“ปีนี้จะพยายามเดินป่าใต้ให้เยอะขึ้น” ประโยคนี้ผมเป็นคนพูดเอง เป็นหนึ่งในภารกิจเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ ซึ่งเมื่อประกอบกับยามนี้ป่าเหนือกำลังแห้งแล้งแถมปัญหาฝุ่นควันรุมเร้า จึงเป็นข้ออ้างดีๆ สำหรับการลงใต้ ปักหมุดเริ่มต้นที่แรก... เขาหลวงประจวบ
เขาหลวงเป็นยอดเขาสูงสุดของประจวบคีรีขันธ์ 1,250 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และเป็นแนวภูเขาเขตแดนไทย-พม่า อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยาง อำเภอเมืองประจวบ เยื้องหาดวนกรไม่กี่กิโลเมตร
การเที่ยวที่นี่ทำได้ไม่ยากครับเพราะเปิดให้เที่ยวทั้งปี แต่มีข้อแม้นิดหน่อยคืออนุญาตให้ขึ้นเดือนละ 2-3 ครั้งเท่านั้น ลำพังแค่จองขึ้นเขาจึงทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าจะจองให้ได้เวลาที่เราต้องการก็ต้องจองล่วงหน้ากันหน่อย
อย่างผมโทรไปตั้งแต่เมษา 61 ตอนนั้นอุทยานฯ แจ้งว่าคิวจองยาวไปถึงเดือนกันยา ซึ่งผมไม่แคร์อะไรเพราะตั้งใจจะเที่ยวกุมภา 62 ว่าแล้วเลยจองข้ามปี ล่วงหน้าสิบเดือนเอง (ฮา...) จองเดือนเสร็จปุ๊บโอนมัดจำปั๊บ 500 บาท แค่นี้ก็เรียบร้อยว่าผมจะได้ขึ้นช่วงที่ต้องการแน่นอน
เหตุที่จองเดือนกุมภาก็ไม่มีอะไรมาก ผมเคยขึ้นที่นี่มาแล้วครั้งหนึ่งเดือนตุลาคม เจอฝนฟ้ากระหน่ำแหลกลาญ ครั้งนี้เลยอยากได้บรรยากาศฟ้าสวยแดดจัด มองเห็นอ่าวไทยทอดยาวจรดเส้นขอบฟ้าชัดๆ ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงเหมาะสม โอกาสฝนตกค่อนข้างน้อย
แล้วอีกสิบเดือนต่อมาเมื่อวันเวลามาถึง ก็ขึ้นเป้ออกเดินทางกันครับ
(1)
อุทยานแห่งชาติน้ำตกห้วยยางอยู่ห่างกทม. ไม่ไกลนัก การเดินทางด้วยรถสาธารณะเวลาไม่ค่อยเหมาะเท่าไหร่ พวกเราที่มีกัน 9 คนเลยเลือกวิธีง่ายๆ ไปรถยนต์ส่วนตัวสามคัน เจอกันตรงที่ทำการฯ ตอนค่ำๆ พอเช้ามาค่อยเตรียมพร้อมลุย
อุทยานฯ มีลานกางเต็นท์กะทัดรัด ห้องน้ำห้องอาบน้ำสะอาดดี ถึงไม่ได้มาเดินป่าก็น่ามาพักผ่อนอยู่เหมือนกันนะ
พวกเราเริ่มเดินกันช้ากว่าปกติเล็กน้อยเพราะบังเอิญเจ้าหน้าที่นำทางมีประชุมกับหัวหน้าอุทยานฯ กว่าจะได้เริ่มก้าวแรกก็ปาเข้าไปสิบโมงตรง รู้สึกเสียววาบนิดหน่อยเพราะจำได้ว่าคราวก่อนผมใช้เวลานานมาก
พร้อมเดินแล้ว เรา 9 คน เจ้าหน้าที่ 2 คน ไม่มีลูกหาบ ไม่ใช่อึดถึกทนไม่จ้างนะครับ แต่ที่นี่ไม่มีลูกหาบให้บริการ ใครจะขึ้นไปต้องแบกเองทั้งหมด ถือเป็นเรื่องหนักสำหรับเขาหลวงอย่างหนึ่งเลยล่ะ
