สวัสดีวันศุกร์ค่ะหลายๆท่านคงเตรียมตัวไปเที่ยวในวันหยุดยาวกันนะคะTamkarnwela ฉบับนี้จะพาไปแอ่วเมืองเล็กๆทางเหนือ...น่าน ..ค่ะ



น่านเป็นเมืองเล็กๆทางภาคเหนือซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานเหลือเกิน ที่นี่มีทั้งความงดงามทางธรรมชาติความงดงามทางวัฒนธรรม ประเพณี และความศรัทธาในพระพุทธศาสนา...ใครที่เคยไปหลวงพระบางมาจะสัมผัสได้ถึงความเป็นบ้านพี่เมืองน้องระหว่าง 2 เมืองนี้นะคะ เพราะมีการรับเอาวัฒนธรรมของล้านนามาเหมือนๆกัน แต่ที่หลวงพระบางในปัจจุบันจะมีการปรุงแต่งมากกว่าน่านเนื่องจากการหลั่งไหลเข้าไปของนักท่องเที่ยวอย่างมากมาย..น่านยังคงอยู่ในรูปแบบความเรียบง่ายมากกว่าหลวงพระบางค่ะใรความรู้สึกของนักท่องเที่ยวอย่างเรา



น่านเริ่มเปิดตัวเองสู่ความสนใจของนักท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆและปัจจุบันการเดินทางไปน่านก็สะดวกสบายกว่าแต่ก่อนเยอะมีสายการบินบินตรงจากกรุงเทพไปน่านทุกวันถึง 2 สายการบินสนามบินน่านแห่งใหม่ก็สะดวกสบายสวยงามพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่



สำหรับคนที่มีเวลาว่าง 2 วัน 1 คืนลองไปชมกันนะคะว่าเราจะได้พบอะไรที่น่านกันบ้างGo North Thailand กันค่ะ.

“แอ่วเหนือม่วนกั๋นมหัศจรรย์วันธรรมดา"..



เราเลือกเดินทางกันในวันธรรมดากับสายการบินที่ใครๆก็บินได้กับไฟล์ทที่ออกเดินทาง 10.15 น. ไปถึงน่าน 11.20 น. สบายๆนะคะFD มีไฟล์ทไปน่านวันละ 2 เที่ยวค่ะ



เที่ยวบินนี้เรามี Batman บินไปกะเราด้วย น่ารักเชียวค่ะ



ในเมื่อเรามาถึงเวลาใกล้เที่ยงแบบนี้แวะทานข้าวกันก่อนเลยแล้วกันค่ะร้านนี้ใกล้ๆสนามบินเป็นร้านเก่าแก่ของที่นี่นะคะสุริยาการ์เด้นท มาถึงเมืองเหนือ ต้องสั่งอาหารเมืองนะคะ



เราเลือกที่จะชมเมืองน่านในช่วงครึ่งบ่ายนี้ด้วยบริการรถรางชมเมืองกันค่ะบริการรถรางนี้ติดต่อได้ที่ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ถนนผากอง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ติดต่อ โทรศัพท์ 054 – 751 169 ทุกวัน เป็นบริการของเทศบาลเมืองน่านค่ะ (อยู่ตรงข้ามวัดภูมินทร์..)



-กำหนดวันและเวลาให้บริการรถรางชมเมืองน่าน



รอบปกติ (จำหน่ายบัตร)

วันจันทร์ – วันศุกร์ ให้บริการวันละ 1 รอบ เวลา 15.30 น. (จำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละรอบอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป)

วันเสาร์ - อาทิตย์ ให้บริการ 2 รอบ เวลา 10.30 น. และ เวลา 15.30 น. (จำนวนนักท่องเที่ยวแต่ละรอบอย่างน้อย 5 คนขึ้นไป)

วันหยุดนักขัตฤกษ์/วันหยุดยาวติดต่อกัน ให้บริการ 2 รอบ เวลา 10.30 น. และ เวลา 15.30 น. และจะเพิ่มรอบให้บริการโดยพิจารณาจากจำนวนความต้องการของนักท่องเที่ยว



• อัตราค่าบริการ

ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ราคา 30 บาท/คน

เด็ก (ต่ำกว่า 14ปี) และผู้สูงวัย (60 ปีขึ้นไป) ราคา 15 บาท/คน

รอบพิเศษ (เหมาบริการ)



นอกเหนือจากรอบปกติ นักท่องเที่ยวสามารถแจ้งความประสงค์ล่วงหน้า เหมาบริการรอบรถรางที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว นอกเหนือจากเวลาที่กำหนดในรอบปกติ

อัตราค่าบริการ ราคารอบละ 500 บาท

เรามากัน 5 คนเลยเหมารอบค่ะเผื่ออยากแวะถ่ายรูปตรงไหนนานๆได้สบายๆ

ระหว่างติดต่อรถรางสังเกตรอบๆตัวมีแต่รูป “ปู่ม่านย่าม่าน" ทั่วๆไปรอบๆตัว...เรามาถึงน่านแล้วจริงๆค่ะ



แต่ละรอบจะมีน้องมัคคุเทศก์ท้องถิ่นคอยอธิบายและให้ความรู้เรื่องเมืองน่านค่ะ



น้องอู้กำเมืองด้วยน่ารักจริงๆนะคะ



ที่น่านนี้มีวัดเยอะมากร่วม 400 วัดเห็นจะได้เราสามารถไหว้พระเก้าวัดได้ภายในครึ่งบ่ายนี้เลยนะคะเพราะวัดอยู่ติดๆกันมากแสดงให้เห็นถึงแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่มีกันอย่างเปี่ยมล้นมีน้องที่รู้จักนั่งเครื่องมาตอนเช้าแล้วกลับไฟล์ทเย็นไหว้พระได้ 9 วัดครบถ้วนค่ะ..



