับ แต่ผมเคยไปแล้วจึงอยากแนะนำเพิ่มเติม ขอนำภาพของเก่ามาลงไว้แล้วกัน ที่นี่ส่วนใหญ่เขามาพักผ่อนริมทะเลบรรยากาศแบบอุทยานฯ ร่มรื่นด้วยต้นสนละลานตา แต่จุดเด่นที่ผมชอบคือป่าชายเลนนี่แหละ ได้รับการดูแลอย่างดี ตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำปราณบุรี มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติสักหนึ่งกิโลเมตร แถมมีบริการล่องเรือเที่ยวอีกต่างหาก บอกเลยว่าเด็ดไม่แพ้ที่ศูนย์ฯ สิรินาถราชินี

ใครรักป่าชายเลนยังไม่หมดเท่านี้เพราะมีอีกแห่งอยากให้ไป อยู่ในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ไม่ไกลจากเขตจังหวัดประจวบสักเท่าไหร่ ในค่ายพระรามหก หรือพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เลี้ยวรถเข้าไปได้เลย ก่อนถึงพระราชนิเวศน์ฯ จะพบอาคารสีขาว อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร นั่นคือเป้าหมาย

ที่อุทยานฯ สิรินธร มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนน่าสนใจกว่าที่ใด เพราะเป็นป่าคนสร้างขึ้นมาทั้งหมด เทียบให้เข้าใจง่ายว่าที่ศูนย์ฯ สิรินาถราชินี คือการพลิกฟื้นปลูกป่าขึ้นใหม่ในพื้นที่เสื่อมโทรมซึ่งแต่เดิมเคยเป็นป่าชายเลนมาก่อน แต่ที่อุทยานฯ สิรินธร เป็นการสร้างป่าชายเลนขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เคยมีป่าชายเลน

ความแตกต่างชัดเจนครับ ต้นไม้พรรณไม้ที่อุทยานฯ สิรินธร ค่อนข้างแคระแกร็นไม่สมบูรณ์เมื่อเทียบกับป่าชายเลนทั่วไป เพราะอย่างที่บอกคือเป็นการสร้างป่าในพื้นที่ที่ไม่ได้เหมาะกับการเติบโตของบรรดาไม้ชายเลนมาตั้งแต่แรก ต้องอาศัยการพัฒนาพื้นที่และพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมทีละน้อย แต่นับเป็นสัญญาณอันดีว่ามนุษย์ไม่เพียงพื้นฟูป่าเก่า แต่ยังสามารถปลูกป่าแห่งใหม่ขึ้นได้ด้วย หากมีการศึกษาวิจัยพัฒนาต่อไปเราอาจสร้างป่าชายเลนในพื้นที่อื่นของประเทศได้อีก

ที่นี่มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติเช่นเดียวกับป่าชายเลนทั่วไป ร่วมเดินกันเลยไม่ต้องเสียเวลา บรรยากาศดีทีเดียว

ครั้งนี้ผมยังมีโอกาสร่วมกิจกรรมปลูกป่ากับทางอุทยานฯ นักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถติดต่อทำกิจกรรมนี้ได้เช่นกันนะ และยังมีอะไรน่าสนใจอีกหลายส่วน เพราะที่นี่เขาเน้นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน ทว่าเป็นอะไรบ้างขอเชิญไปชมของจริงกันเอาเองเลย

นั่นแหละครับ Chill Out Thailand เที่ยวแบบชิลๆ ทั้งความสนุกสนานและซึมซับความรู้กับทาง ททท. กลุ่มสารสนเทศการตลาด ฉบับเวอร์ชั่นประจวบคีรีขันธ์ แอบปนเพชรบุรีมาเล็กน้อย (ฮา...) เป็นการเที่ยวที่เฮฮาดีเลยทีเดียว และผมคงมองหาโอกาสกลับไปสัมผัสบรรยากาศประจวบคีรีขันธ์ในแบบฉบับของผมอีกหลายครั้งแน่นอน เพราะไม่ว่าจะมาเที่ยวกี่ทีต่อกี่ที จังหวัดยาวเหยียดแห่งนี่ก็มอบรอยยิ้มให้เสมอจริงๆ


สอบถามข้อมูลท่องเที่ยวเพิ่มเติม

ททท. สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ : 0-3251-3885, 0-3251-3871

ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี : 0-3263-2255, 08-6607-7712

วนอุทยานปราณบุรี : 0-3262-1608, 08-9787-4812

อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร : 0-3250-8405-10, 0-3250-8379


ใครสนบล็อกรีวิวอื่นของผม อยากคุยเรื่อยเปื่อย สอบถามข้อมูล (ถ้าผมมีให้นะ) ชวนเที่ยว ก็ยินดียิ่งครับ

>>> https://www.facebook.com/alifeatraveller

หรือ

>>> https://alifeatraveller.wordpress.com


นายสองสามก้าว / A Life, A Traveller

 วันพฤหัสที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 19.22 น.

ความคิดเห็น