ระยะทางขึ้นเขาหลวงประมาณ 7 กิโลเมตร เส้นทางเริ่มต้นคือขึ้นไปตามน้ำตกห้วยยางชั้น 1-5 ซึ่งเป็นชั้นที่ให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้ามาเล่นนั่นแหละ
ถึงน้ำตกชั้น 5 เมื่อไหร่จะเจอทางแยกขึ้นยอดเขาหลวง ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นแท้จริงครับ ทางข้างหน้าชันและชันราว 80 เปอร์เซ็นต์ ยังดีว่าเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นทางราบให้พักขาและถอนหายใจอยู่บ้าง
ขึ้นมาเรื่อยๆ สักสิบเอ็ดโมงครึ่งถึงลำห้วยตรงนี้ เป็นจุดพักชั้นดี ที่สำคัญคือเป็นแหล่งน้ำสุดท้ายระหว่างทางซึ่งเราจะเจอ พ้นตรงนี้จะพบจุดเติมน้ำอีกทีก็แถวสถานที่ตั้งแคมป์โน่นเลย
พักสักครู่แล้วลากสังขารเดินกันต่อ ทางถือว่าชันทีเดียวแต่ข้อดีคือเป็นป่าสวยเขียวมาก ต้นไม้ใหญ่เต็มไปหมด ให้ความรู้สึกกระชุ่มกระชวยดีนะ
บ่ายโมงกว่าๆ แบกเป้มาถึงไทรต้นนี้ ใหญ่และอลังการสุดยอด
จากนั้นเรายังคงต้องก้มหน้าเดินต่อไป เหนื่อยนักก็พักบ้าง พอหายใจคล่องขึ้นก็ไปต่อ จนกระทั่งเกือบสี่โมงเย็นพอดีเราก็มาโผล่ตรงนี้ มันคืออะไรละเนี่ย (ฮา...) นี่คือจุดที่เรียกว่าผาหนึ่งครับ ปกติเป็นจุดแรกที่เราได้เห็นวิวสวยๆ ของทะเลประจวบ แต่วันนี้กลางเดือนกุมภาพันธ์ มันเกิดอะไรขึ้นล่ะเนี่ย
ถึงจะรู้สึกท้อในดวงชะตานิดๆ แต่ทำอะไรไม่ได้แล้ว จากผาหนึ่งเหลือเพียง 400-500 เมตร ก็ถึงจุดตั้งแคมป์บริเวณผาสอง ระหว่างทางจะผ่านธารน้ำก็จัดการเติมกันไปใช้ที่ให้เรียบร้อย ใครอยากอาบน้ำอาบท่าก็พอไหวอยู่
เรามาถึงจุดตั้งแคมป์ 16.20 น. ใช้เวลาเดินทั้งหมดประมาณหกชั่วโมงครึ่ง ค่อนข้างเร็วกว่าที่คาดไว้ตอนแรกครับ ยอมให้กับความแข็งแกร่งของเพื่อนร่วมทริป (ฮา...)
มาถึงแคมป์แล้ว บรรยากาศหน้าฝนชัดๆ ไม่จำเป็นต้องออกไปดูวิวเลยเพราะมองอะไรไม่เห็นหรอก ก็กางเต็นท์ผูกเปลตั้งแคมป์กันไป พื้นที่มีให้เลือกเหลือเฟือ
จัดการแคมป์เสร็จไม่เท่าไหร่ฝนก็ตกลงมาซู่ใหญ่ แถมผมเจองานเข้าเต็มๆ เมื่อพลาดท่าใส่รองเท้าแตะไปเหยียบไม้หนามที่ล้มอยู่กับพื้น หนามทะลุรองเท้าจิ้มเท้าซ้าย ด้วยความที่เราเดินกันมาหนักหน่วงเลือดลมกำลังไหลเวียน เลือดเลยพุ่งกระฉูด เพื่อนคนหนึ่งบอกว่านึกว่าทำน้ำแดงหกใส่เท้า
นึกไปพิมพ์ไปยังรู้สึกเสียบวาบที่แผลอยู่เลย (อูย...)