เราเริ่มต้นจากการสักการะ เสาพระหลักเมืองประจำจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ในวัดมิ่งเมือง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน เพื่อความเป็นสิริมงคล



วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ ประวัติของวัดมิ่งเมือง คือ เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบที่ซากวิหาร ในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่านสถาปนาวัดใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง ต่อมาปี 2527ได้มีการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัยแบบในปัจจุบันนะคะ



ความรู้สึกแรกเมื่อมาถึงนี่วัดร่องขุ่นนี่นา



บริเวณวัดมิ่งเมือง อันเป็นที่ตั้งของเสาพระหลักเมืองน่านนั้น สิ่งที่เด่นสะดุดตาคือ ศาลาจัตุรมุขลวดลายปูนปั้นสีขาวอันวิจิตรตระการตา มียอดพรหมสี่หน้าเป็นตัวอาคารประดิษฐานศาลหลักเมืองค่ะ



ถัดเข้าไปเป็นโบสถ์ของวัด ภายในมีจิตรกรรมประวัติความเป็นมาของเมืองน่านตั้งแต่ต้นราชวงศ์ภูมามาจนถึงปัจจุบัน



จิตรกรรมฝาผนังสวยงามมากค่ะ บูรณะโดยช่างชาวน่าน



ด้วยสถาปัตยกรรมปูนปั้นอันโดดเด่นมองเผินๆเหมือนวัดที่เราคุ้นเคยกัน อย่างวัดร่องขุ่น จังหวัดเชียงรายว่ากันว่า ที่นี่เป็นต้นแบบของวัดร่องขุ่นกันเลยทีเดียวค่ะ



วัดที่สองที่เราจะแวะกัน...วัดศรีพันต้น สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ. 1960 - 1969 ) ชื่อวัดตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี หมายถึง ต้นโพธิ์) ซึ่งในอดีตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนนแล้ว วัดศรีพันต้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2505ค่ะ



วัดเป็นสีทองอร่ามเลยนะคะวันฟ้าใสๆคงยิ่งงาม



ภายในวิหารได้มีการเขียนภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้าและประวัติการกำเนิดเมืองน่าน โดยช่างชาวน่าน เป็นภาพ เขียนลายเส้นลงสีธรรมชาติสวยงามและทรงคุณค่าอย่างยิ่ง



ประวัติศาสตร์เมืองน่าน



ข้าวของเครื่องใช้ดูมีคุณค่า



กราบพระกันก่อนค่ะ



ลวดลายประดับสวยงาม



ดูสวยงามอลังการณ์มากๆเลยนะคะ เสียดายที่ฟ้าขาวไปนิด



มีจิตรกรรมปูนปั้น "พญานาคเจ็ดเศียร" เฝ้าบันไดหน้าวิหาร



และเรือลำนี้ชื่อว่า "เรือ เลิศเกียรติศักดิ์ (พญาฆึ)" ประวัติของเรือเลิศเกียรติศักดิ์ เป็นเรือต่อทั้งลำ โดยการนำของ ท่านพระครูวิสุทนันทกิจ เจ้าอาวาสวัดศรีพันต้น ได้ซื้อไม้มาจากป่าสุสานบ้านศรีนาป่าน ตำบลเรือง ได้ต่อเรือเมื่อปี พ.ศ. 2546 สำหรับเรือ เลิศเกียรติศักดิ์ (พญาฆึ) เป็นเรือที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน (และเรือแข่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย) สามารถบรรจุฝีพายได้ 100 คน ในแต่ละปีของงานนัดปิดสนาม ชิงถ้วยพระราชทานฯ เรือ เลิศเกียรติศักดิ์ (พญาฆึ) จะอัญเชิญถ้วยพระราชทาน ทั้ง 3 ประเภท ถ้วยพระราชทานฯ ประเภทเรือเล็ก, ถ้วยพระราชทานฯ ประเภทเรือกลาง, ถ้วยพระราชทานฯ ประเภทเรือใหญ่ และถ้วยพระราชทานฯ ประเภทกองเชียร์ค่ะโรงเก็บเรือนี้อยู่ภายในบริเวณวัดศรีพันต้นนี่เองค่ะ



วัดสวนตาล เป็นวัดถัดมาของเราค่ะแต่ละวัดเราเคลื่อนตัวกันแบบสบายๆไม่เร่งรีบนะคะ



วัดนี้สร้างขึ้นโดยพระนางปทุมมาวดีชายาของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่านเมื่อราว พ.ศ.1955 เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองน่านด้านพิศเหนือ ในบริเวณที่เป็นสวนตาลหลวง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด ตัวเจดีย์หลังวิหารนั้น เดิมเป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย ต่อมาพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ผู้ครองนครน่านโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2547 ได้แก้ไขรูปทรงเป็นเจดีย์ยอดปรางค์ ดังปัจจุบัน


ภายในวัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าทรงทิพย์ พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยองค์ใหญ่หน้าตักกว้าง10ฟุตสูง 14ฟุต4 นิ้วพระเจ้าติโลกราช แห่งนครเชียงใหม่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ.1993 เพื่อแสดงถึงชัยชนะ ที่พระองค์สามารถยึดเมืองน่าน ไว้ในพระราชอำนาจทุกปีใหม่ช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ ชาวน่าน จัดงานนมัสการ และสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ฯ ประทานน้ำสรงเป็นประจำทุกปี ชาวน่านเคารพนับถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองชาวน่านนะคะ



ที่วัดนี้มีมัคคุเทศ์กน้อยมาคอยต้อนรับด้วยค่ะ



พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๑๐ ฟุต สูง ๑๔ ฟุต ๔ นิ้ว สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเจ้า ผู้ครองนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นใหญ่แคว้นล้านนาไทยสมัยนั้น



น้องมัคคุเทศก์น้อยเล่าว่า



เมื่อจุลศักราช ๘๑๒ ตรงกับพุทธศักราช ๑๙๙๓ พระเจ้าติโลกราช เจ้านครเชียงใหม่ มีกำลังเข้ม แข็งได้กรีฑาทัพไปตีหัว เมืองต่างๆ ในแคว้นล้านนาไทย คือ เมืองลอ เมืองเทิง เมืองปง เมืองควร ไปทางตีนดอยลาวได้หัวเมือง เหล่านั้นไว้ในอำนาจ หมดแล้ว เลยยกเข้าไปตีเมืองน่าน พระองค์ได้ ตั้งทัพอยู่ที่สวนตาลหลวงตั้งทัพล้อมอยู่ได้ ๗ วัน โดยเร่งไพร่พลยิงปืนใหญ่ เข้าไปในเมือง



พอตกกลางคืนก็ยกพลเข้าตี หวังจะเอาเมืองให้ได้ ฝ่ายพญาอินต๊ะแก่น ท้าว ซึ่งเป็นเจ้านครน่านใน เวลานั้นเห็นกองทัพ เชียงใหม่มีไพร่พลมาก มายนัก ประกอบกับได้ยินกิตติศัพท์เล่าลือถึงความเก่ง กล้าสามารถของ พระเจ้าติโลกราชที่สามารถ ปราบหัวเมืองใกล้เคียงได้เกือบหมด เห็นชัด แจ้งว่าไม่ อาจจะรักษาเมืองไว้ได้จึงได้อพยพครอบครัวหนี พระเจ้าติโลก ราช จึงยกทัพไพร่พลเข้าเมืองได้ อย่างง่ายดาย ไม่ต้องสู้รบให้เสียเลือด เสียเนื้อเลย



เมื่อพระเจ้าติโลกราชยึดเมืองได้แล้ว จึงได้ปรึกษาเหล่านายทัพนายกอง และเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ว่า การที่กองทัพของ พระองค์เข้ายึดเมืองไว้ ได้ในครั้งนี้ มิได้สู้รบให้เสียเลือดเสียเนื้อกำลังไพร่พล เลย เหมือนกับว่ามี เทพเจ้าเข้ามาช่วยเหลือ จึงเห็นควรให้สร้างอะไรไว้อย่างหนึ่งเพื่อเป็นอนุสรณ์ สักขีพยานในชัยชนะ ของพระองค์

ครั้ง นั้นขุนนางเสนอว่าควรจะสร้างถาวรวัตถุเพื่อประชาชนรุ่นหลังจะรำลึก ถึง เช่น สร้างพระพุทธรูป หล่อด้วยทอง เป็นต้น ในที่สุดพระเจ้าติโลกราชก็ ตัดสินพระทัยที่จะสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทอง



พระเจ้าทองทิพย์ ซึ่งพระเจ้าติโลกราชแห่งนครเชียงใหม่ โปรดเกล้าฯ ให้ สร้างขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๘๗ ลักษณะเป็นพระพุทธรูป ทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ ปางมารวิชัย ประดิษฐานในวิหารสวนตาล หน้าตักกว้าง ๑๐ ฟุต สูง ๑๔ ฟุต ๔ นิ้ว (๔.๑๑ เมตร)



ในการสร้างพระพุทธรูปหล่อด้วยทองนี้ พระองค์ได้โปรดให้ช่างทั้งหลาย อาทิ พม่า เงี้ยว และชาวเมืองเชียงแสน กระทำพิธี หล่อหลอมทอง และพิธีหล่อองค์พระพุทธรูป ด้วย ช่างได้ กระทำการหล่อทองเทเข้าเบ้าพิมพ์หลายครั้งหลายหน ก็ไม่สำเร็จเพราะ เบ้าพิมพ์แตกเสียทุกครั้ง

ในที่สุดก็มีชายชราแปลกหน้านุ่งขาวห่มขาวมาช่วยทำ จึงสำเร็จเรียบร้อยสมปรารถนา



เมื่อสร้างพระพุทธรูปเสร็จแล้ว พระเจ้าติโลกราชก็ทรงจัดให้มีการสวดปริตถมงคล และจัดให้มีงาน มหกรรมเฉลิมฉลองทำบุญ เป็นการใหญ่มโหฬารยิ่ง



ส่วนชายชรานั้นก็หายสาบสูญไป ไม่มีผู้ใดพบเห็นอีกเลย ประชาชนชาวเมืองต่างโจษขานกันว่าเป็น เทพยดาแปลงกายลงมา ช่วย จึงได้ขนานพระพุทธรูปองค์นี้ว่า พระพุทธรูปทองทิพย์ หรือ พระเจ้า ทองทิพย์ ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันค่ะ