โชคดีว่าผมเพิ่งฉีดยากันบาดทะยักมาหมาดๆ จากอุบัติเหตุรถล้มปลายปีก่อนเลยไม่มีอะไรน่ากังวลมาก ล้างแผล ใส่ยา ปฐมพยาบาลเบื้องต้น กินยาแก้อักเสบ พารา ปวดแผลนิดหน่อยแต่ไม่ถึงกับเดินไม่ได้
วันนั้นฟ้าปิดตลอดเลยพักผ่อนชิลๆ กันไป ทำกับข้าว ล้อมวงกินข้าว เฮฮากันตามประสา ถึงจะได้แผลที่เท้ามา แต่หัวใจของผมยังเริงร่าดีอยู่
(2)
ผมนอนเปล รู้สึกตัวตื่นก็มองดูสภาพบรรยากาศเรื่อยๆ กระทั่งเช้าฟ้าเริ่มสว่างก็ยังไม่มีวี่แววหมอกจะคลายตัว ถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่งเพราะทำให้เราไม่ต้องรีบลุกไปชมวิวหรือถ่ายภาพ พลิกไปพลิกมาอยู่ในเปลนั่นแหละ
จนเก้าโมงกว่าๆ ถึงเริ่มมีแววหมอกบางลงบ้าง เลยขอโฉบไปที่หน้าผาสักหน่อยดูว่าจะมีวิวให้เห็นหรือเปล่า ปรากฏว่าอากาศพอเปิดๆ เปิดๆ อยู่บ้าง หมอกขาวไหลมาเรื่อยๆ บรรยากาศสดชื่นดีทีเดียว
อ้อ... ผาสองมีจุดชมวิวสองฝั่ง ซ้าย ขวา เดินไปดูได้ทั้งคู่ครับ
ถ่ายรูปพอหอมปากหอมคอก็มารวมกลุ่มกินข้าว ภารกิจต่อไปของวันนี้คือสำรวจยอดเขาหลวง ขึ้นไปจุดสูงสุด 1,250 เมตร ชมป่าโบราณ และหน้าผาฝั่งพม่า เส้นทางเดินไม่ไกลครับ รวมแล้วสองสามกิโลเมตรเท่า
ป่าเขาหลวงประจวบเขียวดีจริงเชียว ยิ่งเดินยิ่งสดชื่นยิ่งร่มรื่น ขนาดเดือนกุมภาพันธ์ยังเขียวขนาดนี้
มีอะไรให้ดูระหว่างทางเยอะแยะไปหมด ถ่ายรูปเพลินมากครับ
สักพักเราก็มาถึงยอดเขาหลวงประจวบ ผู้พิชิต 1,250 เมตร ถูกต้องแล้วนี่แหละยอดเขาหลวง (ฮา...) ไม่มีวิวอะไรให้เห็นครับ เป็นยอดเขาปิดทึบด้วยต้นไม้
ทว่ายอดเขาไม่ใช่จุดไฮไลท์หรอกครับ ที่ห้ามพลาดคือจุดต่อไปต่างหาก บางคนก็ขนานนามว่าประตูมิติ บางคนก็เรียกว่าประตูกาลเวลา เพราะป่าบริเวณนี้สวยเขียวชอุ่มเหมือนย้อนกลับไปโลกยุคดึกดำบรรพ์ ส่วนประตูที่ว่าคือต้นไม้และเถาวัลย์ที่โน้มตัวโค้งกลายเป็นเหมือนซุ้มประตูอย่างเหลือเชื่อ
ถัดจากซุ้มประตูกาลเวลาคือผาสี่ หรือหน้าผาที่มองเห็นวิวป่าฝั่งพม่า พูดง่ายๆ ว่าเป็นหน้าผาที่หันไปทิศตะวันตกนั่นเอง เรามาถึงตอนฟ้ากำลังเปิดมากขึ้นพอดีเลยได้เห็นความสมบูรณ์ของป่าเขาหลวง อยากให้ป่าทุกที่เป็นแบบนี้จริงๆ
หลังนั่งเล่นที่ผาสี่พอหอมปากหอมคอ พวกเราก็เดินกลับไปจุดตั้งแคมป์ผาสอง ไปดูหน่อยว่าจะเห็นวิวชัดๆ แล้วหรือยัง ซึ่งผลคือฟ้ายังเปิดๆ ปิดๆ สลับกันอยู่ตลอด แต่ดูเหมือนเราจะไม่สนใจวิวแล้วล่ะ มีความสุขเฮฮากับการได้พูดคุยและหัวเราะกันมากกว่า มิตรภาพในป่าเกิดขึ้นไม่ยากเลย