กราบพระค่ะ



ตีกลองเอาฤกษ์เอาชัยกันนะคะ



สะ-วัส-ดี-เจ้าขอบคุณความรู้จากบรรดามัคคุเทศก์น้อยนะคะพูดจาฉะฉานเก่งมากๆเลยค่ะ



จุดหมายต่อไปเป็นวัดพระเกิด อารามที่มีอายุประมาณ 186 ปี ตั้งอยู่เลขที่ 21 บ้านพระเกิด ถนนราษฎร์อำนวย ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่านค่ะที่นี่มีถวายตุงสะเดาะเคราะห์



เรามีโอกาสแวะไปดูการทำตุงของชุมชนแห่งนี้กันค่ะ ชุมชนบ้านพระเกิด มีกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากการร่วมแรงใจของคนภายในชุมชน ที่มาทำร่วมกันในวัดพระเกิด เกิดเป็นผลิตภัณฑ์อันสะท้อนคุณค่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิต โดยสามารถนำไปใช้ได้ ทั้งเป็นของฝาก ของที่ระลึก หรือใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กิจกรรมการทำโคมไห โคมมะเต้า ตุงซาววา ตุงสิบสองราศี ตุงไส้หมู ตุงเจดีย์ทราย ตุงค่าคิง รวมถึงกิจกรรมการจักสาน อย่างการสานเป็นภาชนะ ที่ทำจากก้านมะพร้าว เป็นต้นนะคะ



“ตุงค่าคิง" เป็นคำไทยใหญ่ “ค่า" แปลว่าเท่า “คิง “ แปลว่าคน/ตัว“ตุงค่าคิง “ จึงแปลว่าตุงเท่าตัวคือตุงที่มีความยาวเท่ากับความสูงของเจ้าของตุง ใช้เพื่อประกอบพิธีกรรมการสืบชะตาการเรียกขวัญ สะเดาะเคราะห์ ให้ดำลังใจ เป็นการต่ออายุให้ยืนยาวออกไปอีกและเพื่อความเป็นสิริมงคล ต่อชีวิต ปราศจากโรคภัยใดๆทั้งปวง



ล้วนแต่เป็นฝีมือของสาวน้อยหนุ่มน้อยในชุมชน ที่มารวมตัวกันใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ค่ะ



การนั่งฉลุแบบเหล่านี้ต้องอาศัยความชำนาญและสายตาค่ะ



ในบริเวณวัดมี “พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด" ศิลปวัตถุข้าวของต่างๆที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นของวัดมาจากของสะสมของครูบาอินผ่อง อีกส่วนหนึ่งเป็นของทีชาวชุมชนช่วยกันบริจาคมา โดยแบ่งพื้นที่จัดแสดงหลักๆเป็น ส่วนจัดแสดงรวม ส่วนห้องพระพุทธศาสนา และส่วนห้องวิถีชีวิตภูมิปัญญาพื้นบ้าน น่าชมมากค่ะ



ตุงค่าคิงได้มาปลิวไสวอยู่ที่บ้านแล้วค่ะ



ใกล้ๆกับวัดพระเกิดมี“โฮงเจ้าฟองคำ" คุ้มเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ หนึ่งในเรือนเก่าแก่สวยงามของเมืองน่านที่เปิดจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้สนใจได้เข้าชมฟรี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ที่สามารถเดินไป-มา จากวัดพระเกิดได้นะคะ



คำว่า “ โฮง “ เป็นคำพื้นเมืองล้านนา หมายถึง คุ้ม หรือที่อยู่อาศัยของเจ้านายล้านนาไทย เดิมเป็นบ้านพักของเจ้าศรีตุมมา หลานเจ้ามหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๑๑ ของราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ อยู่ติดกับคุมแก้ว ที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครน่านในเวียงเหนือ



เมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ ๑๒ ย้ายเมืองน่านลงไปทางทิศใต้ อีกประมาณ ๒ ก.ม. อันเป็นที่ตั้งของเมืองน่านในปัจจุบัน คุ้มแก้วถูกทิ้งร้างไว้ เมื่อรัฐบาลไทยต้องการที่ของบริเวณคุ้มแก้วและที่ใกล้เคียง เพื่อสร้างค่ายทหาร (ค่ายทหารเดิม) เจ้าบุญยืน ธิดาคนสุดท้องของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามะโน (หลานของเจ้าอนันตวรฤทธิเดช) ได้ย้ายตัวโฮง ลงมาสร้างในที่ปัจจุบัน และได้ตกทอดสืบต่อกันมายังเจ้าฟองคำ ธิดาของเจ้าบุญยืนกับเจ้าอินต๊ะ



ตัวโฮงนี้ เมื่อย้ายมาจากคุ้มแก้ว หลังคามุงด้วยแป้นเกล็ด (หรือไม้เกล็ด) ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ได้มีการรื้อและสร้างขึ้นใหม่ โดยใช้กระเบื้องดินขอแทนแป้นเกล็ด และใช้วัสดุเดิมเป็นส่วนใหญ่ แต่เดิมนั้น ไม้ที่ถูกนำมาเป็นวัสดุสร้างตัวบ้านนั้นเป็นไม้สักที่ทำการผ่าและซ้อมถากด้วยขวานและมีด เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีเลื่อยขนาดใหญ่ ดังนั้น การประกอบตัวเรือนจึงไม่ได้ใช้ตะปู แต่จะใช้วิธีเจาะไม้และเข้าไม้ โดยใช้สลักไม้ ซึ่งจะสามารถมองเห็นร่องรอยที่มีเหลืออยู่ในส่วนต่าง ๆ ของตัวบ้าน

รูปนี้เป็นคุณป้าผู้เป็นเจ้าของ “โฮงเจ้าฟองคำ “ปัจจุบันค่ะ

ที่นี่ร่มรื่นมากๆไม่ได้เก็บค่าเข้าชมนะคะเชิญบำรุงตามศรัทธาค่ะ



ใต้ถุนเรือน จัดไว้สำหรับการแสดงการทอผ้าพื้นเมือง พร้อมทั้งจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวด้วยค่ะ


แสดงตั้งแต่การเอาเมล็ดฝ้ายออก

การดีดฝ้ายให้ฟู



การม้วน



การทำฝ้ายให้เป็นเส้นยาวๆ ก่อนนำไปทอผ้า



ได้ความรู้และทึ่งในภูมิปัญญาจริงๆค่ะ ขอบคุณโฮงเจ้าฟองคำนะคะที่อนุรักษ์สิ่งดีดีไว้



หมดเวลารถรางของเราแล้ว เราเที่ยวกันเองต่อเลยค่ะ



ขอบคุณน้องมัคคุเทศก์คนสวยด้วยนะคะ



เริ่มจากวัดภูมินทร์อยู่ฝั่งตรงข้ามกับที่จอดรถรางนี่เอง



ที่นี่เป็นที่ทุกคนต้องมาค่ะวัดภูมินทร์เดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" เป็นวัดที่แปลก กว่าวัดอื่น ๆ คือ โบสถ์และวิหารสร้างเป็นอาคารหลังเดียวกันประตูไม้ทั้งสี่ทิศแกะสลักลวดลาย โดยช่างฝีมือล้านนาสวยงามมาก



ตามพงศาวดารของเมืองน่าน วัดภูมินทร์สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครอง เมืองน่านได้สร้างขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี มีปรากฏในคัมภีร์เมือง เหนือว่าเดิมชื่อ "วัดพรหมมินทร์" ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าเจตบุตรพรหม มินทร์ผู้สร้างวัด แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์



เป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข พระประธานจตุรพักตร์นาคสะดุ้งขนาดใหญ่แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัวนาค พระอุโบสถจตุรมุขนี้กรมศิลปกรได้สันนิษฐานว่า เป็นพระอุโบสถจตุรมุขหลังแรกของประเทศไทยพระอุโบสถ ตรงใจกลาง ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออก ด้านประตูทั้งสี่ทิศ หันเบื้องพระปฤษฏางค์ ชนกันประทับนั่งบนฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ผู้ที่ไปชมความงามของพระอุโบสถนี้ ไม่ว่าจะ เดินขึ้นบันไดทิศไหนก็จะพบพระพักตร์ของพระพุทธรูปทุกด้าน



ไม่มาวัดนี้เหมือนมาไม่ถึงน่านค่ะ



กราบพระกันก่อนค่ะ



ปู่ม่านย่าม่าน หรือ หนุ่มกระซิบเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน อันเป็นผลงานของหนานบัวผัน จิตรกรพื้นถิ่นเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ปราณีตและเป็นภาพที่โดดเด่นประจำวัดภูมินทร์ โดยเป็นภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังกระซิบสนทนา และมีชื่อเสียงว่าเป็นภาพ "กระซิบรักบันลือโลก"และกลายเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองน่านไปค่ะ



ปู่ม่าน ย่าม่าน หมายถึงว่า เขาเรียกผู้ชายพม่า ผู้หญิงพม่าคู่นี้ เป็นนัยยะ เป็นสามีภรรยา แล้วการเกาะไหล่กันเป็นธรรมชาติของผู้ชายผู้หญิงที่เป็นสามีภรรยา ถ้าเป็นหนุ่มสาว ถูกเนื้อต้องตัวไม่ได้ และรูปลักษณะการแต่งกายชี้ชัดไปอีกสอดคล้องกับคำว่า ปู่ม่าน ย่าม่าน ม่านคือพม่า ปู่นี่คือผู้ชาย พ้นวัยเด็กผู้ชายเรียกปู่ พ้นวัยเด็กผู้หญิงเรียกย่า ซึ่งที่จริงออกเสียง "ง่า" ไม่ใช่ปู่ย่าตายาย โดย หนานบัวผัน เป็นศิลปินผู้เขียนจิตรกรรมประวัติศาสตร์ทั้งที่วัดหนองบัว และวัดภูมินทร์



“คำฮักน้อง กูปี้จักเอาไว้ในน้ำก็กลัวหนาว


จักเอาไว้พื้นอากาศกลางหาว ก็กลัวหมอกเหมยซอนดาวลงมาคะลุม

จักเอาไปใส่ในวังข่วงคุ้ม ก็กลัวเจ้าปะใส่แล้วลู่เอาไป

ก็เลยเอาไว้ในอกในใจตัวชายปี้นี้ จักหื้อมันไห้อะฮิอะฮี้

ยามปี้นอนสะดุ้งตื่นเววา…"

คำแปล:

“ความรักของน้องนั้น พี่จะเอาฝากไว้ในน้ำก็กลัวเหน็บหนาว

จะฝากไว้กลางท้องฟ้าอากาศกลางหาว ก็กลัวเมฆหมอกมาปกคลุมรักของพี่ไปเสีย

หากเอาไว้ในวังในคุ้ม เจ้าเมืองมาเจอก็จะเอาความรักของพี่ไป

เลยขอฝากเอาไว้ในอกในใจของพี่ จะให้มันร้องไห้รำพี้รำพันถึงน้อง

ไม่ว่ายามพี่นอนหลับหรือสะดุ้งตื่น"