พอได้เวลาก็ทำกับข้าวกับปลา ช่วยกันกรอกน้ำ ใครอยากอาบน้ำก็ว่าไป ส่วนผมมีแผลที่ฝ่าเท้าทำให้ต้องอยู่นิ่งๆ อย่าไปเสี่ยงโดนน้ำเลย
ค่ำนั้นหลังกินข้าวเสร็จ พวกเราหลายคนไปนั่งตรงผาสองดูวิวกลางคืนที่ฟ้าเปิดกว้างแล้ว พระจันทร์ใกล้วันเพ็ญส่องสว่าง ลมพัดแต่ละทีทำเอาเย็นวาบใช่เล่น ไม่ต้องบอกหรอกนะว่ามันแฮปปี้ขนาดไหน
(3)
ผมกำลังนอนหลับฝันดีอยู่ในเปล ก็มีเสียงขลุกขลักขยับมาใกล้ พร้อมเสียงเรียกเบาๆ “พี่ๆ ออกมาถ่ายดาวป่าว เห็นช้างเผือกนะ” ได้ยินเท่านั้นแหละก็รีบลุกพรวดใส่รองเท้า คว้ากล้อง ขาตั้ง ออกไปที่ผาสองทันที
ถึงจะไม่อลังการอย่างที่หวัง แต่อย่างน้อยดาวสามโลก ดาวบนดิน ดาวในทะเล และดาวบนท้องฟ้า เราก็ได้เห็นมันแล้ว
พวกเราถ่ายรูปเล่นอยู่ริมผา รอจนพระอาทิตย์ขึ้น แสงแรกของวันสวยงามเสมอโดยเฉพาะเมื่อมาอยู่บนภูเขาสูง มองเยื้องไปทางซ้ายจากหน้าผาจะเห็นหาดวนกร มีเกาะจาน เกาะท้ายทรีย์ อยู่กลางทะเล ถ้ามองข้ามไปทางซ้ายไกลหน่อยจะเห็นเขาคลองวาฬ เขาล้อมหมวก ซึ่งเป็นบริเวณตัวเมืองประจวบ
หลังกินข้าวมื้อสุดท้ายบนเขาแบบทุบหม้อข้าว เราก็จัดแจงเก็บแคมป์ให้เรียบร้อย มาถึงเป็นยังไงก็ทำให้มันมีสภาพแบบนั้นในเวอร์ชั่นที่สะอาดขึ้นกว่าเก่า
เราออกจากแคมป์ประมาณสิบโมง แวะถ่ายภาพที่ผาหนึ่งกันนิดหน่อย พอวิวเปิดแล้วจากตรงนี้จะเห็นผาสองอยู่ใกล้ๆ และหากมองไปทางทะเลจะเห็นวิวสุดสายตา ขอเก็บภาพเป็นที่ระลึกทิ้งท้ายสักหน่อยแล้วกัน
ขาขึ้นยังขึ้นกันได้ ขาลงจะไปยากอะไร ด้วยความที่เจ็บเท้านิดหน่อยผมเลยขอเกาะกลุ่มรั้งท้ายน้องๆ ผู้หญิงลงมาแบบไม่รีบ
ถึงด้านล่างตอนใกล้บ่ายสอง กินข้าวที่ร้านสวัสดิการ อาบน้ำอาบท่า ใช้เวลาได้อย่างเต็มที่ก่อนแยกย้ายกลับบ้าน ส่วนตัวผมเองขออยู่ต่อเที่ยวประจวบอีกสี่ห้าวัน เพราะนานทีปีหนจะขับรถส่วนตัวออกมา ใช้ให้คุ้มค่าเสียเลย
บางทีก็นึกขำดวงตัวเอง เพราะตั้งใจมาเขาหลวงประจวบเดือนกุมภาก็หวังจะโดนแดดจัดๆ เห็นวิวเปิดโล่งฟ้าใสทะเลกว้างไกล แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับได้บรรยากาศคนละเรื่อง แล้วหลังจากนั้นอีกสองวันน่ะหรือ... ภาพนี้ถ่ายจากเขาตาม่องล่าย เมืองประจวบ ภูเขาที่เห็นด้านหลังคือเขาหลวง ใสปิ๊งแบบนี้เลยเชียว