น้องมัคคุเทศก์บนรถพูดเป็นภาษาเมืองให้ฟังน่ารักมากๆค่ะ



ทุกภาพมีเรื่องราว



ภาพเขียนโบราณ นับวันจะค่อยๆเลือนหาย ถ้าเราไม่ดูแลรักษา



วิถีชิวิตของคนโบราณ



สาวโสดสมัยก่อนที่ยังไม่แต่งงานจะเปิดอกแบบนี้ค่ะ



ศิลปินชาวน่านที่ทำงานขายอยู่ภายในบริเวณวัดภูมินทร์



วัดภูมินทร์วันที่ไปฟ้าไม่ค่อยเป็นใจเท่าไรได้แต่หวังว่าคงจะมีโอกาสกลับไปที่นี่อีกค่ะ



ใกล้ๆวัดภูมินทร์เป็นพิพิธภัณฑ์สถานของจังหวัดน่านเราจะเห็นแนวต้นลีลาวดีที่สวยงามเป็นอุโมงต้นไม้เลย



ณ.สถานที่นี้มีวัดเล็กๆซ่อนตัวอยู่ค่ะ



วัดน้อยตั้งอยู่ใต้ร่มโพธิ์ ในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ถือได้ว่าเป็นวัดที่เล็กที่สุดในเมืองไทย อ่านประวัติความเป็นมาแล้วท่านเจ้าเมืองน่าน ก็ตั้งใจสร้างขึ้นมาให้เป็นวัดจริงๆ จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาเชื่อว่าพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 กราบบังคมทูล ถึงจำนวนวัดในเมืองน่านต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 แต่ปรากฏว่านับจำนวนวัดเกินไป หนึ่งวัด จึงได้สร้างวัดน้อยแห่งนี้ขึ้นมา ให้ครบตามจำนวนที่กราบบังคมทูลไป พระองค์เข้าเฝ้ารัชการที่5 เพียงครั้งเดียว ใน พ.ศ.2416วัดน้อยจึงสันนิษฐานได้ว่าคงสร้างหลังจากนั้นค่ะ



ห้ามพลาดเลยนะคะ...



และวัดสุดท้ายของวันนี้คือวัดพระธาตุเขาน้อย



องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน สร้างในสมัยเจ้าปู่แข็ง เมื่อปี พ.ศ. 2030 องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่อ อิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัม พุทธเจ้าได้ รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ ในสมัยพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดชฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2449-2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารสร้างในสมัยนี้เช่นกันวัดพระธาตุเขาน้อย เป็นปูชนียสถานที่สำคัญ และเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของ จ.น่าน สันนิษฐานว่ามีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง ตั้งอยู่บนดอยเบาน้อย สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ 240 ม. หน้าวัดมีทางขึ้นเป็นบันไดนาค303 ขั้นแต่ทางรถก็ขึ้นมาถึงนะคะเรามารถโลดค่า



กราบพระเพื่อสิริมงคลกันค่ะวันนี้กราบมากี่วัดแล้วน้าาาาาา



เป็นวัดที่สวยและสงบอีกวัดหนึ่งเลยค่ะที่น่านวัดเยอะมาก เฉพาะในอำเภอเมืองก็ 102 วัดแล้ว



ที่วัดนี้สวยทั้งตอนพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก



เราเลือกกันมาตอนพระอาทิตย์ตกค่ะสวยงามจริงๆ



นักท่องเที่ยวทะยอยขึ้นมาจับจองที่ชมความงามกันเรื่อยๆค่ะ



เราเองก็นั่งดูการค่อยๆเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ



…สวยงามทุกนาทีค่ะ



จากวัดพระธาตุเขาน้อย สามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน ปัจจุบันบริเวณลานชมทิวทัศน์ ประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ฯ ทรงเจริญ พระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542ที่ผ่านมานี้นะคะ


จุดนี้จึงกลายเป็นมุมมหาชนที่คนที่มาน่านต้องมีรูปนี้นะคะ

บรรยากาศสวยงาม



ขอบคุณโอกาสดีดีที่ทำให้ได้มากราบพระในที่ที่สวยงามแบบนี้ค่ะ



ที่พักในตัวเมืองน่านมีมากมายให้เลือกนะคะมีบูติกรีสอร์ทที่สร้างขึ้นโดยผู้ประกอบการชาวน่านเองหลายที่คืนนี้เราพักกันที่ ภูหรรษาบูติกโฮเทล Phuhunsa Boutique Hotel ค่ะ



ที่นี่เป็นโรงแรมเล็กๆ สไตล์โคโลเนียล



มี 3 ชั้นในราคาช่วงโลว์ 1400-2000 บาทค่ะ



ไม่ได้เอาชุดว่ายน้ำติดไปร้อนๆแบบนี้โดดน้ำได้เลย



ที่พักใหม่และสะอาดมากค่ะ



เพิ่งเปิดได้ไม่นาน



ห้องแบบนี้อยู่ชั้นล่างค่ะเดินออกสระน้ำได้เลย



ราคาจะสูงกว่าห้องบนนิดหน่อยค่ะ


อาหารเช้าที่นี่



และเนื่องจากมีแปลงผักเองด้วยสลัดที่นี่จะอร่อยเป็นพิเศษนะคะ


กิจกรรมที่แนะนำยามเช้าคือขี่จักรยานไปใส่บาตรที่ตลาดค่ะ ที่ภูหรรษามีจักรยานให้ยืมด้วยนะคะ ได้ของทานมาเยอะเลย