แต่ถึงอย่างนั้น หากถามว่าผมผิดหวังกับทริปนี้หรือเปล่าก็ขอส่ายหัวตอบเลยว่าไม่ เพราะเป็นทริปที่สนุกมาก ทั้งเรื่องเดินขึ้นเขา เพื่อนร่วมทริป มิตรภาพ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ รวมถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากแผลที่ฝ่าเท้า
ที่สำคัญ ทริปนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าผมหลงใหลเขาหลวงประจวบแบบหมดหัวใจ ครั้งแรกเพียงแค่รู้จัก ครั้งนี้ครั้งที่สองจึงมีเวลามองเห็นหลายสิ่งหลายอย่างจนกระทั่งเกิดเป็น... ความรัก
ขอใช้คำว่าเขาหลวงประจวบเป็นหนึ่งขุนเขาในดวงใจของผมครับ จะกลับมาอีกแน่นอนเป็นครั้งที่สาม หรือบางทีผมควรจะโทรไปอุทยานฯ พรุ่งนี้เพื่อจองทริปใหม่สักมีนาคมปีหน้าดีหรือเปล่านะ (ฮา...)
ข้อมูลสักนิดใครอยากพิชิตเขาหลวง
- เปิดให้เที่ยวตลอดทั้งปี (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ) แต่กำหนดเดือนละ 2-3 กลุ่ม จำนวนนักท่องเที่ยวต่อเดือนไม่เกิน 40 คน
- จองทริปล่วงหน้าได้นานหลายเดือน ติดต่อ อช.น้ำตกห้วยยาง 0847012795, 0818984758
- เส้นทางเดินขึ้นเขาประมาณ 7 กิโลเมตร ทางชันประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาเดินประมาณ 6-7 ชั่วโมง
- ที่นี่ไม่มีลูกหาบให้บริการ นักท่องเที่ยวต้องจัดการสัมภาระของตนเองทั้งหมด
- ด้านบนเขามีแหล่งน้ำซับตลอดทั้งปี พกตัวกรองน้ำไปด้วยเพื่อความสบายใจ
- มีทากตลอดทั้งปี หน้าฝนก็เยอะ หน้าแล้งก็น้อย โดยเฉพาะบริเวณยอดเขาและพื้นที่ตั้งแคมป์
- ค่าใช้จ่ายที่นี่นอกจากค่าธรรมเนียมปกติของอุทยานแห่งชาติคือ ค่าเข้าคนละ 20 บาท ค่าค้างแรม 30 บาท ต่อคน ต่อคืน ก็จะมีเพียงค่าเจ้าหน้าที่นำทาง 600 บาท ต่อวัน ปกติหนึ่งกลุ่มไม่เกิน 10 คน ใช้เจ้าหน้าที่ 2 คน
- สามารถเดินแบบหนึ่งคืนหรือสองคืนก็ได้ แต่แนะนำสองคืนดีกว่า เพราะพักหนึ่งคืนถ้าทำเวลาไม่ดีอาจไม่ได้ขึ้นยอดหรือไปผาอื่น
- ไม่ว่าจะเลือกพักหนึ่งคืนหรือสองคืน ก็นอนเพียงแคมป์เดียวที่ผาสอง
- นอนเต็นท์ได้ เปลได้ ตามสะดวก ที่ทางเหลือเฟือ
- ที่ตั้งแคมป์จะมีสัญญาโทรศัพท์และสัญญาณอินเทอร์เน็ตบริเวณหน้าผา หากเข้ามาด้านในสัญญาณจะมีๆ หายๆ
ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวเดินทางของผมได้อีกช่องทาง
http://www.facebook.com/alifeatraveller
นายสองสามก้าว / A Life, A Traveller
วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2562 เวลา 20.35 น.