เวลาเดินช้าๆที่เมืองน่าน



ถ้ามีโอกาสจะแวะกลับไปนะคะ



เดี๋ยวมาต่อค่ากิจกรรมวันนี้เราก็ยังมีเต็มเปี่ยมดูเหมือนว่า 2 วัน 1 คืนจะไม่พอสำหรับเราซะแล้ว



เราจะไปไร่ชากันค่ะวันนี้ที่ ชุมชนศรีนาป่านอำเภอเมือง น่าน ค่ะ



เราจะวาดภาพว่ามาเที่ยวไร่ชาแบบไร่ฉุยฟง เชียงรายที่มีไร่ชาเป็นแนวขึ้นบันได...แต่ไม่ใช่เช่นนั้นค่ะที่นี่เกินความคาดหมายค่ะ



สมเด็จพระเทพฯทรงเสด็จมาที่นี่เมื่อตอนกุมภาที่ผ่านมาด้วยค่ะแต่ไม่ได้ทรงพระราชดำเนินเข้ามาแบบเราเนื่องจากช่วงนั้นทรงพระประชวร



ที่นี่เป็นแหล่งปลูกเมี่ยง หรือชา สายพันธ์เดียวกับ “ชาอัสสัม"แหล่งใหญ่ของประเทศชุมชนนี้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อพยพมาจากแคว้น 12 ปันนากว่า 400 ปี ชาวบ้านผูกพันกับการปลูกเมี่ยงและมีเมี่ยงอมเป็นของกินเล่นหลังอาหาร



...แต่ปัจจุบันคนไม่ค่อยนิยมอมเมี่ยงกันแล้วหมู่บ้านทำเมี่ยงแห่งนี้เลยปรับเปลี่ยนนำยอดชามาผลิตเป็นชารสนุ่มมีทั้งชาเขียวและชาดำเราจะสำรวจเส้นทางศึกษษธรรมชาติกันค่ะ



ต้นเมี่ยงหรือต้นชาที่นี่จะอยู่ในป่าอาศัยหลบเงาแดดใต้ต้นไม้ใหญ่ตามเชิงเขา



เจ้าของไร่จะรู้ขอบเขตของตนเองโดยไม่ต้องมีอะไรกั้นบอกเขตแดนค่ะ



ทุกคนจะรักและรู้จักคุณค่าของป่าที่นี่ไม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลง



ต้นชาต้นนี้มีอายุประมาณ 400 ปีค่ะได้รับการตรวจสอบมาแล้ว



ดอกชาค่ะเพิ่งเคยเห็นครั้งแรกเลย


ต้นไฮ.. ต้นไม้ที่อาศัยต้นไม้ใหญ่หากินเมื่อต้นไฮดตใหญ่ก็จะรัดต้นไม้ที่เกาะอาศัยให้ตาย เพื่อที่ตัวเองอยู่รอดอกกลูกออกผลให้กับสัตว์อื่นเก็บกินต่อไป



ใหญ่มากอายุประมาณ 500 ปีค่ะ



วิถีธรรมชาติ



ก่อนกลับต้องไม่พลาดที่จะชิมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นชาทีพนา ( Tea Phanaa)



จุดเด่นคือเป็นชาออแกนิค 100 %มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาทั่วไป



มีวางขายที่ร้านภูฟ้าค่ะ



และมีใบชาชุบแป้งทอด


กับยำใบชาให้ชิมกันด้วยค่ะ



หรือจะอุดหนุนผลิตภัณฑ์หมอนใบชาก็ได้นะคะขอบคุณชุมชนศรีนาป่านมากค่ะที่ให้เราได้ไปสัมผัสวิถีดีดีของชุมชน



ขอบคุณนางแบบค่า



และวัดสุดท้ายสำหรับทริปนี้ วัดพระธาตุแช่แห้ง ค่ะ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวน่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองไปราว ๒ กม. เส้นทางสายน่าน-แม่จริม สันนิษฐานว่ามีอายุราว ๖๐๐ ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๑ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย องค์พระธาตุมีความสูง ๕๕.๕ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๒๒.๕ เมตร บุด้วยทองเหลืองหมดทั้งองค์ เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา



ตามพงศาวดาเมืองน่านกล่าวว่า พญาการเมือง โปรดเกล้าให้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากเมืองสุโขทัย ระหว่างปี พ.ศ.1891-1901 สถาปัตยกรรมด้านโบสถ์ของวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่สำคัญและแสดงให้เห็นถึงแบบอย่างสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสกุลช่างน่าน



มีพระธาตุเจดีย์ชเวดากอง จำลองสำหรับคนเกิดปีม้าไว้ไหว้ค่ะ



พิธีสืบชะตา



การบูชาด้ายสีสายเป็นพิธีที่สืบทอดต่อกันมายาวนานและนิยมทำกันในพิธีสืบชะตาและพิธีที่สำคัญต่างๆเพื่อสงเคราะห์ให้พ้นจากเภทภัยต่างๆค่ะ



วิหารพระนอน อยู่ทางด้านหน้านอกกำแพงแก้วขององค์พระธาตุ วิหารก่อสร้างตามแนวยางขององค์พระ มีประตูทางเข้าด้านหลังคือ ทิศใต้



คล้ายๆกับที่วัดโพธิเลยค่ะและบริเวณที่อยากมาตอนเค้ามีกาดคือจุดนี้ค่ะกำแพงเมืองเก่าถ้ามีกาดแบบโบราณน่าจะสวยงามมากนะคะ



ติดไว้ก่อนๆร้านก๋วยเตี๋ยวไร้เทียมทาน น่าน เป็นอีกร้านที่อยากแวะนะคะ



อยู่หน้าโรงเรียนศรีเสริมจ.น่านหาง่ายค่ะเปิด 10.00-21.00 ทุกวันค่ะ



ก๋วยเตี๋ยวต้มยำกระดูกหมูมาแบบชิ้นใหญ่ๆ



ชามละ 50 บาทค่ะ



อิ่มแล้วไปจุดสุดท้ายที่ถ้าไม่ไปถือว่าทริปนี้ไม่สมบูรณ์ค่ะคือที่นี่ ... หอศิลป์ริมน่าน



เป็นหอแสดงงานศิลปะของศิลปินชาวน่าน วินัย ปราบริปู ขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 13 ไร่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน ทางเข้าติด ริมถนนทางหลวง (กม.20)ห่างจากตัวอำเภอเมืองน่านไปประมาณ 20 กิโลเมตร



เป็นแหล่งรวมศิลปะและ วัฒนธรรมของจังหวัดน่าน ที่นี่เป็นความตั้งใจของอจ.วินัยที่ต้องการสร้าง หอศิลป์ขึ้นในสภาพภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้คนที่มาเสพศิลปะนั้นได้ความรู้สึกสบายใจและพักผ่อน ไปด้วยค่ะ



ภายในจะแสดงภาพของอจ.วินัยเองและอาจมีนิทรรศการภาพทั้งจากศิลปินชื่อดัง และศิลปิน ภูมิภาคที่จะหมุนเวียนมาจัดแสดงให้ท่านได้มาซึมซับงานศิลปะไปในบรรยากาศแบบสบายๆ



ฝีมือศิลปินเด็ก



รูปปูฝรั่งย่าฝรั่งล้อภาพปู่ม่านย่าม่าน ค่ะ



ภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพฯ..



บรรยากาศที่นี่ร่มรื่นค่ะ มีคนมาถ่ายพรีเวดดิ้งด้วยนะคะ



ร้านสุดกองดี ร้านกาแฟสุดฮิตริมแม่น้ำน่าน เป็นร้านกาแฟที่บรรยากาศชิลล์ที่สุด



ขอบคุณอจ.วินัย ปราบริปู ที่มีพื้นที่ดีดีแบบนี้ในจังหวัดดีดี ...น่าน



2 วัน 1 คืนที่เราได้ใช้เวลากันเต็มๆที่น่าน สร้างความประทับใจให้กับเราผู้ที่มีโอกาสเดินทางไปน่านเป็นครั้งแรก เชื่อว่าหลายๆท่านก็คงเป็นเหมือนกันเราที่ได้ยินชื่อจังหวัดเล็กๆน่ารักแห่งนี้มานานแต่ยังลังเลกับการเดินทางไปเพราะแต่ก่อนไม่สะดวกแบบนี้ขอบอกว่าตอนนี้ไปน่านง่ายและสะดวกมากค่ะไม่ต้องคิดอะไรกันมาก และค่าตั๋วเครื่องบินก็ไม่ได้โหดร้ายแว่วๆมาว่าในอนาคตอันใกล้นี้สายการบินบูติกก็จะมาลงที่นี่อีก 1 เจ้า แสดงว่าเมืองเล็กๆแห่งนี้ต้องไม่ใช่ธรรมดาแน่ๆค่ะ



เราไม่จำเป็นต้องรอหน้าหนาวรอหน้าไฮที่ผู้คนหลั่งไหลมาเที่ยวพร้อมๆกันหมดอย่าลืมว่าน่านเป็นเมืองเล็กๆมาพร้อมกันหมดแบบนั้นอาจจะไม่สนุกนักนะคะค่อยๆทะยอยกันมาเลือกมาในวันที่คนไม่เยอะแบบที่เราไปก็จะได้สัมผัสวิถีชีวิตจริงๆของชุมชนมากกว่าค่ะขอยืนยันเลยว่าที่นี่เป็น....เมืองต้องห้ามพลาด..



สำหรับ Tamkarnwela คงต้องหาเวลากลับไปซ่อมเพราะยังไม่ได้ไปบ่อเกลือ...ยังไม่ได้ไปดอยเสมอดาว...ยังไม่ไปอีกหลายแห่งและที่สำคัญยังไม่ได้ชิมขนมป้านิ่มเลยวันที่ไปเป็นวันพุธป้านิ่มหยุดจ้า



ขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยโครงการ Go North Thailandที่มีกิจกรรมดีดีแบบนี้



ขอบคุณตามกาลเวลาที่ไปมาด้วยกันทุกที่



ขอบคุณ Pantip.com ที่มีพื้นที่ดีดีแบบนี้ให้แบ่งปันประสบการณ์ค่ะ



และสุดท้าย



ขอบคุณทุกท่านที่คลิ้กเข้ามาอ่านรีวิวนี้ค่ะทุกคอมเมนท์ กิ๊ฟโหวตล้วนเป็นกำลังใจแก่ผู้รีวิวทั้งสิ้น



หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารีวิวนี้คงมีประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจไม่มากก็น้อยนะคะน่านเป็นเมืองเล็กๆที่ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ



รักคนอ่านรีวิวค่ะ



Tamkarnwela



Tamkarnwela

 วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลา 09.58 น.

ความคิดเห็น